อวดเชือก
อวดเชือก (Combretum latifolium Blume) หรือเครืออวดเชือก เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดในทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีและเร็วในดินที่ร่วนซุย มีความชื้นปานกลางและชอบแสงแดดค่อนข้างจัด ดังนั้นในประเทศไทยจึงสามารถพบได้ทั่วทุกภาค เป็นต้นที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักนัก แต่ชาวลัวะนิยมนำใบอ่อนซึ่งมีรสฝาดมารับประทานด้วยการหมกกับไฟใช้กินแทนเมี่ยงได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้หลากหลายส่วนอีกด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของอวดเชือก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Combretum latifolium Blume.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มันแดง แหนเครือ” ภาคอีสานและจังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “ขมิ้นเครือ” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ถั่วแป๋เถา” จังหวัดหนองคายเรียกว่า “แกดำ” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “แหนเหลือง” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ผ่อนออึ ซิคริ๊บ่อ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “เครืออวดเชือก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์สมอ (COMBRETACEAE)
ชื่อพ้อง : Combretum extensum Roxb. ex G.Don.
ลักษณะของอวดเชือก
อวดเชือก เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนชื้นอย่างทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคตามที่เปิดใกล้ริมลำธาร
ลำต้น : ชอบเลื้อยพันต้นไม้อื่น กิ่งอ่อนเกลี้ยงและมีสีแดงอ่อน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปมนวงรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ขอบใบเรียบไม่มีจัก พื้นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบหนาและเหนียว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกโดยจะออกบริเวณปลายยอดหรือตามง่ามใบ ดอกเป็นสีขาวแกมเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีกลีบดอก 4 กลีบ ลักษณะค่อนข้างกลมเกลี้ยง กลางดอกมีเกสร 8 อัน
ผล : ลักษณะของผลค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่แกมวงรี เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 เมล็ด รอบผลมีกลีบ 4 กลีบ หรือเรียกว่าปีก มีสีน้ำตาลอ่อน
สรรพคุณของอวดเชือก
- สรรพคุณจากผล ช่วยเจริญอาหารหรือเป็นยาบำรุง
- สรรพคุณจากเนื้อไม้ เป็นยาบำรุงโลหิต เป็นยาบำรุง เป็นยาสมานลำไส้
– เป็นยาธาตุ ด้วยการนำเนื้อไม้มาบดละลายกับน้ำอุ่นเพื่อรับประทาน - สรรพคุณจากใบอ่อน
– แก้อาการร้อนใน ด้วยการนำใบอ่อนมาเคี้ยวกินเป็นยา - สรรพคุณจากราก เป็นยาขับประจำเดือนของสตรี
– แก้อาการร้อนใน ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– รักษากามโรค ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากเครือหรือทั้งต้น
– แก้อาการปวดท้องจากท้องเสีย ด้วยการนำเครือหรือทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
ประโยชน์ของอวดเชือก
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวลัวะนำใบอ่อนซึ่งมีรสฝาดมาหมกกับไฟใช้กินแทนเมี่ยง
2. ทำถ่าน เถาอวดเชือกนั้นมีความหนาและแข็งมากจึงสามารถนำไปเผาถ่านแล้วได้ถ่านเนื้อดี
อวดเชือก หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “เครืออวดเชือก” เป็นต้นที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทยแต่ส่วนมากมักจะเป็นชาวลัวะที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ ถือเป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ทำถ่านได้และยังเป็นยาสมุนไพรที่รักษาอาการบางอย่างได้อย่างเหลือเชื่อ อวดเชือกมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและเนื้อไม้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุง บำรุงเลือด รักษากามโรค แก้อาการร้อนในและขับประจำเดือนของสตรีได้ ถือเป็นต้นที่รักษาอาการพื้นฐานและยังเป็นยาดีต่อระบบขับถ่ายอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “อวดเชือก”. หน้า 836-837.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน. (มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล). “อวดเชือก”. หน้า 69.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “อวดเชือก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/