มะม่วงหัวแมงวัน ใช้รักษาอาการจากแมลงสัตว์กัดต่อย

มะม่วงหัวแมงวัน
มะม่วงหัวแมงวัน ใช้รักษาอาการจากแมลงสัตว์กัดต่อย ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ผลอ่อนจะเป็นสีเขียวปนม่วง หรือเขียวปนม่วงแดง ผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ มีรสชาติหวาน
มะม่วงหัวแมงวัน
ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ผลอ่อนจะเป็นสีเขียวปนม่วง หรือเขียวปนม่วงแดง ผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ มีรสชาติหวาน

มะม่วงหัวแมงวัน

มะม่วงหัวแมงวัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Buchanania cochinchinensis (Lour.) M.R.Almeida (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Buchanania lanzan Spreng., Buchanania latifolia Roxb.)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะม่วงแมงวัน (ลำปาง), หัวแมงวัน (สุโขทัย), มะม่วงหัวแมงวัน (นครราชสีมา, ราชบุรี), ฮักหมู ฮักผู้ (ภาคเหนือ), รักหมู (ภาคใต้), มะม่วงนก เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของมะม่วงแมงวัน

  • ต้น จัดเป็นไม้ยืนต้น ที่มีความสูง 8-20 เมตร ขนาดลำต้นวัดรอบได้ประมาณ 60-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ตามก้านและกิ่งอ่อนมีขนยาวสีน้ำตาลแดงปกคลุม เปลือกต้นมีรอยแตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ดยาว ๆ ไปตามลำต้น มีสีเทาแก่หรือสีดำ เปลือกภายในเป็นสีแดงเลือดหมู เมื่อถากเปลือกภายในนั้นจะมีน้ำยางที่มีสีน้ำตาลไหลซึมออกมา ถ้าถากทิ้งไว้ยางจะเป็นสีดำ ทำให้ผิวหนังพุพองได้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าชายหาด และป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-300 เมตร[1],[2]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบเป็นรูปไข่กลับแกมรูปไข่กลับ รูปรียาว หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนเป็นสอบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เนื้อใบหนาและเหนียวคล้ายหนังสัตว์ หลังใบนั้นเรียบ ส่วนท้องใบมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ก้านใบนั้นยาว[1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ก้านช่ออวลมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมหนาแน่น แยกแขนงสั้น ๆ เวลาดอกบานจะดูเหมือนเป็นก้อนทึบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ทั้งกลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 5 กลีบเท่ากัน กลีบเลี้ยงเป็นสีน้ำตาล มีขนปกคลุมอยู่ที่ใต้กลีบ ด้านนอกของกลีบเลี้ยงและรังไข่มีขนขึ้นอย่างหนาแน่น กลีบดอกเป็นสีขาว กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่ superior ovary 1 ห้อง 1 ออวุล และก้านดอกมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม[1],[2]
  • ผล ลักษณะเป็นรูปทรงค่อนข้างกลมหรือป้อม ผลตอนอ่อนจะเป็นสีเขียวปนม่วง หรือเขียวปนม่วงแดง เมื่อผลตอนแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลผิวนั้นเรียบ มีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2]

หมายเหตุ : ต้นมะม่วงหัวแมงวันยังมีอีกสปีชีส์หนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Buchanania lanzan Spreng. จะมีลักษณะของต้นและสรรพคุณทางยาที่คล้ายกัน สามารถที่จะนำมาใช้แทนกันได้

สรรพคุณของมะม่วงแมงวัน

1. ยางและราก เอามาบดเป็นยาแก้โรคท้องร่วง (ยางและราก)[1],[2],[3]
2. เมล็ดเอามาสกัดเอาน้ำมันไปทำพวกเคมีภัณฑ์ และทำเป็นยาแก้โรคผิวหนัง (เมล็ด)[1],[2],[3,[4]]
3. หลายส่วนของต้นชนิด Buchanania lanzan Spreng. นำมาใช้เป็นยารักษาไข้ กามโรค โรคผิวหนัง และรักษาอาการจากการโดนงูและแมลงป่องกัด อีกทั้งยังมีฤทธิ์ป้องกันแบคทีเรีย[3]
4. เปลือกต้น (Buchanania lanzan Spreng.) นำเอามาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการอักเสบจากพืชที่เป็นพิษได้ (ข้อมูลจาก : หนังสือไม้ป่ายืนต้นของไทย 1, หน้า 402 (เอื้อมพร วีสมหมาย, ปณิธาน แก้วดวงเทียม))

ประโยชน์ของต้นหัวแมงวัน

1. ผลมีรสชาติหวานรับประทานได้ แต่ถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในลำคอได้ เพราะมียางคล้ายในพวกมะม่วงทั่วไป[2],[3],[4]
2. ยางและรากทำสีย้อมผ้า และสีพิมพ์ผ้า[2],[3]
3. เนื้อไม้มีสีน้ำตาลปนเทา นำมาใช้ทำลังใส่สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน หรือใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ทำประตู หน้าต่าง เสา รั้ว เป็นต้น[2],[3],[4]
4. กิ่งก้านใช้ทำฟืน นำไปเผาทำถ่าน หรือทำกระสวย ใช้ในการทอผ้าก็ได้เช่นกัน[4]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “มะ ม่วง หัว แมง วัน”. หน้า 123.
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “มะม่วงหัวแมงวัน”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [02 พ.ย. 2014].
3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “มะม่วง หัวแมงวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [02 พ.ย. 2014].
4. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “มะม่วงหัวแมงวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [02 พ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://commons.wikimedia.org/
2.https://www.plantslive.in/product/