ผักขมหิน
ผักขมหิน (Spreading hogweed) หรือ “ผักโขมหิน” เป็นไม้ล้มลุกที่เลื้อยไปตามที่รกร้างและข้างถนนในประเทศไทย คนยากจนในบางประเทศมักจะนิยมนำใบมาทานเป็นผักสด ส่วนในประเทศออสเตรเลียนั้นถือเป็นพืชผักชั้นดีที่ใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงวัวและแกะ นอกจากนั้นส่วนต่าง ๆ ของต้นยังสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร จากที่เห็นภายนอกพบว่าผักขมหินนั้นอยู่บนพื้นถนนดูไม่มีค่าหรือประโยชน์อะไร ทว่าหากใครรู้สรรพคุณของวัชพืชชนิดนี้แล้วอาจจะเปลี่ยนมุมมองไปเลยก็ได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักขมหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boerhavia diffusa L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Pigweed” “Spreading hogweed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักขมหิน” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักเบี้ยหิน ปังแป ผักปังแป” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักปั๋งดิน” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “ผักขมฟ้า” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “นังกู่แซ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักเบี้ยใหญ่ ผักโหมฟ้า ผักโขมหิน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บานเย็น (NYCTAGINACEAE)
ลักษณะของผักขมหิน
ผักขมหิน เป็นไม้ล้มลุกที่พบขึ้นทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคตามที่รกร้างและข้างถนน
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะทอดเลื้อยขนานไปตามพื้นดินและชูยอดขึ้น มีการแตกกิ่งก้านมาก ผิวเรียบหรือมีขนบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะต้นกลมเป็นสีเขียวปนแดง ยอดอ่อนมีขน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน แผ่นใบมีขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียวค่อนข้างหนา ท้องใบมักมีสีอ่อนกว่าหลังใบ มีต่อมสีแดงตามแนวขอบใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกคล้ายซี่ร่มรวมกันเป็นช่อแยกแขนง โดยจะออกบริเวณซอกใบและที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกมีขน ดอกย่อยมีหลายดอก กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ดอกมีทั้งสีขาว สีชมพูและสีแดง มีกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ตรงปลายแยกออกเป็น 10 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 2 – 3 อัน ยื่นพ้นกลีบรวมเล็กน้อย
ผล : เป็นผลแห้งและมีส่วนโคนกลีบรวมหุ้มอยู่ ลักษณะของผลเป็นรูปกระบอง ขอบผลเป็นสัน 5 สัน มีต่อมทั่วไป ผิวผลมีขนเมื่อจับดูจะรู้สึกเหนียวมือ
สรรพคุณของผักขมหิน
- สรรพคุณของผักขมหิน มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด บำรุงหัวใจ ต้านการชัก ช่วยขับปัสสาวะ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดบิลิรูบินในพลาสมา อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้องกับผลของเอสโตรเจน
- สรรพคุณจากดอก เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยขับโลหิต เป็นยาแก้ลมอัณฑพฤกษ์ ช่วยแก้อาการปวดท้อง เป็นยาขับปัสสาวะ
- สรรพคุณจากต้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยทำให้คลื่นไส้อาเจียน เป็นยาระบาย เป็นยาขับปัสสาวะ
- สรรพคุณจากราก ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก เป็นยาแก้ฝีซ้อนและตาขาว
- สรรพคุณจากใบ
– รักษาฝี โดยตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานนำใบมาตำแล้วพอก - สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยแก้ดีพิการ ช่วยแก้ฟกช้ำบวมในท้อง
- สรรพคุณจากต้น ราก ใบและดอก ช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ
- สรรพคุณจากต้น ราก ใบและทั้งต้น เป็นยาแก้ลม ขับลม ทำให้เรอ
ประโยชน์ของผักขมหิน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบทานเป็นผักสดลวกจิ้มกับน้ำพริกได้ นิยมเฉพาะคนที่มีฐานะยากจนในหลายประเทศ
2. ใช้ในการเกษตร ในประเทศออสเตรเลียถือว่าเป็นวัชพืชชั้นดีที่ใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงวัวและแกะ
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักขมหิน
สารที่พบในผักขมหิน พบสาร alanine, arachidic acid, aspartic acid, behenic acid, boeravinone A, B, C, D, E, borhavine, flavone, glutamic acid, histidine, leucine, methionine, oleic acid, oxalic acid, palmitic acid, proline, punarnavine, serine, theonine, tyrosine, ursolic acid, valine, xylose
การทดลองของผักขมหิน
- จากการทดลองโดยใช้สารสกัดทั้งต้นด้วยน้ำและเอทานอลมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่า สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
- เมื่อปี ค.ศ. 1996 ณ ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองในกระต่ายที่เป็นเบาหวาน จากการกระตุ้นด้วยสาร alloxan โดยทำการเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน (tolbutamide, glibenclamide) พบว่าภายในเวลา 8 ชั่วโมง สามารถให้ผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เทียบเท่ากับยา tolbutamide
- จากการศึกษาฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์และฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนของผักขมหินในเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF – 7 โดยทดสอบกับสารสกัดเมทานอลของผักขมหิน (BME) ความเข้มข้นตั้งแต่ 20 – 320 ไมโครกรัม/ลิตร สรุปได้ว่าผักขมหินน่าจะมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้องกับผลของเอสโตรเจน
- การทดสอบความเป็นพิษ ทำการสกัดทั้งต้นด้วยน้ำและเอทานอล พบว่า ในขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้คือ 1 กรัมต่อกิโลกรัม ถ้าใช้สารสกัดจากรากด้วยน้ำ พบว่า ขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 298 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ข้อควรระวังของผักขมหิน
สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน เพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้
ผักขมหิน หรือเรียกอีกอย่างว่า “ผักโขมหิน” เป็นวัชพืชบนพื้นดินที่มีความสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ คาดว่าคนทั่วไปคงไม่คาดคิดว่าเจ้าต้นเล็กนี้ที่ขึ้นบนถนนหรือที่รกร้างจะสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ไม่เพียงแค่นั้นยังมีประโยชน์ได้อีกมากมาย ผักขมหินมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอกและต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นยาระบาย ช่วยบำรุงเลือดและบำรุงหัวใจ ถือเป็นต้นที่ดีต่อระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นอย่างมาก
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ผักโขมหิน”. หน้า 107-108.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักขมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [20 พ.ย. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ผักขมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [20 พ.ย. 2014].
โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “ผักขมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.lrp.ac.th. [20 พ.ย. 2014].
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านมะเร็งของผักโขมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [20 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/