ข้าวสารค่าง
ไม้ล้มลุกเลื้อยพันสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ใบจะออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น เว้าเป็นรูปหัวใจ ดอกขนาดเล็กสีขาว ผลสดสีเขียว

ข้าวสารค่าง

ข้าวสารค่าง พรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพัน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว พบขึ้นบริเวณป่าผลัดใบ ป่าไผ่ และตามที่รกร้าง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cardiopteris quinqueloba (Hassk.) Hassk. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Cardiopteris lobata Wall. ex Benn. & R.Br., Cardiopteris javanica Blume อยู่วงศ์ CARDIOPTERIDACEAE[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ตุ๊กตู่ (จังหวัดชลบุรี), ผักแต๋นแต้ (จังหวัดลพบุรี), อีบี้ (จังหวัดสุโขทัย), ผักแตนแต้ (จังหวัดสระบุรี), ขะล๊านข่าง (จังหวัดชุมพร), หวี่หวี่ (จังหวัดสระบุรี), ตุ๊กตู่ (จังหวัดเชียงใหม่), อีหวี่ (จังหวัดปราจีนบุรี) [1],[2]

ลักษณะข้าวสารค่าง

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพัน เมื่อฉีกขาดก็จะมีน้ำยางสีขาวออกมา ลำต้นกลมหรือค่อนข้างแบน จะแตกกิ่งก้านเยอะ สามารถทอดยาวได้ถึงประมาณ 2-5 เมตร มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่เอเชียใต้ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบเจอขึ้นได้ที่บริเวณป่าไผ่ ที่รกร้าง ป่าผลัดใบ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึงระดับ 600 เมตร บริเวณที่พบขึ้นในพื้นที่อุทยานฯ ก็คือ ที่ตามพื้นป่าราบทั่วไป โดยเฉพาะที่บริเวณปากทางเดินขึ้นเขากำแพง[1],[2]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้นหรือเป็นเกลียว รูปไข่กว้าง ปลายใบจะแหลมหรือมน ส่วนโคนใบจะเว้าเป็นรูปหัวใจ ที่ขอบใบจะเรียบหรือเว้าเป็นแฉกประมาณ 4-9 แฉก ที่ปลายของแฉกกลางจะแหลม ที่ปลายของแฉกด้านข้างจะแหลมหรือมน ใบกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร[1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อแยกแขนงที่ตามซอกใบ มีความยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร มีดอกย่อยเป็นจำนวนมากเรียงออกมาด้านเดียว ดอกย่อยมีขนาดเล็ก จะมีดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีขาว ดอกสมบูรณ์เพศมีดอกเป็นรูปหลอดรูปกรวย ที่ปลายจะแยกเป็น 4-5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ประมาณ 4-5 อัน ติดใกล้ปากหลอดดอก สลับกับกลีบดอก มีรังไข่ 1 ช่องอยู่ที่เหนือวงกลีบ ที่ปลายเกสรเพศเมียจะแยกออกเป็นแฉก 2 แฉก มีขนาดไม่เท่ากันและจะติดคงทนที่ผล ดอกเพศผู้คล้ายกับดอกสมบูรณ์เพศ แต่ดอกเพศผู้จะไม่มีเกสรเพศเมียกับก้านดอกย่อย ออกดอกช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]
  • ผล ผลสดเป็นสีเขียว ผลเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรูปรีลักษณะแบน ที่ขอบจะแผ่เป็นครีบตามยาว มี 2 ปีก จะมีเส้นแขนงละเอียดเรียงขนานกันอยู่ กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ที่ปลายผลเว้าตื้น ๆ ที่ปลายสุดจะเป็นติ่งยอดเกสรเพศเมียที่คงความเขียวได้นานและปรากฏให้เห็นแบบชัดจัน มีเมล็ดเดียวในผล จะออกผลช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[2]

สรรพคุณข้าวสารค่าง

  • ในตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะนำใบมาตำผสมเหง้าไพล มันหมูห่อใบตอง แล้วนำมาหมกไฟ สามารถใช้ประคบรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ (ใบ)[1],[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ข้าว สาร ค่าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [16 มี.ค. 2015].
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ข้าว สาร ค่าง”. หน้า 60.

อ้างอิงรูปจาก
1.https://powo.science.kew.org/