ปีบทอง เป็นไม้มงคลดอกงามและตัวช่วยเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ของหมอพื้นบ้าน

0
1862
ปีบทอง เป็นไม้มงคลดอกงามและตัวช่วยเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ของหมอพื้นบ้าน
ปีบทอง หรือกาสะลอง เป็นไม้ยืนต้น มีดอกสีเหลืองหรือส้ม คล้ายกับระฆัง กลีบดอกยาวและเชื่อมติดกัน
ปีบทอง เป็นไม้มงคลดอกงามและตัวช่วยเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ของหมอพื้นบ้าน
ปีบทอง หรือกาสะลอง เป็นไม้ยืนต้น มีดอกสีเหลืองหรือส้ม คล้ายกับระฆัง กลีบดอกยาวและเชื่อมติดกัน

ปีบทอง

ปีบทอง (Tree jasmine) หรือเรียกกันว่า “กาสะลอง” เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ทั่วไป มีดอกสีเหลืองหรือส้มที่มองไกล ๆ แล้วต้องสะดุดตา ส่วนมากมักจะได้ยินคำว่ากาสะลองมากกว่าปีบทอง เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเชียงรายและยังถูกคัดเลือกให้เป็นพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อีกทั้งยังเป็นพืชที่ใช้ปลูกประดับสถานที่และยังมีสรรพคุณทางยาที่ต่อร่างกาย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของปีบทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mayodendron igneum (Kurz) Kurz
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Tree jasmine”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ปีบทอง” ภาคเหนือเรียกว่า “สะเภา สำเภา หลามต้น อ้อยช้าง” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “จางจืด” จังหวัดเชียงรายเรียกว่า “กาซะลองคำ กาสะลองคำ แคชาญชัย” จังหวัดลำปางเรียกว่า “แคะเป๊าะ สำเภาหลามต้น” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “กากี” ม้งเรียกว่า “ปั้งอ๊ะมี” เมี่ยนเรียกว่า “เดี้ยงด่งเบี้ยง” คนทั่วไปเรียกว่า “กาสะลองคำ”
ชื่อภาษาจีน : huo shao hua
ชื่อวงศ์ : วงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)
ชื่อพ้อง : Radermachera ignea (Kurz) Steenis

ลักษณะของปีบทอง

ปีบทอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่ทางภาคใต้ในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพชรบุรี อุทัยธานี ขึ้นไปถึงทางภาคเหนือของประเทศ
ลำต้น : มีลักษณะเป็นเปลาตรง ตามกิ่งก้านและตามลำต้นจะมีรูระบายอากาศกระจายอยู่ทั่ว ต้นมีเรือนยอดเป็นรูปใบหอกหรือไข่ ทรงพุ่มแน่นทึบ กิ่งก้านแผ่ออกเป็นชั้น ๆ
เปลือกต้น : เป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นลายประสานกันคล้ายตาข่าย เปลือกต้นขรุขระเป็นเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสามชั้นเรียงตรงข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่แกมรูปหอก รูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบแหลมแต่บางครั้งก็ยาวคล้ายหางหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมสอบ ขอบใบเรียบบิดเป็นคลื่นเล็กน้อยและมักจะมีต่อมอยู่ที่โคนด้านหลังของใบ แผ่นใบมีลักษณะเป็นมัน ท้องใบมีต่อมเล็ก ๆ อยู่ประปรายทั่วไป
ดอก : เป็นทรงกระบอกที่มีด้านหนึ่งเปิดออกคล้ายกับระฆัง กลีบดอกยาวและเชื่อมติดกัน มีสีส้มผสมเหลืองเล็กน้อย ก้านดอกสั้นและมีขนอ่อนปกคลุม ดอกจะออกรวมกันเป็นช่อเล็กและกระจายตัวอยู่ตลอดแนวของกิ่งก้านและลำต้น
ผล : มีผลเป็นฝักแห้งเรียวยาวคล้ายดาบ ผลอ่อนฝักจะเหยียดตรงแต่เมื่อแก่จะเริ่มบิดเป็นเกลียวแล้วแตกออก
เมล็ด : เมล็ดด้านในผลนั้นแห้งและบางจนสามารถปลิวไปตามลม

สรรพคุณของปีบทอง

  • สรรพคุณจากปีบทอง สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase
  • สรรพคุณจากลำต้น แก้ซางในเด็กที่มักจะมีเม็ดขึ้นในปากและลำคอ แก้ลิ้นเป็นฝ้า แก้อาการตัวร้อน แก้อาเจียน เป็นยาแก้ท้องขึ้นและท้องเดิน
    – แก้โรคซาง ด้วยการใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นมาฝนกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น รักษาอาการปวดฟัน เป็นยาใส่แผล รักษาโรคผิวหนังและโรคเรื้อน
    – เป็นยาลดไข้ เป็นยาแก้ท้องเสีย ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – แก้อาการเมายา ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วอม
  • สรรพคุณจากใบ
    – รักษาแผลสด แผลถลอกและช่วยห้ามเลือด ด้วยการนำใบมาคั้นแล้วนำน้ำมาทาหรือพอกแก้อาการ

ประโยชน์ของปีบทอง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกนำมารับประทานโดยการทอดหรือใช้ลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ดอกสามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมนำใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามที่สาธารณะ
4. เป็นความเชื่อและเป็นไม้มงคล มีความเชื่อว่า “ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้รับชื่อเสียงในทางที่ดี มีเกียรติจากหน้าที่การงาน และยังส่งเสริมให้เก็บเงินเก็บทอง” สื่อถึง “ความแข็งแกร่ง ความก้าวหน้าและความร่มรื่น ช่วยให้เกิดความปรองดองในครอบครัวได้ดี”

ปีบทอง เป็นไม้มงคลที่สวยงามและมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกาย มีชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นตัวช่วยเลิกเหล้าและบุหรี่ ปีบทองอยู่ในสูตรตำรับยาพื้นบ้านของทางภาคเหนือที่ถูกใช้กันมาแต่โบราณ เป็นการบรรเทาอาการเมาเหล้าและสารเสพติดบางชนิดได้อย่างน่าทึ่ง แม้ว่าจะไม่มีการรองรับจากทางแพทย์แต่เป็นสมุนไพรพื้นบ้านของชาวชนบทมานาน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. “กาซะลองคำ”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 181.
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กาสะลองคำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [04 ก.พ. 2014].
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กาซะลองคำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [04 ก.พ. 2014].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 543, วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556. “กาซะลองคำ พันธุ์ไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคล จังหวัดเชียงราย”. (ผศ. วรรณา กัลยาณะวงศ์ ณ อยุธยา).
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Radermachera ignea (Kurz) Steenis”. อ้างอิงใน: หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ หน้า 61, หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา หน้า 181. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [04 ก.พ. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “กาสะลองคํา”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [04 ก.พ. 2014].
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “Radermachera ignea (Kurz) Steenis”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [04 ก.พ. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กาสะลอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [04 ก.พ. 2014].