สันพร้าหอม ต้นกลิ่นหอมละมุน ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือดและบำรุงหัวใจ
สันพร้าหอม เป็นต้นที่มีรสเผ็ดและมีกลิ่นหอม มีดอกสีแดงหรือสีขาวขนาดเล็ก ผลสุกจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอมดำ

สันพร้าหอม

สันพร้าหอม (Eupatorium fortunei) เป็นต้นที่มีรสเผ็ดและมีกลิ่นหอม เป็นยาสุขุมที่หมออีสานนิยมใช้เพราะปลูกมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน มีดอกสีแดงหรือสีขาวขนาดเล็กดูสวยงามจึงทำให้นิยมนำมาปลูกลงกระถางขาย นอกจากนั้นยังนำมารับประทานหรือเป็นส่วนผสมของแป้งหอม ทว่าสันพร้าหอมก็มีเรื่องที่ควรระวังเพราะผู้ที่มีอาการกระเพาะหรือลำไส้หย่อนไม่มีกำลังห้ามทานเด็ดขาดและมีผลต่อตับและไตได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของสันพร้าหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eupatorium fortunei Turcz.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “เกี๋ยงพาใย” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “สันพร้าหอม” จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรีและกาญจนบุรีเรียกว่า “หญ้าเสือมอบ” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ซะเป มอกพา หญ้าลั่งพั้ง” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “พอกี่” จีนกลางเรียกว่า “หลานเฉ่า เพ่ยหลาน”มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักเพี้ยฟาน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
ชื่อพ้อง : Eupatorium stoechadosmum Hance

ลักษณะของสันพร้าหอม

สันพร้าหอม เป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนอายุหลายปี มักจะขึ้นบริเวณตามหุบเขาหรือลำธาร ปลูกมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง โคนต้นเรียบเป็นมันและเกลี้ยง ตามลำต้นเป็นร่องแต่จะค่อนข้างเกลี้ยงเล็กน้อย
ราก : รากแก้วใต้ดินแตกแขนงมาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงกันเป็นคู่ตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนวงรีหรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ผิวใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว หลังใบมีขนปกคลุม เส้นใบคล้ายรูปขนนก เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นหอม ใบบริเวณโคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าและแห้งง่าย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้นลักษณะคล้ายซี่ร่ม ก้านช่อดอกมีขนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 4 – 6 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีสีแดงหรือสีขาวขนาดเล็ก ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดง ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่ใจกลางดอก
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนานแคบหรือรูปทรงกระบอก ผลเป็นสีดำและมีสัน 5 สัน เมื่อสุกผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอมดำ

สรรพคุณของสันพร้าหอม

  • สรรพคุณจากทั้งต้น ออกฤทธิ์ต่อม้ามและกระเพาะอาหาร เป็นยาขับน้ำชื้นในร่างกาย เป็นยาบำรุง ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อนจัด แก้ไข้แดด ช่วยขับเหงื่อ แก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ปากแห้ง แก้น้ำลายเหนียว แก้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ช่วยแก้ลมขึ้นจุกเสียด แก้ลมขึ้นเบื้องสูง แก้อาการแน่นหน้าอก แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้ปวดกระเพาะ แก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลัน เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ เป็นยากระตุ้นความกำหนัด
    – บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ทำให้เลือดไหลเวียนดี ช่วยแก้อาการวิงเวียน ด้วยการนำทั้งต้นมาบดให้เป็นผงแล้วชงเป็นชาดื่ม
    – แก้หวัด ด้วยการนำทั้งต้นประมาณ 1 กำมือ ใส่ในน้ำ 1 ลิตร แล้วต้มให้เดือด พอเดือดหรี่ไฟลงแล้วต้มต่ออีกประมาณ 15 นาที ใช้ดื่มครั้งละครึ่งแก้วประมาณ 125 มิลลิลิตร วันละ 3 เวลา หรือนำมาบดเป็นผงทำเป็นชาชงดื่ม
    แก้ไอ บรรเทาอาการหอบหืดในเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยการนำทั้งต้นมาบดกับน้ำแล้วเติมน้ำผึ้งเล็กน้อยกินเป็นยา
    – แก้ลมชัก แก้ลมมะเฮ็ดคุด ทำให้สดชื่นรู้สึกปลอดโปร่ง ช่วยกระจายเลือดลมไปเลี้ยงสมอง ช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้อาการวิงเวียนและอาการปวดศีรษะลดลง ด้วยการนำทั้งต้นมาขยี้ดม
    – บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ขับน้ำออกจากร่างกาย ลดอาการบวมน้ำ ช่วยทำให้เหงื่อออก เป็นยาขับประจำเดือนในหญิงที่ประจำเดือนผิดปกติ โดยหมอยาอีสานนำทั้งต้นมาใช้กับแม่หลังคลอดในการทำเป็นยาอบต้มกิน
  • สรรพคุณจากใบ แก้พิษเบื่ออาหาร เป็นยาบำรุงหัวใจ
    – แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้แดด ด้วยการนำใบสันพร้าหอม 5 กรัม ใบสะระแหน่ 5 กรัม ใบบัวหลวง 5 กรัม พิมเสนต้น 5 กรัม ปี่แปะเอี๊ยะ 30 กรัม โหล่วกิง 30 กรัมและเปลือกฟัก 60 กรัม มารวมกันต้มกับน้ำทาน
    – เป็นยาปรับธาตุ เป็นยาระบาย แก้อาการท้องร่วง ด้วยการนำใบทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก
  • สรรพคุณจากราก
    – เป็นยาแก้สตรีประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ ใช้จับเลือดเสียหลังการคลอดบุตรของสตรี ด้วยการนำราก 1 กำมือ ใส่ในน้ำ 1 ลิตร แล้วต้มให้เดือด พอเดือดหรี่ไฟลงต้มต่ออีก 15 นาที ใช้ดื่มครั้งละครึ่งแก้วประมาณ 125 มิลลิลิตร วันละ 3 เวลา
    – แก้พิษ ด้วยการนำรากต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากน้ำมันหอมระเหย ยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่

