เกล็ดปลาช่อน
เกล็ดปลาช่อน (Phyllodium pulchellum) เป็นชื่อที่แปลกประหลาดแต่ตั้งตามลักษณะของใบประดับดอกที่มีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา จึงเป็นที่มาของชื่อต้นเกล็ดปลาช่อน มักจะพบตามพื้นที่ป่าทั่วไปและพบได้ทุกภาคในประเทศไทย นิยมนำยอดที่มีรสฝาดมันและขมเล็กน้อยมารับประทานเป็นผักสด นอกจากนั้นยังเป็นอาหารของสัตว์แทะเล็มอีกด้วย เกล็ดปลาช่อนยังเป็นส่วนประกอบในตำรายาพื้นบ้านอีสานและตำรายาไทย เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้จากส่วนต่าง ๆ ของต้นชนิดหนึ่ง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเกล็ดปลาช่อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllodium pulchellum (L.) Desv.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เกล็ดลิ่นใหญ่ ลิ่นต้น หญ้าสองปล้อง” ภาคเหนือและภาคใต้เรียกว่า “หญ้าเกล็ดลิ่น” จังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “ลูกหนีบต้น” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “หางลิ่น” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “เกล็ดลิ่นใหญ่” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “กาสามปีกเล็ก เกล็ดลิ้น”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Hedysarum pulchellum L., Desmodium pulchellum (L.) Benth., Meibomia pulchella (L.) Kuntze
ลักษณะของเกล็ดปลาช่อน
เกล็ดปลาช่อน เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในกัมพูชา เวียดนาม ลาว ออสเตรเลียและประเทศไทย มักจะพบทั่วไปในทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ตามพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ ป่าสน ป่าไผ่และชายป่าดิบ
ลำต้น : ลำต้นมีกิ่งก้านแตกแขนงตั้งแต่โคนต้น ปลายกิ่งโค้งลง กิ่งและก้านใบมีขนนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลอ่อนขึ้นหนาแน่น
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกันเป็นรูปฝ่ามือ มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง มีลักษณะเป็นรูปวงรี รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบแหลม มน หรือกลม ขอบใบเรียบแต่บางครั้งเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษไปจนถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนมีขนสั้นนุ่มขึ้นบาง ๆ เมื่อแก่จะเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น ใบย่อยด้านข้าง 2 ใบมีลักษณะคล้ายใบย่อยตรงกลางแต่จะมีขนาดเล็กกว่า โคนใบเบี้ยว เส้นแขนงใบมีข้างละ 6 – 10 เส้น ก้านใบย่อยสั้น มีหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบและมีขน หูใบย่อยเป็นขนแข็งและยาวคล้ายหาง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกประมาณ 3 – 5 ดอก เรียงอยู่บนแกนช่อดอก เป็นช่อกระจะโดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกแต่ละกระจุกจะมีใบประดับคล้ายใบประกบหุ้มไว้ 2 ใบ ใบประดับจะมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา เป็นรูปเกือบกลม ปลายแหลมหรือเว้าตื้น โคนกลมหรือเป็นรูปหัวใจตื้น มีขนทั้งสองด้านและมีใบประดับอีกหนึ่งใบอยู่ปลายสุด ใบประดับหุ้มดอกและติดอยู่จนติดผล โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉก 4 แฉก แฉกบนและแฉกข้างมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ส่วนแฉกล่างจะมีลักษณะเป็นรูปไข่แต่จะแคบและยาวกว่าแฉกอื่น ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบกลางจะเป็นรูปไข่กลับและปลายกลม มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบด้านข้างจะเป็นรูปวงรีแคบ ปลายมนและโคนมีติ่ง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง มีออวุล 2 – 4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียโค้งและที่โคนมีขน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ฝักมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หยักคอดเป็นข้อประมาณ 2 – 4 ข้อ ฝักมีขน มีลวดลายแบบร่างแหชัดเจน ออกดอกเป็นผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม
เมล็ด : เมล็ดเป็นรูปวงรี
สรรพคุณของเกล็ดปลาช่อน
- สรรพคุณจากเปลือกต้น
– รักษาโรคตา แก้ท้องร่วง แก้อาการตกเลือดหากใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม - สรรพคุณจากราก
– เป็นยารักษาอาการผู้ป่วยทางจิต อาการเพ้อ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก อาการชักในเด็กทารก แก้ปวดฟัน แก้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม แก้ปวดท้อง แก้ปวดเส้น แก้ปวดข้อ แก้ปวดหลัง ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– แก้โรคตับพิการ บรรเทาอาการตับทำงานผิดปกติ ตำรายาพื้นบ้านอีสานนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– แก้คุณไสยซึ่งมีอาการผอมแห้ง ใจสั่น บางเวลาเพ้อคลั่งและร้องไห้ ด้วยการนำรากมาผสมกับรากกาสามปีกใหญ่ รากดูกอึ่ง รากโมกมันและรากหางหมาจอก จากนั้นนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม - สรรพคุณจากใบ รักษาแผลพุพอง
– แก้ไข้ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไข้จับสั่น ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม - สรรพคุณจากดอก แก้อาเจียน
- สรรพคุณจากทั้งต้น แก้พยาธิใบไม้ในตับ
– แก้ตับพิการ ตำรายาไทยนำทั้งต้นมาปรุงเป็นยา - สรรพคุณจากรากและเปลือกราก
– แก้ปวด แก้เคล็ดบวม ด้วยการนำรากและเปลือกรากมาตำแล้วพอก
ประโยชน์ของเกล็ดปลาช่อน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำยอดที่มีรสฝาดมันและขมเล็กน้อยมารับประทานเป็นผักสด
2. เป็นไม้มงคล เป็นต้นไม้มงคลซึ่งใช้เมื่อเอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง
3. ใช้ในการเกษตร เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติและสัตว์แทะเล็มอย่างโคกระบือซึ่งจะกินส่วนของใบรวมก้านใบย่อย
คุณค่าทางโภชนาการของใบรวมก้านใบย่อย
คุณค่าทางโภชนาการของใบรวมก้านใบย่อย ให้โปรตีน 16.7% เยื่อใยส่วน ADF 34.47% NDF 41.94% แคลเซียม 0.84% ฟอสฟอรัส 0.24% โพแทสเซียม 1.52% และแทนนิน 3.74%
ข้อควรระวังของเกล็ดปลาช่อน
เปลือกต้นเมื่อนำมาต้มเป็นยาแก้อาการตกเลือดควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ หากใช้ในปริมาณที่มากเกินควรจะเป็นพิษต่อร่างกายได้
เกล็ดปลาช่อน เป็นต้นที่อยู่ในตำรายาพื้นบ้านอีสานและตำรายาไทย ใบมีรสจืดและรากมีรสจืดเฝื่อนเมื่อนำมาต้มเป็นยา มักจะนำยอดมารับประทานเป็นผักสดหรือผักจิ้ม นอกจากนั้นยังเป็นอาหารของสัตว์อย่างโคกระบือได้อีกด้วย เหมาะสำหรับชาวเกษตรที่เลี้ยงสัตว์และยังเป็นไม้มงคลในการเอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง เกล็ดปลาช่อนเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้อาการปวดบวม แก้โรคตับพิการและเป็นยารักษาอาการผู้ป่วยทางจิตได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “เกล็ดปลาช่อน”. หน้า 74.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เกล็ดปลาช่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [14 มิ.ย. 2015].
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “เกล็ดปลาช่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [14 มิ.ย. 2015].