พะยอม ไม้มงคลเก่าแก่ ช่วยสมานแผลและบำรุงหัวใจ

0
1742
พะยอม ไม้มงคลเก่าแก่ ช่วยสมานแผลและบำรุงหัวใจ
พะยอม เป็นไม้ยืนต้น ดอกเป็นช่อใหญ่มีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม เปลือกต้นสีน้ำตาล เนื้อไม้มีสีเหลือง
พะยอม ไม้มงคลเก่าแก่ ช่วยสมานแผลและบำรุงหัวใจ
พะยอม เป็นไม้ยืนต้น ดอกเป็นช่อใหญ่มีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม เปลือกต้นสีน้ำตาล เนื้อไม้มีสีเหลือง

พะยอม

พะยอม (White meranti) เป็นไม้ยืนต้นที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ มีดอกสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม เป็นไม้ต้นที่ชวนให้สบายตาและน่าชมเวลาเดินผ่าน สามารถนำดอกมารับประทานเป็นยาได้ เป็นต้นไม้เก่าแก่ที่มีความมงคลและมีสรรพคุณที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพะยอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea roxburghii G.Don
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Shorea” และ “White meranti”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สุกรม” ภาคเหนือเรียกว่า “ขะยอมดง พะยอมดง” ภาคอีสานเรียกว่า “คะยอม ขะยอม” ภาคใต้เรียกว่า “ยอม” จังหวัดเลยเรียกว่า “แดน” จังหวัดน่านเรียกว่า “ยางหยวก” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “กะยอม เชียง เซียว เซี่ย” จังหวัดปราจีนบุรีและสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “พะยอมทอง” ประเทศลาวเรียกว่า “ขะยอม”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
ชื่อพ้อง : Shorea talura Roxb.

ลักษณะของต้นพะยอม

พะยอม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและทวีปเอเชีย สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบที่มีดินเป็นดินทราย
เปลือกต้น : มีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม เปลือกแตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาล
ต้น : ต้นเป็นทรงพุ่มกลม แตกกิ่งก้านจำนวนมาก
ใบ : ใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่น ด้านหลังใบจะมีเส้นใบที่มองเห็นชัดเจน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามส่วนยอดของต้น ดอกมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย โคนกลีบดอกติดกับก้านดอก มีลักษณะกลม มักจะออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : เป็นผลแห้งที่มีผนังผลชั้นนอกเจริญยื่นออกมาเป็นปีก มีลักษณะเป็นทรงไข่และกระสวย ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง โคนปีกมี 5 ปีก ประกอบด้วยปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก และปีกสั้น 2 ปีก ออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
เมล็ด : ในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด

สรรพคุณของพะยอม

  • สรรพคุณจากดอก ช่วยบำรุงหัวใจ เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาหอมไว้แก้ลม
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น แก้อาการท้องร่วงหรือท้องเดิน นำมากินแทนหมากเพื่อช่วยแก้ลำไส้อักเสบได้ เป็นยา
  • ฝาดสมานแผลในลำไส้ ช่วยสมานบาดแผลและชำระบาดแผลต่าง ๆ ด้วยการนำเปลือกต้นมาฝนแล้วทา

ประโยชน์ของพะยอม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกอ่อนนำมารับประทานได้ด้วยการนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก ใส่ในแกงต่าง ๆ หรือนำมาผัดกับส่วนประกอบอื่น ๆ เปลือกต้นสามารถใช้รับประทานกับใบพลูแทนหมากได้ เปลือกต้นและเนื้อไม้ชิ้นเล็กสามารถนำมารองน้ำตาลสดจากต้นมะพร้าวและน้ำตาลจากต้นตาลโตนดและนำมาใส่ในเครื่องหมักดองเพื่อกันบูดกันเสียได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ไม้พะยอมสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างอย่างการทำเสาบ้าน ขื่อ รอด ตง พื้น ทำฝา เรือขุด เครื่องบนเสากระโดงเรือ แจว พาย กรรเชียง คราด ครก สาก ลูกหีบ กระเดื่อง ตัวถังรถ ซี่ล่อเกวียน กระเบื้องไม้ หมอนรถไฟ และนำมาใช้แทนไม้ตะเคียนทอง เป็นยาแนวเรือด้วยการนำชันจากต้นมาผสมกับน้ำมันทาไม้ ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง
3. เป็นไม้ประดับ ปลูกได้ดีในที่แล้ง ปลูกไว้เพื่อความสวยงามให้ร่มเงาตามบ้านเรือน มีความเชื่อว่าบ้านใดที่ปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้านจะช่วยทำให้คนในบ้านมีนิสัยที่อ่อนน้อม ไม่ขัดสนในเรื่องต่าง ๆ ตามความเชื่อควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและปลูกในวันเสาร์

คุณค่าทางโภชนาการของดอกพะยอม

คุณค่าทางโภชนาการของดอกพะยอมในส่วนที่กินได้ต่อ 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 7.2 กรัม
โปรตีน 4.4 กรัม
ไขมัน 1.1 กรัม
เส้นใย 2.8 กรัม
เหล็ก 0.3 มิลลิกรัม
แคลเซียม 46 มิลลิกรัม

เปลือกต้นมีสารแทนนินชนิด Pyrogallol และ Catechol ในปริมาณสูง ช่วยสมานแผลได้

พะยอม เป็นไม้ตระกูลเก่าแก่ที่มีความเชื่อเป็นมงคลและเป็นสัญลักษณ์ประจำสถานที่มากมาย เป็นไม้ที่เป็นพุ่มกลมอย่างสวยงาม สะดุดตาเพียงครั้งแรกที่มอง นอกจากความงามแล้วยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอุตสาหกรรม สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงหัวใจและสมานบาดแผลได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

แหล่งอ้างอิง
เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร)