เถาคัน หรือเถาคันแดง ช่วยฟอกเลือด ขับพยาธิไส้เดือน ขับปัสสาวะและแก้นิ่ว
เถาคัน เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง เถามีสีเขียวขนาดเล็ก ดอกออกเป็นช่อใหญ่สีแดง ผลกลมสีเขียวเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ

เถาคัน

เถาคัน (Virginia creeper) เป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่มักจะขึ้นตามป่า ส่วนมากมักจะรู้จักกันจากการนำลูกเถาคันมาใส่ในแกงส้มจนกลายเป็นเมนู “แกงส้มลูกเถาคัน” สามารถพบได้ 2 ชนิด แต่ละชนิดของเถาคันจะแยกตามสี ได้แก่ เถาคันแดงและเถาคันขาว ในที่นี้เถาคันแดงจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากกว่า นอกจากนั้นยอดอ่อนของต้นจะมีรสจืดและสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเถาคัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parthenocissus quinquefolia (L.) Planch.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Virginia creeper” “True Virginia creeper” “Victoria creeper” “Five – leaved ivy” “Five – finger”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เครือหุนแป เถาคันแดง เถาคันขาว” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “หุนแปแดง หุนแปขาว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์องุ่น (VITACEAE)
ชื่อพ้อง : Ampelopsis hederacea DC.

ลักษณะของเถาคันแดง

เถาคันแดง เป็นพรรณไม้เลื้อยเนื้อแข็ง
เถา : เถามีสีเขียวขนาดเล็ก มีมือเกาะแตกจากข้อไม่มีขน
ใบ : เป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 หรือ 5 ใบ แตกจากก้านใบจุดเดียวกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบค่อนข้างแหลม โคนใบป้าน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยหรือเป็นคลื่น แผ่นใบเรียบ เส้นกลางใบนูนจนเห็นได้ชัด แผ่นใบเป็นสรเขียวเข้มและมันเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ดอกแตกออกจากก้านช่อดอกหลักจุดเดียวกัน ออกเป็นช่อใหญ่สีแดง ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ผลมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นมัน ผลดิบเป็นสีเขียว ผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ถ้าบีบจะมีน้ำออกเป็นสีม่วงแดง ออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม

สรรพคุณของเถาคัน

  • สรรพคุณจากเถา
    – เป็นยารักษาโรคกษัย เป็นยาฟอกเลือด เป็นยาขับเสมหะและขับลม รักษาอาการฟกช้ำภายในและช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อนหรือผ่อนคลาย ด้วยการนำเถามาต้มแล้วรับประทาน
  • สรรพคุณจากใบ
    – ช่วยปิดฝีบ่มหนองเพื่อให้ฝีแตกและดูดหนองออก ด้วยการนำใบไปอังกับไฟให้พอเหี่ยวแล้วทำการแปะลงบนแผล
  • สรรพคุณจากราก แก้อาการอักเสบเนื่องจากเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
    – เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว เป็นยาฟอกโลหิต แก้ฟกช้ำภายใน ขับเลือดเน่า ขับน้ำคาวปลาและรักษาอาการฟกช้ำภายใน ด้วยการนำรากมาต้มแล้วดื่ม

ประโยชน์ของเถาคัน

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลดิบใช้กินเป็นอาหารด้วยการนำมาใส่ในแกงส้มหรือใส่ในน้ำพริก ยอดอ่อนนำมาลวกหรือต้มแล้วจิ้มกับน้ำพริกหรือรับประทานเป็นผักสดได้

คุณค่าทางโภชนาการของเถาคันต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของเถาคันต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 27 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 5.5 กรัม
ไขมัน 0.4 กรัม
โปรตีน 0.4 กรัม 
วิตามินเอ 39 ไมโครกรัม 
วิตามินบี1 0.02 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.09 มิลลิกรัม
วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
วิตามินอี 2.64 มิลลิกรัม
เบตาแคโรทีน 236 ไมโครกรัม
ไนอะซิน 1.62 มิลลิกรัม
น้ำ 93.4 กรัม
เถ้า 0.3 กรัม

พิษของเถาคัน

มีข้อมูลระบุว่า ผลเถาคันแดงมีกรดออกซาลิกซึ่งเป็นสารพิษ หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการคันซึ่งเป็นส่วนของน้ำที่บีบออกมาเป็นสีม่วงแดง ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผนังกระเพาะลำไส้และจะถูกดูดซึมผ่านผนังที่อักเสบจนทำให้เกิดเป็นแคลเซียมออกซาเลต ส่งผลกระทบต่อแคลเซียมในร่างกาย การทำงานของหัวใจ ประสาทส่วนกลางและเกิดอาการไตพิการได้

เถาคัน มีขนาดของผลเท่ามะแว้งหรือเท่าปลายนิ้วก้อยและมักจะนำมาใส่ในแกงส้มหรือในน้ำพริก เป็นผลที่มีพิษต่อร่างกายด้วยเช่นกันหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินควร แต่ถ้ารับประทานอย่างถูกต้องแล้วเถาคันก็จะมีโภชนาการที่ดีต่อร่างกาย มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาอาการฟกช้ำภายใน ช่วยฟอกเลือด เป็นยาขับพยาธิและขับปัสสาวะ ขับเสมหะและแก้นิ่วได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณแก้อาการพื้นฐานและดีต่อระบบเลือดในร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เถาคัน”. หน้า 341-342.
พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “เถาคันแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [13 ก.ค. 2015].
พืชพิษ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รายงานการเกิดพิษในคน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm. [13 ก.ค. 2015].
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เถาคันขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.agri.kps.ku.ac.th. [13 ก.ค. 2015].