บอน
บอน เป็นพืชในกลุ่มเอเชียอาคเนย์ที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย มักจะขึ้นบนดินโคลนหรือริมน้ำ ส่วนของใบคล้ายรูปหัวใจขนาดใหญ่ ส่วนของดอกมีกลิ่นหอม หัวมีรสเมาคัน สามารถนำส่วนต่าง ๆ จากต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ นิยมนำส่วนของไหลและหัวมาใช้ประกอบอาหารอย่าง เช่น แกง เป็นต้น มีจุดเด่นอยู่ที่ส่วนของใบที่ไม่เปียกน้ำ และยังดูสวยงามจนนิยมนำมาปลูกประดับบ้านได้ บอนนั้นยังเป็นพืชทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับเกษตร
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของบอน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colocasia esculenta (L.) Schott
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Elephant ear” “Cocoyam” “Dasheen” “Eddoe” “Japanese taro” “Taro”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “บอนเขียว บอนจีนดำ” ภาคเหนือเรียกว่า “บอนหอม” ภาคอีสานเรียกว่า “บอนจืด” ภาคใต้เรียกว่า “บอนท่า บอนน้ำ” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ตุน” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “คึ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ขื่อที้พ้อ ขือท่อซู่ คึทีโบ คูชี้บ้อง คูไทย ทีพอ” ชาวมาเลย์นราธิวาสเรียกว่า “กลาดีไอย์” ชาวมาเลย์ยะลาเรียกว่า “กลาดีกุบุเฮง” คนทั่วไปเรียกว่า “เผือก บอน” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “บอนหวาน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บอน (ARACEAE)
ชื่อพ้อง : Colocasia esculenta var. aquatilis Hassk.
ลักษณะของบอน
บอน เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ มักจะพบตามที่ลุ่ม บนดินโคลน บริเวณริมน้ำลำธาร หรือบริเวณที่มีน้ำขังตื้น
เหง้า : มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกลุ่มเรียงรายตามพื้นที่ลุ่มริมน้ำ
ลำต้น : ลำต้นประกอบไปด้วยหัวกลางและหัวย่อยอยู่รอบหัวใหญ่
ใบ : เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนแผ่ออกรอบต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยม รูปหัวใจหรือรูปโล่ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าแหลม ก้านใบออกที่ตรงกลางแผ่นใบเป็นสีเขียวแกมม่วงหรือสีเขียวแกมเหลือง โคนใบแยกเป็นแฉกสองแฉก หน้าใบเป็นสีเขียว เรียบไม่เปียกน้ำเพราะผิวใบเคลือบไปด้วยไข (Wax) หลังใบเป็นสีเขียวอ่อน สีม่วงหรือสีขาวนวล แต่ละกอมีประมาณ 7 – 9 ใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ แท่งเดี่ยวออกจากลำต้นใต้ดิน มีกาบสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองนวลหุ้มอยู่ ดอกย่อยแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ฉ่ำน้ำ มีดอกเป็นกระเปาะสีเขียวเป็นแท่งอยู่ตรงกลาง มีกลิ่นหอมและต่อมาจะกลายเป็นผลเล็ก ๆ จำนวนมาก ประกอบไปด้วยหัวกลางและหัวย่อยอยู่รอบหัวใหญ่
ผล : เป็นผลสดสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดน้อย
สรรพคุณของบอน
- สรรพคุณจากน้ำจากลำต้นใต้ดิน เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้พิษแมงป่อง
- สรรพคุณจากราก
– แก้อาการเจ็บคอ แก้เสียงแหบแห้ง แก้ท้องเสีย ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากหัว เป็นยาระบาย ช่วยขับปัสสาวะ เป็นยาแก้เถาดานในท้อง กัดฝ้าหนอง เป็นยาห้ามเลือด ช่วยขับน้ำนมของสตรี
- สรรพคุณน้ำจากก้านใบ เป็นยาห้ามเลือด เป็นยานวดแก้อาการฟกช้ำ
- สรรพคุณจากลำต้น
– รักษาแผล แผลจากงูกัด ด้วยการนำลำต้นมาบดใช้เป็นยาพอก - สรรพคุณจากก้านใบ
– แก้พิษคางคก ด้วยการนำก้านใบมาตัดหัวท้ายออก แล้วนำไปลนไฟบิดเอาน้ำใช้หยอดแผล - สรรพคุณจากน้ำยาง เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- สรรพคุณจากยาง เป็นยาช่วยกำจัดหูด
- สรรพคุณจากไหล หัว เหง้า
– รักษาฝีตะมอย ด้วยการนำไหล หัว หรือเหง้ามาตำผสมกับเหง้าขมิ้น กะปิ ขี้วัว เหล้าโรงเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอก
ประโยชน์ของบอน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ไหลและหัวใต้ดินนำมาลวกหรือต้มทานได้ ใบอ่อนและก้านใบอ่อนนำมาใช้ทำอาหารประเภทต้มเช่น แกงส้ม แกงกะทิ แกงบอน หรือจะนำมาลอกจิ้มน้ำพริกทาน แต่ต้องทำให้สุกก่อน ก้านบอนนำมาดองได้
2. ใช้ในการเกษตร ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำใบมาต้มให้หมูกิน หรือใช้ก้านใบมาสับผสมเป็นอาหารหมู ช่วยรักษาฝายชั่ง แม่น้ำลำคลองไม่ให้ถูกกัดเซาะจากคลื่น
3. ใช้เป็นอุปกรณ์ ใช้ห่อของได้ ใช้ตักน้ำดื่ม
4. เป็นพืชเศรษฐกิจ ต้นบอนสามารถทำรายได้ให้กับชาวบ้านด้วยการตัดก้านบอนมาลอกเปลือกแล้วตากให้แห้ง ส่งขายเป็นสินค้าส่งออก
5. ปลูกเป็นไม้ประดับ
ข้อควรระวังของบอน
1. ไม่ควรสัมผัสน้ำยางและลำต้น เพราะจะทำให้เกิดอาการคันและปวดแสบปวดร้อนได้
