การดูแลสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน
เด็กวัยก่อนเรียน หรือปฐมวัย คือ เด็กที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 2-6 ปี ซึ่งมีพัฒนาการรูปร่าง จินตนาการ การสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ต้องให้ความใกล้ชิดมาก ๆ

เด็กวัยก่อนเรียน หรือปฐมวัย

เด็กวัยก่อนเรียน หรือปฐมวัย (Early Childhood) คือ เด็กที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 2-6 ปี ซึ่งจะเริ่มมีพัฒนาการทางด้านรูปร่าง จินตนาการ การสื่อสารเพิ่มมากขึ้นและมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป จากอ้วนเตี้ยไปผอมสูง แขนขายาว ผู้ดูแลต้องใส่ใจเรื่องโภชนาการอาหารให้เหมาะสมให้เด็กทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

การดูแลสุขภาพเด็กวัยก่อนเรียนให้พร้อมก่อนเข้าเรียน

1. ด้านโภชนาการ

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเดินต้องใช้พลังงานในการเล่นมาก โภชนาการในช่วงนี้จึงต้องการอาหารจำพวกโปรตีน และอาหาร 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย ได้แก่ ข้าวหรือแป้ง เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียวและผักอื่น ๆ ผลไม้ ไข่ (วันละฟอง) ไขมัน เช่น กะทิ น้ำมันหมู ฯลฯ เป็นต้น
1.1 ปลูกฝังการรับประทานอาหาร เริ่มฝึกวินัยให้ช่วยตัวเองในการกิน ควรให้ลูกได้ลองกินอาหารที่หลากหลาย และอย่าปล่อยให้เด็่กกินขนมจุบจิบ เช่น ลูกอม ขนมกรุบกรอบ เพราะเด็กจะรสชาติเค็ม ๆ หวาน ๆ ชอบกินแต่ขนม กินข้าวน้อยลง ก็จะทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา
1.2 ให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย
1.3 ควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 1-2 แก้ว เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของเด็กและเพิ่มแคลเซียมให้กระดูกและฟัน
1.4 ใช้เกลือหรือน้ำตาลปรุงรสอาหารเพียงเล็กน้อย

2. ด้านสุขภาพในช่องปาก

โรคฟันผุเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยก่อนเรียน พบได้ตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้นในช่วงขวบปีแรกจนถึง 3 ปี สาเหตุอาจเกิดจากการกินของหวาน
2.1 ดูแลทำความสะอาดช่องปากให้ถูกวิธี แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และช่วง 1 ขวบต้องตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์ครั้งแรก หรือ ใช้ฟลูออไรด์เคลือบฟันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ
2.2 ลดกินของหวานในปริมาณต่อวันให้น้อยลง เพราะหากฟันผุแล้วต้องถอนออกซึ่งจะทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ตามปกติ มักไม่อยากกินอาหาร สูญเสียความมั่นใจในการพูดหรือยิ้ม
2.3 ปรับพฤติกรรมด้านการกินหลีกเลี่ยงการให้ขนมกรุบกรอบ ขนมถุง ลูกอม เยลลี่ น้ำหวาน น้ำอัดลม ฝึกรับประทานอาหารให้เป็นเวลา รวมถึงการดูดนิ้ว ติดจุกนม กัดเล็บ

การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของเด็กก่อนวัยเรียน

ผู้ปกครองควรส่งเสริมพัฒนาการด้านพื้นฐาน เพื่อให้เด็กสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆได้ เน้นให้เด็กช่วยเหลือตนเอง เช่นการทานอาหาร การแต่งตัว เป็นต้น เพื่อให้เด็กปรับตัวในสังคมได้

1. ด้านร่างกาย (Physical หรือ psycho-motor development) หมายถึง ความสามารถของร่างกายในการทรงตัวในอิริยาบถต่างๆ และการเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การใช้สัมผัสรับรู้และการใช้ตาและมือประสานกันในการทำกิจกรรมต่างๆ
2. ด้านสติปัญญา (Cognitive development) หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์
ระหว่างสิ่งต่างๆกับตนเอง การรู้คิด รู้เหตุผล และความสามารถในการแก้ปัญหาซึ่งแสดงออกด้วยการใช้ภาษาสื่อความหมายและการกระทำ ดังนั้นพัฒนาการด้านภาษาและสื่อความหมาย การใช้ตากับมือทำงานประสานกันเพื่อแก้ปัญหาและความสามารถในการปรับตัว จึงมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านสติปัญญา
3. ด้านจิตใจอารมณ์ (Emotional development) หมายถึง ความสามารถในด้านการแสดงความรู้สึก เช่น พอใจ ไม่พอใจ รัก ชอบ โกรธ เกลียด กลัว และเป็นสุข ความสามารถในการแยกแยะ ลึกซึ้ง และควบคุมการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสมเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนการสร้างความรู้สึกที่ดีและนับถือตนเอง บางครั้งจึงมีการรวมพัฒนาการทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมเป็นกลุ่มเดียวกัน
4. ด้านสังคม (social development) หมายถึง ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีทักษะการปรับตัวในสังคม คือ สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตน ร่วมมือกับผู้อื่น มีความรับผิดชอบ และมีความเป็นตัวของตัวเอง สำหรับเด็กหมายความรวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติตัวเหมาะสมกับกาลเทศะในบริบทเชิงสังคมและวัฒนธรรมของสังคมตนเอง และวัฒนธรรมสากล
5. ด้านจิตวิญญาณ (spiritual development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความสามารถในการรู้จักคุณค่าของชีวิตของตนเอง มีกำลังใจในการควบคุมตนเองให้เลือกดำรงชีวิตในทางที่ชอบที่ควรและสร้างสรรค์ นำมาสู่การรู้จักคุณค่าชีวิตของคนอื่นๆ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และพัฒนาการด้านคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่ดีงาม

หลักการส่งเสริมสุขภาพของเด็กวัยก่อนเรียน

1. ด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพ เป็นการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยของเด็ก เช่น การดูแลสุขภาพ รับวัคซีน และพบแพทย์
2. ด้านโภชนาการ เป็นการส่งเสริมด้านอาหารและโภชนาการให้เด็กได้อย่างครบถ้วน หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์
3. ด้านการออกกำลังกาย เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆภายในร่างกาย ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อของเด็ก
4. ด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ สามารถทำได้โดยการให้กำลังใจ ใกล้ชิด ฝึกฝนให้ช่วยเหลือตนเองให้มากขึ้น
5. ด้านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ควรส่งเสริมให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆให้มากขึ้น เช่น พาไปพบปะกับญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง
6. ด้านการจัดการกับความเครียด กิจกรรมการคลายเครียดสามารถกระทำได้โดยการเล่านิทานหรือร้องเพลงให้เด็กฟัง และควรให้ได้รับการนอนหลับทั้งกลางวันและกลางคืนไม่น้อยกว่า 8-10 ชั่วโมง

เด็กวัยก่อนเรียนต้องการอาหารที่ให้พลังงานมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง และอาหารควรมีความหลากหลายครบถ้วนทุกมื้อ เพื่อเสริมสร้างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม