ก้นจ้ำ
ก้นจ้ำ (Spanish Needles) เป็นพรรณไม้ที่มีอายุสั้นซึ่งอยู่ได้แค่ปีเดียวเท่านั้น ส่วนมากมักจะพบก้นจ้ำเป็นวัชพืชตามไร่และสวน ตามข้างถนนและที่แห้งแล้งทั่วไป สามารถพบได้มากหากลองสังเกตตามพงหญ้าต่าง ๆ หรือริมถนน ทั้งนี้คงไม่มีใครคาดคิดว่าวัชพืชที่ขึ้นริมทางทั่วไปจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้ด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของก้นจ้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bidens biternata (Lour.) Merr. & Scherff.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Spanish Needles”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ก้นจ้ำ” จีนกลางเรียกว่า “ชื่อเจินเฉ่า จิงผานอิ๋งจ่านเฉ่า” ชาวลัวะเรียกว่า “บ่ะดี่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
ลักษณะของก้นจ้ำ
ก้นจ้ำ เป็นไม้ล้มลุกที่เป็นต้นพื้นเมืองของทวีปอเมริกา มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อย 3 – 5 ใบ บางใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบคล้ายลิ่มหรือสอบเข้าหากัน ขอบใบหยักย่อยคล้ายฟันปลา แผ่นใบทั้งสองด้านเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น เป็นช่อเดียว ช่อแยกแขนงหรือช่อเชิงหลั่น แต่ละช่อจะมีใบประดับ 8 – 10 อัน ลักษณะเป็นรูปแถบปลายแหลม ดอกวงนอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีขาว ปลายกลีบเป็นจัก 2 – 3 จัก ดอกวงในเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นสีเหลือง โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นจักแหลม 4 – 5 จัก มักจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม
ผล : ผลมีลักษณะยาวแคบ มีสีน้ำตาลเข้ม ผลติดบนฐานดอกเป็นกระจุกหัวแหลม ท้ายแหลม มีสันและมีร่องตามยาว ผลมีรยางค์แข็ง 2 – 4 อัน ติดอยู่ที่ปลาย ผิวนอกผลจะมีขนสั้น ๆ เมื่อผลแก่แห้งจะไม่แตก
เมล็ด : เมล็ดมีสีดำขนาดเล็กออกเป็นเส้น ๆ
สรรพคุณของก้นจ้ำ
- สรรพคุณจากใบ
– แก้โรคตามัว ด้วยการนำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำใช้ล้างตา
– แก้คออักเสบและเจ็บคอ ด้วยการนำใบสดประมาณ 30 – 50 กรัม มาตำแล้วคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อยเพื่อดื่ม
– รักษาแผลสด แผลน้ำร้อนลวกหรือแผลไฟไหม้ ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วพอก
– แก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำใบสดมาคั้นหรือต้มแล้วนำน้ำมาล้างผิวหนัง
– รักษาแผลงูกัดหรือแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำใบสดประมาณ 50 – 100 กรัม มาตำแล้วเอาน้ำล้างหรือใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล - สรรพคุณจากทั้งต้น
– แก้หวัดคัดจมูก ด้วยการนำทั้งต้นมาผสมกับสมุนไพรอื่นแล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่มแก้อาการ
– แก้หวัดตัวร้อน ด้วยการนำทั้งต้นแห้งประมาณ 10 – 15 กรัม มาต้มรับประทาน
– แก้ไอมีน้ำมูกข้น ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
– แก้ลำไส้อักเสบ ปวดท้องน้อย ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 30 – 50 กรัม มาต้มแล้วดื่ม
– มีฤทธิ์ยับยั้งโรคที่ติดเชื้อในลำไส้ ด้วยการสกัดจากน้ำต้มของก้นจ้ำหรือสกัดจากแอลกอฮอล์
– ยับยั้งเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียและเชื้อ Btaphylococcus ของลำไส้ใหญ่ ด้วยการนำต้นสดทั้งต้นมาคั้นเอาน้ำแล้วดื่ม
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้นจ้ำ
มีสาร Anthraquinone Glycoside และ Phytosterin – B
ประโยชน์ของก้นจ้ำ
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวลัวะจะใช้ยอดอ่อนนำมารับประทานกับน้ำพริก
ก้นจ้ำ เป็นวัชพืชที่มีประโยชน์ในการรักษามากกว่าที่คิด และยังเป็นพืชที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะหาได้จากริมข้างทาง ก้นจ้ำเป็นส่วนหนึ่งในยาพื้นบ้านของชาวล้านนา สรรพคุณส่วนมากจะอยู่ที่ใบและการนำทั้งต้นมาใช้รักษา ก้นจ้ำเป็นพืชของชาวพื้นบ้านจึงใช้รักษาอาการพื้นฐานเป็นส่วนมาก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาแผล แก้ไข้และแก้ไอ แก้โรคตามัว แก้เจ็บคอและแก้ลำไส้อักเสบ หากใครพบก้นจ้ำโดยบังเอิญก็อย่าลืมลองนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรแก้อาการได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ก้นจ้ำ”. หน้า 2-3.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ก้นจ้ำ”. หน้า 46.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ก้นจ้ำ”. หน้า 18.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กรดน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [10 ก.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ก้นจ้ำ, หญ้าก้นจ้ำ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [10 ก.ค. 2015].