นมสวรรค์ ไม้สีสันสดใส ช่วยแก้ฝี แก้ไข้ ลดความดันเลือดและรักษาโรคปัสสาวะขัด

นมสวรรค์ ไม้สีสันสดใส ช่วยแก้ฝี แก้ไข้ ลดความดันเลือดและรักษาโรคปัสสาวะขัด
นมสวรรค์ ไม้สีสันสดใส ช่วยแก้ฝี แก้ไข้ ลดความดันเลือดและรักษาโรคปัสสาวะขัด
นมสวรรค์ ไม้สีสันสดใส ช่วยแก้ฝี แก้ไข้ ลดความดันเลือดและรักษาโรคปัสสาวะขัด
นมสวรรค์ เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะโดดเด่นและสีสันสวยงาม นิยมปลูกประดับตกแต่ง และใช้เป็นยารักษาได้

นมสวรรค์

นมสวรรค์ (Pagoda flower) เป็นไม้ที่ไม่ค่อยได้ยินชื่อนักสำหรับคนไทยทั่วไป ส่วนมากจะขึ้นอยู่ในป่า เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะโดดเด่นและสีสันสวยงาม มักจะนำมาปลูกประดับตกแต่งมากกว่าจะนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร นมสวรรค์ยังสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้เป็นยารักษาได้ เป็นพืชที่น่าสนใจในการนำมาปลูกเพื่อประดับบ้านและนำมาเป็นยาสมุนไพรได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของนมสวรรค์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum paniculatum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Pagoda plant” “Pagoda flower”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ปรางมาลี” ภาคเหนือเรียกว่า “ปิ้งแดง” ภาคใต้เรียกว่า “นมหวัน” จังหวัดนครพนมเรียกว่า “สาวสวรรค์ พนมสวรรค์ เข็มฉัตร” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ฉัตรฟ้า สาวสวรรค์” จังหวัดระนองเรียกว่า “น้ำนมสวรรค์” จังหวัดเลยเรียกว่า “พวงพีเหลือง” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “หัวลิง” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “โพโก่เหมาะ” มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “พู่หมวก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
ชื่อพ้อง : Clerodendron pyramidale Andrews

ลักษณะของนมสวรรค์

นมสวรรค์ เป็นไม้ล้มลุกที่มีพุ่มขนาดกลาง สามารถพบได้ตามชายป่า
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม
เปลือกต้น : มีลักษณะเรียบ เป็นสีน้ำตาลแกมเขียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน มีลักษณะเป็นรูปไข่ค่อนข้างกลม ปลายแหลม โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเว้าเป็นแฉกและมีจัก ด้านล่างมีขนสาก มีเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบย่อยเป็นแบบร่างแหผสมขั้นบันได
ดอก : ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่งสีแดงหรือสีขาว ชนิดดอกขาวจะเรียกว่า “นมสวรรค์ตัวผู้” ส่วนชนิดดอกสีแดงเรียกว่า “นมสวรรค์ตัวเมีย” กลีบรองดอกเป็นรูประฆังสีส้มแดง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด
ผล : ผลสดเป็นรูปทรงกลมหรือสามพู ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่เมื่อสุกมีสีแดงคล้ำ ผลผนังชั้นในแข็ง
เมล็ด : ใน 1 ผลมี 1 เมล็ด ลักษณะแข็ง

สรรพคุณของนมสวรรค์

  • สรรพคุณจากนมสวรรค์
    – รักษาโรคปัสสาวะขัดและใช้เข้าตำรับยาขับนิ่ว ด้วยการใช้ร่วมกับรากหญ้าคาและผักคราดหัวแหวน
    สรรพคุณจากราก ดอกและต้น ลดไขมันในเส้นเลือด แก้ฝีภายใน แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • สรรพคุณจากราก ช่วยลดความดันโลหิต แก้ไข้ที่มีอาการถ่ายเหลว อาเจียนเป็นเลือดและมีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง แก้วัณโรค ขับเสมหะ ช่วยขับลม แก้โลหิตในท้อง เป็นยาถ่าย แก้ประดงลมและประดงไฟ
    – แก้อาการตึงในหนังศีรษะและอาการปวดในเบ้าตา ทางภาคอีสานจึงใช้รากนมสวรรค์มาต้มดื่ม
    – ช่วยทำให้อาเจียน ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้กินสารพิษและต้องการขับสารพิษออกจากทางเดินอาหาร ให้กินครั้งละมากกว่า 2 กรัม
    – แก้อาการปวดท้อง แก้ไข้อย่างไข้มาลาเรียและไข้เหนือ ด้วยการใช้รากฝนกับน้ำแล้วดื่ม
    – ขับน้ำคาวปลาของสตรีหรือของเหลวที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอดหลังจากคลอดลูก บำรุงน้ำนม ด้วยการต้มรากกับน้ำแล้วดื่ม
    – รักษาฝี ด้วยการนำรากมาฝนแล้วทา
  • สรรพคุณจากใบ รักษาอาการแน่นอก แก้ลมในทรวงอก แก้พิษฝีดาษ
    – แก้ทรวงอกอักเสบ แก้ไข่ดันบวมและแก้ลูกหนูใต้รักแร้บวม รักษาอาการปวดข้อและปวดประสาท ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากดอก แก้อาการตกเลือด แก้โลหิตในท้อง แก้พิษฝีกาฬ แก้พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ
  • สรรพคุณจากต้น แก้พิษฝีฝักบัว ช่วยแก้พิษ แก้อาการอักเสบเนื่องจากตะขาบและแมงป่องกัด
    หมายเหตุ : รากและเหง้ามีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัวและมีสาร 2 – asarone ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต แต่มีรายงานพบว่าเป็นพิษต่อตับและอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ จึงต้องรอการศึกษาความเป็นพิษเพิ่มเติมก่อนการนำมาใช้

ประโยชน์ของนมสวรรค์

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบนำมาทำแกงได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้ประดับเพราะมีสีและรูปทรงที่สวยงาม
3. ใช้ในอุตสาหกรรม ผลนมสวรรค์สามารถนำมาเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีม่วงแดง

วิธีการดับกลิ่นเหม็นเขียวของนมสวรรค์

ดับกลิ่นได้ด้วยการนำมาปรุงอาหาร เริ่มจากการหั่นเป็นฝอยใส่ลงในกะทิแล้วใช้รองก้นกระทงสำหรับห่อหมก แล้วนำไปนึ่งให้สุกก็จะสามารถดับกลิ่นเหม็นเขียวได้ แถมยังช่วยให้มีรสชาติอร่อยมากขึ้น

นมสวรรค์ มีชื่อเรียกหลากหลายตามแต่พื้นที่ มักจะพบเป็นไม้ที่ปลูกประดับได้ทั่วไป แต่เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้มากมายกว่าที่คิด ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามและมีสีสันจึงไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมารักษาได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ลดความดันเลือด แก้ฝีต่าง ๆ แก้ไข้ รักษาโรคปัสสาวะขัด ถือเป็นไม้ที่มีประโยชน์มากกว่าภายนอกที่เห็น

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [4 พ.ย. 2013].
หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. (เต็ม สมิตินันทน์).
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [4 พ.ย. 2013].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [4 พ.ย. 2013].
หนังสือผักพื้นบ้านภาคใต้. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.
ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. อ้างอิงใน: สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.culture.nstru.ac.th. [4 พ.ย. 2013].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [4 พ.ย. 2013].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [4 พ.ย. 2013].
แมกโนเลีย ไทยแลนด์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.magnoliathailand.com. [4 พ.ย. 2013].