ข้าวสารหลวง
เป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น ใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แกมใบหอก ท้องใบจะมีต่อมยาวสีเข้ม

ข้าวสารหลวง

ข้าวสารหลวง เป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น พบเจอขึ้นได้ทั่วไปในป่าที่ชุ่มชื้น ป่าที่ไร่ร้าง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของ Maesa ramentacea (Roxb.) A. DC. อยู่วงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)  ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ลวย (จังหวัดตรัง), กะผ้าสะลาย (จังหวัดชุมพร), กระดูกไก่ (จังหวัดจันทบุรี), ไคร้ยอย (จังหวัดเชียงใหม่), ตุ๊ดเงย (ขมุ), ปัน (จังหวัดนครศรีธรรมราช), เสียดนก (จังหวัดชุมพร), เม้าหมด (จังหวัดจันทบุรี), ขี้หนอน (จังหวัดตราด), หลอดเขา (จังหวัดเชียงใหม่) [1],[4]

ลักษณะข้าวสารหลวง

  • ต้นมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีรูปทรงโปร่ง สามารถสูงได้ถึงประมาณ 5-10 เมตร จะแตกกิ่งแขนงแผ่เป็นพุ่ม กิ่งก้านมีลักษณะโปร่งและจะห้อยลง ที่เปลือกต้นด้านนอกนั้นจะมีรูอากาศหนาแน่น ที่เปลือกด้านในเป็นสีครีมถึงสีชมพู ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พบเจอขึ้นได้ทั่วไปในป่าที่ชุ่มชื้น ป่าที่ไร่ร้าง ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคกลาง ส่วนในต่างประเทศพบเจอขึ้นได้ที่ในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย คาบสมุทรอินโดจีน มาเลเซีย พม่า
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แกมใบหอก รูปรี ที่ปลายใบจะแหลมเรียว ส่วนโคนใบจะมน ที่ขอบใบจะเรียบหรือจะหยักเกือบเรียบ ใบกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-14 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบอยู่ประมาณ 6-9 คู่ จะโค้งจรดขอบใบ แผ่นใบมีลักษณะเป็นหยัก ลอนหยาบ ๆ ที่หลังใบมน ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.6-1.3 เซนติเมตร ใบแก่ไม่มีขน ท้องใบจะมีต่อมยาวสีเข้มอยู่[1],[2],[3],[5],[6]
  • ดอก ออกเป็นช่อที่บริเวณซอกใบ ช่อดอกจะแตกแขนงมาก มีความยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก มีขนาดเล็กและเป็นสีขาว มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ มีลักษณะเป็นรูประฆัง ที่ปลายจะแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ที่ปลายกลีบมน ที่โคนเชื่อมกันเป็นหลอดสั้น มีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง เป็นสีเขียว มีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้จะยาวเท่ากับอับเรณู ก้านเกสรเพศเมียจะแยกเป็นพู 2 พู รังไข่ส่วนหนึ่งจะฝังอยู่ในฐานรองดอก ดอกออกช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[5],[6]
  • ผล เป็นรูปทรงกลมและฉ่ำน้ำ เป็นสีเขียวอ่อนถึงสีน้ำตาลอ่อน ผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลมีขนาดประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร มีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ในผลหลายเมล็ด ผลแก่ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[5],[6]

สรรพคุณข้าวสารหลวง

1. สามารถนำรากมาเป็นยารักษาบาดแผลได้ ด้วยการเอามาบดแล้วใช้โรยแผลจะช่วยทำให้แผลแห้ง (ราก)[2]
2. สามารถนำใบมาตำพอกปิดบาดแผล แก้อาการปวดบวมได้ (ใบ)[2]
3. ชาวเขาเผ่าเย้าจะนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ สามารถใช้ล้างแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ (ทั้งต้น)[1],[3]

ประโยชน์ข้าวสารหลวง

  • ต้นเป็นไม้ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก เป็นทรงพุ่มเรือนยอดสวย ครั้นออกดอกจะเป็นดอกสีขาวโพลนหนาแน่น ถ้าปลูกในพื้นที่จำกัด กว้าง 3 เมตร มีความยาวประมาณ 3 เมตร จะสามารถช่วยเพิ่มความสวยให้มากขึ้นได้ แต่ควรปลูกในที่ชุ่มชื้นหรือที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-500 เมตร[6]
  • สามารถทานดอกกับใบได้เหมือนผักสด [6]
  • ชาวขมุจะนำลำต้นมาทำฟืน ใช้เป็นเชื้อเพลิง[4],[5]

สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ข้าวสารหลวง (Maesa ramentacea)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [14 มี.ค. 2015].
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ข้าว สาร หลวง”. หน้า 146.
3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ข้าว สาร หลวง”. หน้า 79.
4. ทองไทยแลนด์. “ข้าว สาร หลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thongthailand.igetweb.com. [14 มี.ค. 2015].
5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้าว สาร หลวง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [14 มี.ค. 2015].
6. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ข้าว สาร หลวง”. หน้า 97.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/photos/adaduitokla/13289250785
2.https://www.natureloveyou.sg/Maesa%20ramentacea/Main.html