นางแย้มป่า
นางแย้มป่า (Nangyam) เป็นดอกไม้ป่าที่มีความสวยงามมาก มีดอกสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในตอนเช้า เหมาะสำหรับเชยชมในป่าธรรมชาติแต่ไม่เหมาะสำหรับการนำมาปลูกไว้ในบ้านเนื่องจากเป็นดอกไม้ที่ความเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีภูตผีปีศาจสิงอยู่ หากนำมาปลูกไว้ภายในบ้านอาจทำให้คนในบ้านหวาดผวา เสียขวัญหรือเจ็บไข้ได้ป่วยได้ นอกจากดอกที่สวยงามแล้วยังสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของนางแย้มป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum infortunatum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Nangyam”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคใต้เรียกว่า “ขี้ขม” จังหวัดแม่ฮ่องสอนและชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “พอกวอ” จังหวัดกาญจนบุรีและชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “โพะคว่อง” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ปิ้งขาว ปิ้งเห็บ” จังหวัดเลยเรียกว่า “ปิ้งพีแดง ฮอนห้อแดง” จังหวัดขอนแก่นเรียกว่า “ต่างไก่แดง” จังหวัดพิษณุโลกเรียกว่า “ขัมพี” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “กุ๋มคือ ซมซี” มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ปิ้งขม ปิ้งหลวง ปิ้งเห็บ ปุ้งปิ้ง พินพี โพพิง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
ชื่อพ้อง : Clerodendrum viscosum Vent.
ลักษณะของนางแย้มป่า
นางแย้มป่า เป็นไม้พุ่มขนาดย่อมที่มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย อินโดนีเซีย เกาะสุมาตราไปจนถึงฟิลิปปินส์ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มักจะขึ้นตามชายป่าดิบและที่โล่งชื้น ชอบขึ้นในดินเย็นชื้นบริเวณใต้ต้นไม้
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง กิ่งอ่อนและต้นเปราะ เป็นสันสี่เหลี่ยม ตามลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสีแดงหรือสีดำอมน้ำตาล
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามข้อเป็นคู่ตั้งฉากกันเป็นรูปวงรีหรือรูปหัวใจ ปลายใบสอบแหลม โคนใบสอบหรือเว้า ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ฟันตื้น ๆ แผ่นใบแข็งเป็นสีเขียวเข้ม มีขนสากระคายมือ มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแน่นที่ปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีขาว กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก โคนกลีบเชื่อมกันเป็นหลอด กลางดอกเป็นสีชมพูม่วงหรือสีม่วงเข้มและมีขน ดอกจะมีกลิ่นหอมในตอนเช้า โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : ผลเป็นรูปทรงกลม มีผิวมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือดำ ผลมีกลีบเลี้ยงสีแดงหุ้มอยู่
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด
สรรพคุณของนางแย้มป่า
- สรรพคุณจากใบ
– แก้อาการปวดศีรษะข้างเดียว ด้วยการนำใบมาซ้อนกัน 3 ใบ หรือ 7 ใบ แล้วใช้ห่อขี้เถ้าร้อน ใบฮ่อมตำและใบเครือเขาน้ำตำ แล้วนำมาประคบศีรษะ - สรรพคุณจากราก รักษาลำไส้อักเสบ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ
– เป็นยาแก้ไข้ บำรุงน้ำนมของสตรี ด้วยการนำรากมาต้มแล้วดื่ม
ประโยชน์ของนางแย้มป่า
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดสำหรับจิ้มกับน้ำพริก คนเมืองนิยมนำดอกอ่อนมาใส่แกงหน่อไม้ บางข้อมูลบอกว่าสามารถนำเปลือกลำต้นใช้กินแทนหมากได้ด้วย
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ สามารถนำมาปลูกประดับได้แต่ไม่ควรปลูกในบ้าน
นางแย้มป่า มักจะมีสรรพคุณอยู่ที่รากของต้น เป็นไม้ป่าที่มีดอกสวยงาม คนไทยส่วนมากมักจะไม่ค่อยพบและไม่ค่อยรู้จักเนื่องจากเป็นไม้ที่ชอบความชื้นและความเย็น จึงมักจะพบได้ในป่ามากกว่าที่จะพบเห็นทั่วไป มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาลำไส้อักเสบ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ไตพิการและแก้อาการปวดศีรษะข้างเดียวได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “นางแย้มป่า”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 105.
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “นางแย้มป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [25 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “นางแย้มป่า”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [25 มี.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “นางแย้มป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [25 มี.ค. 2014].
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “นางแย้มป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [25 มี.ค. 2014].
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. “นางแย้มป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/นางแย้มป่า. [25 มี.ค. 2014].