ประโยชน์ของสันพร้าหอม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบใช้กินกับลาบ น้ำพริกหรืออาหารอื่น ๆ
2. เป็นส่วนผสมในการใช้ความหอม ใช้เป็นส่วนผสมของแป้งหอม ยาสระผมหอมบำรุงผม ธูปหรือเครื่องหอมอื่น ๆ คนปกาเกอะยอนำมาห่อด้วยใบตองที่ทาด้วยน้ำมันมะพร้าวไว้แล้วนำมาย่างไฟจะทำให้กลิ่นหอมมาก จากนั้นจะนิยมนำมาทัดหูหรือนำมาห้อยกับสายสร้อยคล้องคอ
3. เป็นความเชื่อ ปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อดึงดูดผีบ้านผีเรือนให้คอยปกป้องรักษาบ้านที่อยู่อาศัยและผู้อาศัยหรือนำมาใช้ห้อยคอเพื่อความเป็นสิริมงคลป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ
4. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป พ่อค้านิยมนำมาปลูกไว้ในกระถางเพื่อขายเป็นการค้า

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสันพร้าหอม

สารที่พบในสันพร้าหอม ทั้งต้นพบน้ำมันระเหยประมาณ 1.5 – 2% ในน้ำมันพบสารหลายชนิด เช่น P – cymene, Neryl acetate, 5 – Methylthymol ether, Nerylacetate และยังพบสาร Coumarin, O – Coumaric acid, Thymohydroquinone ส่วนใบพบสาร Euparin, Eupatolin gxH เป็นต้น
การทดสอบทางพิษของสันพร้าหอม เมื่อนำสันพร้าหอมทั้งต้นมาให้แพะหรือวัวกินติดต่อกันเป็นเวลานาน พบว่าจะเกิดการกระทบที่ตับและไต ทำให้แพะหรือวัวเป็นเบาหวาน หรือถ้าใช้สารที่สกัดได้จากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์ มาฉีดเข้าที่หนูทดลอง จะทำให้หนูทดลองมีการหายใจช้าลง การเต้นของหัวใจช้าลง อุณหภูมิในร่างกายของหนูลดลง น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและมีอาการแสดงคล้ายกับเป็นโรคเบาหวาน

ข้อควรระวังของสันพร้าหอม

1. ผู้ที่มีอาการกระเพาะหรือลำไส้หย่อนไม่มีกำลัง ห้ามรับประทาน
2. ไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบที่ตับ ไต หัวใจและน้ำตาลในเลือดได้

สันพร้าหอม เป็นต้นที่ใบมีวิตามินซีสูงและมีสรรพคุณทางยาได้จากทั้งต้น เป็นต้นที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความหอมและเป็นไม้ประดับสวยงาม สามารถนำใบมารับประทานในรูปแบบของผักสดได้ สันพร้าหอมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ แก้ไข้และแก้ลมได้ นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณแก้อาการต่าง ๆ ได้อีกเยอะ ทั้งนี้ถือเป็นต้นที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบที่ให้ความหอมได้ดีมาก

สันพร้าหอม ต้นกลิ่นหอมละมุน ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือดและบำรุงหัวใจ
สันพร้าหอม เป็นต้นที่มีรสเผ็ดและมีกลิ่นหอม มีดอกสีแดงหรือสีขาวขนาดเล็ก ผลสุกจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอมดำ
เกี๋ยงพาใย,สันพร้าหอม,หญ้าเสือมอบ,ซะเป,มอกพา,หญ้าลั่งพั้ง,พอกี่,หลานเฉ่า,เพ่ยหลาน,ผักเพี้ยฟาน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม 

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สันพร้าหอม”. หน้า 774-775.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สันพร้าหอม”. หน้า 550.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สันพร้าหอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [11 ต.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช กรมวิชาการเกษตร. (สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ). “สันพร้าหอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.apoc12.com. [11 ต.ค. 2014].
ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร. “ต้นสันพร้าหอม”.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/