2. ห้ามทานสดเป็นอันขาด เพราะจะทำให้คันคออย่างรุนแรง ต้องนำมาต้มก่อน
คุณค่าทางโภชนาการของใบ
คุณค่าทางโภชนาการของใบบอน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 112 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 25.8 กรัม |
โปรตีน | 2.1 กรัม |
ไขมัน | 0.1 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 1.0 กรัม |
น้ำ | 70.0% |
เถ้า | 1.0 กรัม |
วิตามินเอ | 103 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.15 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.17 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 1.0 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 2 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 84 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส | 54 มิลลิกรัม |
คุณค่าทางโภชนาการของก้าน
คุณค่าทางโภชนาการของก้านใบบอน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 24 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 5.8 กรัม |
โปรตีน | 0.5 กรัม |
ไขมัน | 0.9 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 0.9 กรัม |
น้ำ | 92.7% |
วิตามินเอ | 300 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.02 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.04 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 13 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 1 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 49 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส | 25 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 0.9 มิลลิกรัม |
บอน เป็นต้นที่นิยมนำมาใช้ทานในรูปแบบของแกง มักจะนำมาต้มร้อนก่อนเพื่อไม่ให้เกิดอาการคัน ถือเป็นต้นที่อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและยังนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย บอนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของหัวและก้านใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้พิษ ช่วยห้ามเลือด แก้เจ็บคอและช่วยขับน้ำนมของสตรีได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “บอน”. หน้า77.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Colocasia esculenta (L.) Schott”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย (หน้า 207). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [30 มี.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “บอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [30 มี.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. “บอน”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน 2 (นันทวัน บุญยะประภัศร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: uttaradit.uru.ac.th/~botany/. [30 มี.ค. 2014].
การศึกษาอนุกรมวิธานของพืชสมุนไพรและพืชมีพิษในอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “บอน”. อ้างอิงใน: ฐานข้อมูลพืชพิษ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4916098/. [30 มี.ค. 2014].
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “Elephant ear”. (ประวิทย์ สุรนีรนาถ). อ้างอิงใน: กองประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/fish/mfish.html/aqplant/aqpindex.html. [30 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “บอน”. อ้างอิงใน: พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [30 มี.ค. 2014].
อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “บอน”. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคกลาง (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ), หนังสือผักพื้นบ้าน อาหารไทย, หนังสือสารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [30 มี.ค. 2014].
อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “แกงบอน”. อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 1 หน้า 479 (รัตนา พรหมพิชัย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [30 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Taro, Cocoyam”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [30 มี.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 194 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “บอน : ผักพื้นบ้านที่มากับความคัน”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [30 มี.ค. 2014].
หนังสือผักพื้นบ้าน 1. (อุไร จิรมงคลการ).
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://www.gardeningknowhow.com/ornamental/bulbs/elephant-ear/elephant-ear-plant-diseases.htm
https://fineartamerica.com/art/paintings/elephant+ear+plant