เผือก เป็นพืชหัวยอดนิยม อุดมไปด้วยสารอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงไต บำรุงลำไส้
เผือก เป็นพืชหัวที่นิยมนำมารับประทาน มีรสหวานมันอร่อย ใบและยอดของต้นนำมาประกอบอาหารได้

เผือก

เผือก (Taro) เป็นพืชหัวที่นิยมนำมารับประทานในประเทศไทยมากชนิดหนึ่ง มีรสหวานมันอร่อยและมักจะพบในรูปแบบขนมหรืออาหารคาวหวานทั่วไป เป็นพืชที่กินง่ายและมีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลาย เผือกมีหลายชนิดแต่ในประเทศไทยนิยมเผือกหอมเป็นหลักเพราะมีหัวขนาดใหญ่และมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ นอกจากหัวที่นำมารับประทานแล้วใบและยอดของต้นยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเผือก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colocasia esculenta (L.) Schott
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Taro”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “บอนหรือตุน” ภาคอีสานเรียกว่า “บอน” ภาคใต้เรียกว่า “บอนเขียว บอนจีนดำ บอนท่า บอนน้ำ” ชาวจีนเรียกว่า “โอ่วไน โอ่วถึง โทวจือ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บอน (ARACEAE)

ลักษณะของเผือก

เผือก เป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเอดโด (eddoe) เป็นเผือกที่มีหัวขนาดเล็ก และประเภทแดชีน (dasheen) เป็นเผือกที่มีหัวขนาดใหญ่ ในประเทศไทยนิยมเผือกหอมซึ่งเป็นเผือกชนิดหนึ่งในประเภทแดชีน
ลำต้น : ลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน
หัว : หัวเป็นรูปลูกข่างกลมสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่ มีหัวเล็ก ๆ อยู่ล้อมรอบ หัวจะมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไป
ใบ : เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่เรียงเวียนสลับกัน ใบเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปลูกศรแกมรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบแต่ละด้านกลมหรือเป็นเหลี่ยม สามารถเห็นเส้นใบได้ชัดเจน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดมีกาบ ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ
ผล : ผลเป็นสีเขียวเปลือกบาง
เมล็ด : ไม่ค่อยมีเมล็ดแต่บางสายพันธุ์ก็ติดเมล็ดได้

สรรพคุณของเผือก

  • สรรพคุณจากหัว ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ป้องกันฟันผุและช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง บำรุงลำไส้และแก้อาการท้องเสีย บำรุงไต แก้อาการอักเสบ ระงับอาการปวด
    – บำรุงร่างกายให้แข็งแรง เป็นยาลดไข้ ด้วยการใช้หัวเผือก 100 กรัม มาต้มใส่กับข้าวสวย 100 กรัม แล้วต้มให้เป็นโจ๊ก
    – เป็นยาทาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย เป็นยาทาบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย ปวดเมื่อยเส้นเอ็น ปวดกระดูก ด้วยการใช้หัวเผือกสดมาโขลกให้ละเอียด ทำการผสมกับน้ำมันงาแล้วคลุกจนเข้ากันเพื่อนำมาใช้ทา
    – รักษาโรคเรื้อนกวาง ด้วยการใช้ต้นกระเทียม 100 กรัม นำมาโขลกกับเผือกสด 100 กรัม โขลกให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นเรื้อนกวาง
  • สรรพคุณจากน้ำยาง ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย

ประโยชน์ของเผือก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบและยอดของต้นเผือกนำมารับประทานเป็นผักได้ ก้านใบนำมาใช้ประกอบอาหารในการทำแกงหรือนำไปทำเป็นผักดอง หัวเผือกสามารถนำมาใช้ทำเป็นอาหารคาวหวานอย่างพวกเผือกเชื่อมหรือเผือกทอด สามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้
2. ทำเป็นแป้ง ทำเป็นแป้งเผือกเพื่อใช้ทำขนมปัง ทำอาหารทารก เป็นอาหารเพื่อป้องกันโรคแพ้บางอย่างของเด็กทารกและใช้แทนธัญพืชในการรักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะลำไส้
3. ใช้ในการเกษตร ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำใยมาต้มให้หมูกิน

ข้อควรระวังในการรับประทานเผือก

1. ไม่ควรรับประทานแบบดิบเพราะหัวและทั้งต้นของเผือกมีผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้คันได้
2. ผู้ที่มีอาการแพ้อย่างอาการคันในช่องปากหรือทำให้ลิ้นชาควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเผือก
3. ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากจนเกินไปเพราะจะทำให้ม้ามทำงานผิดปกติได้

คุณค่าทางโภชนาการของเผือก

คุณค่าทางโภชนาการของหัวเผือกดิบ

คุณค่าทางโภชนาการของหัวเผือกดิบต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 112 กิโลแคลอรี (7%)

