ควินิน

ควินิน เปลือกของต้นมากสรรพคุณ เป็นยาเย็น ช่วยรักษาไข้มาลาเรียได้
ควินิน เป็นไม้ยืนต้นดอกมีสีขาวหรือสีชมพู ผลเป็นรูปทรงกระสวย ผลสุกสีแดงอมน้ำตาล

ควินิน (Quinine) เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในเอกวาดอร์และเปรู มีดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพูและมีผลเป็นรูปทรงกระสวย สามารถนำส่วนของเปลือกต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรและทำเหล้าหรือไวน์ที่มีรสขมได้ มีจุดเด่นอยู่ที่ความสามารถในการรักษาไข้มาลาเรียได้ดีมาก มักจะนิยมนำส่วนของใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบผักสดร่วมกับลาบจะทำให้มีรสชาติดีขึ้น ในประเทศไทยได้มีการปลูกสวนต้นควินินที่ดอยสุเทพ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนนี้ปลูกเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทำยาเพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของควินิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : (ควินินเปลือกแดง) Cinchona pubescens Vahl, (ควินินเปลือกเหลือง) Cinchona calisaya Wedd.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Quinine”
ชื่อท้องถิ่น : คนทั่วไปเรียกว่า “ซิงโคนา” คนจีนเรียกว่า “กิมโกยนับ กิมโกยเล็ก” จีนกลางเรียกว่า “จินจีเล่อ จินจีน่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เข็ม (RUBIACEAE)
ชื่อพ้อง : (ควินินเปลือกแดง) Cinchona succirubra Pav. ex Klotzsch (ควินินเปลือกเหลือง) Cinchona ledgeriana (Howard) Bern.Moens ex Trimen

ลักษณะของควินิน

ควินิน เป็นไม้ยืนต้นที่เขียวตลอดปี มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขาแอนดีสของเอกวาดอร์และเปรู
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรงและมีการแตกกิ่งก้าน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันบริเวณปลายกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปวงรี ใบมีสีเขียว ใบอ่อนมีสีแดง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อจำนวนมากที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีขาวหรือสีชมพู กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นหลอดสั้นที่มีตรงปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อันและเกสรเพศเมีย 1 อัน
ผล : ผลเป็นรูปทรงกระสวย เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมน้ำตาล แต่พอแห้งแล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 25 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นแผ่นบางสีน้ำตาลแดง

สรรพคุณของควินิน

  • สรรพคุณจากควินิน ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยเจริญอาหาร เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน รักษาหัวใจเต้นเร็ว แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
    – แก้ไข้มาลาเรีย ด้วยการนำเปลือกต้นประมาณ 3 – 6 กรัม มาต้มกับน้ำกินหรือบดเป็นผงผสมทาน หรือนำเปลือกแห้งประมาณ 3 กรัม ผสมกับเปลือกอบเชยประมาณ 1.5 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำกิน
    – แก้อาการเมาค้าง ด้วยการนำเปลือกต้นแห้งประมาณ 3 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
    – แก้พิษสุราเรื้อรัง ด้วยการนำเปลือกต้นประมาณ 5 – 8 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
    – แก้ปากเจ็บ แก้เจ็บคอ ด้วยการนำเปลือกต้นแห้งประมาณ 3 – 6 กรัม มาต้มกับน้ำแล้วใช้อมบ้วนปากกลั้วคอ ตอนเช้าและเย็น

ประโยชน์ของควินิน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่ม ใบอ่อนนำมารับประทานในรูปแบบของผักสดร่วมกับลาบจะทำให้มีรสชาติดีขึ้น เปลือกต้นทำเหล้าหรือไวน์ที่มีรสขมได้
2. เป็นส่วนประกอบของยา ในประเทศไทยมีการปลูกทำสวนป่าต้นควินินที่จังหวัดเชียงใหม่บนดอยสุเทพ พบว่า ควินินมีปริมาณของอัลคาลอยด์ในเปลือกสูงจึงสามารถนำมาใช้ทำยาได้โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
3. เป็นยาทาภายนอก ชาวอินเดียบางคนนำควินินเป็นยาบำรุง ยาทากันแดดและกันแมลง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของควินิน

  • สารที่พบในควินิน ส่วนของเปลือกต้น รากและเมล็ด พบสาร อัลคาลอยด์ประมาณ 26 ชนิด ซึ่งมีสารที่สำคัญ ได้แก่ ควินิน (Quinine) ถือเป็นสารที่สำคัญมากที่สุด และ Cinchonine, Cinchonidine, Quinidine ส่วน Tataquin ตามมา
  • จากการทดลอง พบว่า ควินินนั้นสามารถฆ่าเชื้อไข้มาลาเรียได้เฉพาะเชื้อที่อยู่ในเลือดเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อที่อยู่ในตับได้ และการรักษาไข้มาลาเรียนั้นจะรักษาอาการที่แสดงอาการวันเว้นวันได้ดีกว่าการรักษาโรคมาลาเรียที่แสดงอาการ 3 – 4 วันแล้วหายไปแล้วก็กำเริบขึ้นมาใหม่

ข้อควรระวังของควินิน

1. ห้ามใช้เป็นยากับคนที่เป็นไข้มาลาเรียที่มีอาการปัสสาวะเป็นเลือดหรือปัสสาวะเป็นสีดำ
2. สตรีมีครรภ์และคนที่เป็นโรคหัวใจขั้นรุนแรงห้ามใช้เด็ดขาด เพราะควินินมีฤทธิ์กดกล้ามเนื้อหัวใจและทำให้กล้ามเนื้อมดลูกสตรีมีครรภ์หด
3. ในการใช้รักษาโรคไข้มาลาเรียไม่ควรใช้มากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการ “ซิงโคนิซึ่ม (Cinchonism)” ซึ่งเป็นอาการหูอื้อขั้นร้ายแรงถึงขนาดได้ยินเสียงกระดิ่งแบบประสาทหลอน

ควินิน เป็นต้นที่มีส่วนของเปลือกอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยาและประโยชน์ในการนำมาใช้เป็นอย่างมาก เป็นส่วนที่มีรสขมเผ็ดและเป็นยาเย็น นอกจากจะเป็นยาแล้วยังนำใบอ่อนมารับประทานร่วมกับลาบได้ ควินินมีสรรพคุณทางยาจากส่วนของเปลือกต้นเป็นหลัก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคไข้มาลาเรีย ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ไข้ตัวร้อนและแก้อาการปวดเมื่อยได้ ค่อนข้างเป็นต้นที่นิยมสำหรับชาวอินเดียเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ควินิน (Khwi Nin)”. หน้า 76.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ควินิน”. หน้า 189-191.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ควินิน”. หน้า 158.
ไทยเกษตรศาสตร์. “ควินิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [23 ม.ค. 2015].
ผู้จัดการออนไลน์. ( สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท.). “ประวัติความเป็นมาของควินิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [23 ม.ค. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Cinchona succirubra Pav. ex Klotzsch”. อ้างอิงใน : สยามไภษัชยพฤกษ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [23 ม.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/