
โคโรค
โคโรคเป็นสมุนไพรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในแพทย์แผนตะวันออก มีสรรพคุณทางยาฤทธิ์เย็นและรสขม บางครั้งถุงนิ่วอาจหลุดออกจากการไอของวัวที่เป็นโรค ซึ่งถือเป็นสิ่งมีค่าและราคาแพงมาก จึงมีการผลิตจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญคือ Ox gallstone หรือ Bos calculus ชื่อทางเภสัชกรรมคือ Calculus Bovis และชื่อสัตววิทยาคือ Bos taurus domesticus Gmelin ส่วนชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ได้แก่ นิ่ววัว, หนิวหวง (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะสำคัญ
โคโรค คือ นิ่วที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดีของวัวที่เกิดจากการอักเสบผ่านระยะเวลาที่แห้งแล้งจนกลายเป็นหินแข็ง รูปร่างเป็นรูปไข่มีลักษณะเบาและเปราะ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.3 ถึง 3 ซม. ผิวด้านนอกมีสีน้ำตาลทองหรือเหลือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในวัวที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป การดูว่าวัวเป็นนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ จะสังเกตได้จากการที่วัวมีรูปร่างผอม ดื่มน้ำมาก ทานอาหารน้อย ไม่มีแรงจะเดิน
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
มีวิตามินดี ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นในการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ แต่หากทานมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการตัวเหลืองเนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย[1],[3]
- สารที่พบ เช่น ธาตุเหล็ก ธาตุทองเหลือง แคลเซียม Alanine, Aspartic acid, Arginine, Vitamin D, Leucine, Glycine, Cholesterol, Cholic acid, Fatty acid, Methionine, Taurine, Lecithin เป็นต้น[1]
- จากการทดลองพบว่าสามารถช่วยให้หัวใจของหนูทดลองที่ได้กินกาแฟ หรือการบูรเข้าไปจนหัวใจเต้นเร็ว กลับมาเต้นเป็นปกติ และทำให้จิตใจของหนูสงบลงอีกด้วย[1]
- พบว่ากรดโคลิก สามารถช่วยในการบำรุงหัวใจ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และหลอดเลือดหดตัว[3]
สรรพคุณ และประโยชน์โคโรค
1. สามารถนำมาทำเป็นส่วนผสมในการทำยาแก้น้ำลายเหนียว ขับเสมหะ และลมชักในเด็กได้[1]
2. ช่วยในการรักษาอาการบวมตามอวัยวะต่างๆ ได้[1],[2]
3. ใช้ในการทำเป็นยารักษาดีซ่าน และอาการตับอักเสบได้[1]
4. ใช้กินเป็นยาแก้เสมหะแห้ง น้ำลายเหนียวติดลำคอ และช่วยขับเสมหะ[1],[2]
5. ใช้ทำเป็นยาในการขับพิษร้อนถอนพิษไข้ อาการชักในเด็ก ไข้สูง ตัวร้อน ไข้หมดสติ และอาการเพ้อพูดจาเพ้อเจ้อ[1],[3]
6. ทำเป็นยาในการบำรุงกำลังได้[2]
7. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ และการเป็นแผลที่ลิ้นได้ โดยการนำมาเป่าคอหรือป้ายลิ้น[1]
8. สามารถใช้ในการรักษาฝีภายในและภายนอกได้[1]
9. สามารถนำมาหยอดตา แก้อาการเจ็บตา ตาฟาง ตาแฉะ[2]
10. เป็นยาเย็น มีฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ สามารถทำเป็นยาสงบจิต และแก้อาการตกใจง่าย มีรสขมชุ่ม[1]
11. ทางจีนใต้มีการนำมาขาย เป็นสินค้าทางยา อีกทั้งยังได้ราคาที่แพงมาก[2]
การใช้
- จะใช้ครั้งละ 0.2-0.4 กรัม สามารถนำมาบดเป็นผงชงดื่ม ทำเป็นยาลูกกลอนทาน หรืออาจนำมาทาภายนอกก็ได้[1]
ข้อควรระวัง
- สำหรับผู้ที่มีอาการกระเพาะอาหารม้ามเย็นพร่อง และสตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1],[3]
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โค โรค (ox-gall-stone)”. หน้า 170.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โค โรค”. หน้า 211.
3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 97 คอลัมน์ : อาหารสมุนไพร. (วิทิต วัณนาวิบูล). “วัว สัตว์ที่มนุษย์ยกย่อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [10 ม.ค. 2015].
4. https://medthai.com/