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 26.46 กรัม (20%)
น้ำตาล 0.40 กรัม
เส้นใยอาหาร 4.1 กรัม (11%)
ไขมัน 0.20 กรัม มากกว่า (1%)
โปรตีน 1.5 กรัม (3%)
น้ำ 70.64 กรัม
วิตามินเอ 76 หน่วยสากล (2.5%)
วิตามินบี1 0.095 มิลลิกรัม (8%)
วิตามินบี2 0.025 มิลลิกรัม (2%)
วิตามินบี3 0.600 มิลลิกรัม (4%)
วิตามินบี5 0.303 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี6 0.283 มิลลิกรัม (23%) 
วิตามินบี9 22 ไมโครกรัม (5.5%) 
วิตามินซี 4.5 มิลลิกรัม (7%)
วิตามินอี 2.38 มิลลิกรัม (20%)
วิตามินเค 1.0 ไมโครกรัม (1%) 
แคลเซียม 43 มิลลิกรัม (4%) 
เหล็ก 0.55 มิลลิกรัม (7%)
แมกนีเซียม 33 มิลลิกรัม (8%)
แมงกานีส 0.383 มิลลิกรัม (1.5%)
ฟอสฟอรัส 84 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 591 มิลลิกรัม (12.5%)
โซเดียม 11 มิลลิกรัม มากกว่า (1%)
สังกะสี 0.23 มิลลิกรัม (2%)
ทองแดง 0.172 มิลลิกรัม (19%)
ซีลีเนียม 0.7 ไมโครกรัม (1%)

คุณค่าทางโภชนาการของหัวเผือกเฉพาะส่วนที่กินได้

คุณค่าทางโภชนาการของหัวเผือกเฉพาะส่วนที่กินได้ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 117 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 26.8 กรัม
โปรตีน 2.1 กรัม 
ไขมัน 0.1 กรัม
วิตามินบี1 0.15 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1 มิลลิกรัม
วิตามินซี  2 มิลลิกรัม
แคลเซียม 84 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 54 มิลลิกรัม

คุณค่าทางโภชนาการของใบเผือกดิบต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของใบเผือกดิบต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 42 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 6.7 กรัม
น้ำตาล 3 กรัม
เส้นใยอาหาร 3.7 กรัม
ไขมัน 0.74 กรัม
โปรตีน 5 กรัม
วิตามินเอ 241 ไมโครกรัม (30%) 
เบตาแคโรทีน 2,895 ไมโครกรัม (27%)
ลูทีนและซีแซนทีน 1,932 ไมโครกรัม
วิตามินบี1 0.209 มิลลิกรัม (18%)
วิตามินบี2 0.456 มิลลิกรัม (38%)
วิตามินบี3 1.513 มิลลิกรัม (10%)
วิตามินบี6 0.146 มิลลิกรัม (11%) 
วิตามินบี9 129 ไมโครกรัม (32%)
วิตามินซี 52 มิลลิกรัม (63%)
วิตามินอี 2.02 มิลลิกรัม (13%) 
วิตามินเค 108.6 ไมโครกรัม (103%)
แคลเซียม 107 มิลลิกรัม (11%)
เหล็ก 2.25 มิลลิกรัม (17%)
แมกนีเซียม 45 มิลลิกรัม (13%) 
แมงกานีส 0.714 มิลลิกรัม (34%) 
ฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม (9%)
โพแทสเซียม  648 มิลลิกรัม (14%)
สังกะสี 0.41 มิลลิกรัม (4%)

คุณค่าทางโภชนาการของใบต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของใบต่อ 100 กรัม มีวิตามินเอ 20,885 หน่วยสากล และวิตามินซี 142 มิลลิกรัม

คุณค่าทางโภชนาการของยอดต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของยอดต่อ 100 กรัม มีวิตามินเอ 335 หน่วยสากล และวิตามินซี 8 มิลลิกรัม

เผือก เป็นพืชที่มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการที่น่าทึ่งและดีต่อร่างกายหากรับประทานอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ให้พลังงานและบำรุงสุขภาพได้ดีเยี่ยม เป็นพืชที่ช่วยทำให้อิ่มได้เหมือนกับรับประทานข้าว มีรสหวานมันอร่อยเมื่อนำมาปรุงหรือนำมาทำเป็นอาหารคาวหวาน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกายให้แข็งแรง เป็นยาทาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย บำรุงไต บำรุงลำไส้และแก้อาการท้องเสียได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
กลุ่มสื่อส่งเสริมเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร. “อาหารจากเผือก”.
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “เผือก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/. [31 มี.ค. 2014].
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์. “เผือก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th. [31 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “เผือก”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [31 มี.ค. 2014].
Food for Health – อาหารเพื่อสุขภาพ, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “สมุนไพรจีนและอาหารจีน”. (วงศ์ตะวัน เอื้อธีรศรัณย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.ku.ac.th/~b5310850368/. [31 มี.ค. 2014].