สิ่งที่ผู้สูงวัยควรรู้

0
3244
สิ่งที่ผู้สูงวัยควรรู้
ผู้สูงวัยหรือผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมโทรมถดถอยในด้านต่างๆทั้งร่างกายและจิตใจ
สิ่งที่ผู้สูงวัยควรรู้
ผู้สูงวัยหรือผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมโทรมถดถอยในด้านต่างๆทั้งร่างกายและจิตใจ

ผู้สูงวัย

ผู้สูงวัย หรือผู้สูงอายุ ( Elderly person ) คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เป็นที่เคารพรักของลูกหลาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของทุกคนในครอบครัว เพื่อเป็นการแสดงถึงคุณค่าของผู้สูงอายุและให้คนทั่วไปได้ตระหนัก องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น วันผู้สูงอายุสากล หรือ International Day of Older Persons สำหรับประเทศไทยเรานั้น คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น วันผู้สูงอายุ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย เป็นการที่ทุกคนในครอบครัวอยู่พร้อมหร้อมหน้ากันและมีการ ทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่

สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องเตรียมตัว

ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมโทรมถดถอยในด้านต่างๆทั้งร่างกายและจิตใจ จึงต้องมีการปรับตัวให้สมวัยดังนี้

1. การเตรียมทางด้านร่างกาย ผู้สูงอายุต้องยอมรับสภาพเสื่อมถอยของร่างกาย และต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นอยู่ โดยการลดภาระหน้าที่ให้น้อยลง อย่าหักโหก ควรทำงานที่ให้ความเพลิดเพลินและกระจายงานที่รับผิดชอบไปสู่ลูกหลาน หากไม่สบายให้รีบไปหาหมอ อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนที่ทำให้เกิดความเครียดทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสนใจในสิ่งจำเป็นพื้นฐานของตนเอง ได้แก่ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย สุขอนามัย การออกกำลังกาย และการพักผ่อน

2. การเตรียมทางด้านจิตใจ ผู้สูงอายุต้องเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ฝึกตนให้อยู่ในหลักธรรม ทำตนให้เป็นที่เคารพของคนทั่วไป ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ใช้จ่ายให้พอดีกับรายรับ และหากิจกรรมที่ชื่นชอบทำ

3. การเตรียมทางด้านสังคม ผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักอยู่ติดบ้านมากขึ้น ส่วนใหญ่ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกห่อเหี่ยวลงทุกวัน ดังนั้น ผู้สูงอายุต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน ไม่ยึดถือตัวตน ฟังความคิดเห็นของคนอื่น สนใจสิ่งใหม่ๆ คบเพื่อนต่างวัยเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ออกสังคมบ้างเป็นครั้งคราว หรือเข้าร่วมชมรมผู้สูงอายุที่อยู่ใกล้บ้าน รวมทั้งเตรียมพร้อมทางด้านกฎหมาย โดยควรทำพินัยกรรมทิ้งไว้ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ เพื่อให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของตนเอง

การดูแลผู้สูงอายุ

1. อาหาร ผู้สูงอายุควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และไขมัน เน้นทานโปรตีนจากปลา ไข่แดงไม่ควรเกินวันละ3ฟองต่อสัปดาห์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2. ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกาย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ ฝึกกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นร่างกาย เช่น ยืดเหยียด รำไทเก็ก รำไม้พลอง โยคะ เดินเร็ว ว่ายน้ำ เป็นต้น ป้องกันการพลัดตกหกล้ม
3. อารมณ์ ผู้สูงอายุต้องควบคุมอารมณ์ ความนึกคิด ความเข้าใจตนเองถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ปล่อยวางเรื่องต่าง ๆ ไม่ยึดติด ทำจิตใจให้ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เครียด
4. สุขอนามัย ระบบขับถ่าย และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ทานอาหารที่มีประโยชน์หลีกเลี่ยง เหล้า บุหรี่ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ
5. ทำกิจกรรม หรืองานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เข้าวัดฟังธรรม เข้าร่วมชมรมต่างๆ พบปะสังสรรค์กับเพื่อนผู้สุงวัย

ดังนั้น ลูกหลานควรเอาใจใส่ดูแลด้วยความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุก็ต้องเปิดใจ ไม่ยึดติดในตัวตน ใช้ชีวิตอย่างสงบ เรียบง่าย สุขุม ยินดีในสิ่งที่มี ฝึกสมาธิ ฟังธรรมเพื่อให้จิตใจสงบผ่อนคล้าย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม