ต้นจิกทะเล
จิกทะเล เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม พบเจอขึ้นได้ตั้งแต่มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ถึงทางภาคเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะโพลีนีเซีย สำหรับประเทศไทยสามารถพบเจอได้ที่ตามป่าชายหาดของฝั่งทะเล ตามเกาะที่ไม่ถูกรบกวนทางภาคใต้ ชื่อสามัญ Putat, Sea Poison Tree, Fish Poison Tree ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Barringtonia asiatica (L.) Kurz ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Mammea asiatica L., Barringtonia butonica J.R.Forst. & G.Forst., Michelia asiatica (L.) Kuntze, Agasta asiatica (L.) Miers, Barringtonia speciosa J.R.Forst. & G.Forst., Agasta indica Miers) อยู่วงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)[2],[3] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น โดนเล (ภาคใต้), อามุง (มาเล, จังหวัดนราธิวาส), จิกเล (ภาคใต้) [2]
ลักษณะจิกทะเล
- ต้น เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ สามารถสูงได้ถึงประมาณ 7-20 เมตร จะแตกกิ่งก้านสาขาออกที่บริเวณเรือนยอดลำต้น เรือนยอดจะมีลักษณะเป็นพุ่มกลมทึบแตกกิ่งต่ำ กิ่งมีขนาดใหญ่จะมีรอยแผล รอยแผลเกิดจากใบที่ร่วงไป เปลือกต้นมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล สีเทา จะแตกเป็นร่องตามแนวยาวและจะมีช่องระบายอากาศ มีเนื้อไม้เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ด แพร่พันธุ์ด้วยผลลอยตามน้ำ มีอัตราการเติบโตปานกลางถึงเร็ว สามารถขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ที่กว้าง [1],[2],[3]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงเวียนสลับไปตามข้อต้น ใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปมนรี รูปไข่กลับ ที่ปลายใบจะมนเว้า ส่วนที่โคนใบจะสอบเข้าหาก้านใบ ที่ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 10-18 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-38 เซนติเมตร มีแผ่นใบสีเขียว เนื้อใบมีลักษณะหนาเกลี้ยงและเป็นมันวาวที่ด้านบน มีเส้นแขนงใบอยู่ข้างละ 12-14 เส้น จะนูนทั้งสองด้าน ไม่มีก้านหรือมีก้านใบยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2],[3]
- ดอก ดอกจะออกเป็นช่อ เป็นช่อแบบช่อกระจะที่ตามส่วนยอดของลำต้น มีลักษณะตั้งตรง ในช่อหนึ่งมีดอกอยู่ประมาณ 7-8 ดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 2-15 เซนติเมตร แกนช่อหนา ดอกจะเป็นสีขาวและดอกมีกลิ่นหอม เกล็ดหุ้มยอดมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร จะมีใบประดับเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยเป็นรูปสามเหลี่ยม มีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวยสั้น มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงจะติดกับตาดอก บานแยกเป็น 2 ส่วน จะมีขนาดไม่เท่ากัน เป็นรูปรี ติดทน สามารถยาวได้ถึงประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ที่ปลายจะเป็นติ่ง มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีขาวอมชมพู มีกลีบดอกอยู่ 4 กลีบ ติดอยู่ที่โคนหลอดเกสรเพศผู้ เป็นรูปรี ที่ปลายกลีบจะมน ที่ขอบมักจะม้วนเข้า มีความยาวประมาณ 4.5-6.5 เซนติเมตร ดอกจะมีเกสรเพศผู้เป็นจำนวนมาก มีสีม่วง สีแดง หรือสีชมพู เรียงกันเป็น 6 วง สามารถยาวได้ถึงประมาณ 9.5 เซนติเมตร วงในจะเป็นหมัน มีความยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ที่โคนก้านเกสรติดเป็นหลอด สามารถยาวได้ถึงประมาณ 1.5 เซนติเมตร จานฐานดอกมีลักษณะเป็นวง ที่ขอบจะหยักมน สามารถสูงได้ถึงประมาณ 1 มิลลิเมตร จะมีรังไข่อยู่ที่ใต้วงกลีบ มีอยู่ 4 ช่อง แต่ละช่องจะมีออวุลอยู่ประมาณ 2-6 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นรูปแถบ สามารถยาวได้ถึงประมาณ 10-11 เซนติเมตร ที่ยอดเกสรจะเป็นตุ่มมนขนาดเล็ก เวลาที่ดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร ดอกบานช่วงเวลากลางคืน และโรยช่วงเวลากลางวัน ออกดอกช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[3]
- ผล เป็นผลแห้งจะไม่แตก ผลเป็นรูปพีระมิดสี่เหลี่ยม ที่ตรงโคนผลเว้า ผลมีลักษณะเป็นสีเขียวเป็นมัน ผลโตกว้างประมาณ 8.5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8.5-11 เซนติเมตร มีผนังผลเป็นเส้นใยมีกากเหนียวหุ้มอยู่ มีความหนาคล้ายกับฟองน้ำ จึงทำให้สามารถลอยน้ำได้ มีผนังผลด้านในที่แข็ง มีเมล็ดอยู่ในผลจำนวน 1 เมล็ด
- เมล็ดเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร (เมล็ด มี fixed oil คือ hydrocyanic acid, glycoside barringtonin 3.27%, olein, saponin, baringronin, palmitin)[1],[2],[3]
สรรพคุณจิกทะเล
1. สามารถใช้เมล็ดเป็นยาขับพยาธิออกจากร่างกายได้ (เมล็ด)[1],[2]
2. สามารถใช้เป็นยารักษาและบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ (ใบ, เปลือก, ผล)[1],[2]
3. เปลือกผล เนื้อของผล เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยทำให้คนที่นอนไม่หลับนอนหลับได้ ถ้าทานเยอะ ๆ จะช่วยทำให้นอนหลับสบาย (เปลือกผล, เนื้อผล)[1],[2]
ประโยชน์จิกทะเล
1. ใบบางท้องถิ่นจะเอาผลแห้งมาจุดเป็นยาไล่ยุง
2. สามารถปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์ ปลูกให้ร่มเงาได้ นิยมปลูกในพื้นที่กว้าง[2]
3. สามารถใช้เนื้อผล เปลือกผลเป็นยาเบื่อปลาได้[1]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “จิกทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [09 ม.ค. 2015].
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “จิกเล”. หน้า 227-228.
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “จิกทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [09 ม.ค. 2015].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/