นุ่น
นุ่น เป็นไม้ยืนต้นในฤดูแล้งที่มีดอกสีขาวแกมเหลือง ส่วนของยางไม้มีรสฝาดเมา เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรในประเทศฟิลิปปินส์ ชาวมาเลย์ สิงคโปร์ และเป็นยาพื้นบ้านของชาวอีสาน นิยมนำฝักอ่อนมารับประทานสดหรือใส่ในแกง เมล็ดสามารถนำมาใช้สกัดทำเป็นน้ำมันพืชได้ ภายในเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 20 – 25% และเป็นส่วนที่มีขนติดอยู่ที่เมล็ดซึ่งเรียกว่า “นุ่น” ซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาใช้ยัดหมอนได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของนุ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceiba pentandra (L.) Gaertn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “White silk cotton tree” “Ceiba” “Kapok” “Java cotton” “Java kapok” “Silk – cotton”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ง้าว งิ้วสาย งิ้วสร้อย งิ้วน้อย” คนเมืองเรียกว่า “งิ้ว” ชาวม้งเรียกว่า “ปั้งพัวะ” ไทลื้อเรียกว่า “นุ่น” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “ต่อเหมาะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)
ลักษณะของต้นนุ่น
ต้นนุ่น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง ปลูกมากในเขตร้อนทั่วไปเพื่อใช้ปุยจากผลมาทำหมอนและที่นอน
ลำต้น : ลำต้นสูงใหญ่เป็นเปลาตรง ตรงยอดแผ่เป็นพุ่มกว้าง ลำต้นเป็นสีเขียวและมีหนามขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณโคนต้น
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 5 – 11 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปหอกเรียวแหลม ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบและเส้นก้านใบเป็นสีแดงอมน้ำตาล
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะบริเวณซอกใบ ดอกย่อยมีจำนวนมาก ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 1 – 5 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปถ้วย ปลายดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองติดกันที่ฐาน กลีบด้านนอกเป็นสีขาวนวลและมีขน ด้านในกลีบเป็นสีเหลือง กลางดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5 – 6 อัน ก้านเกสรเพศเมียไม่แยก มักจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปยาววงรี ปลายและโคนผลแหลม เปลือกแข็ง เมื่อแห้งจะแตกออกเป็น 5 พู ภายในผลจะมีนุ่นสีขาวเป็นปุยอยู่ และมีเมล็ดจำนวนมาก
เมล็ด : เมล็ดเป็นสีดำ มีเส้นใยสีขาวคล้ายเส้นไหมยาวหุ้มเมล็ดเป็นปุยนุ่นอยู่
สรรพคุณของนุ่น
- สรรพคุณจากราก ช่วยทำให้อาเจียน เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้บิด แก้บิดเรื้อรัง แก้ลำไส้อักเสบ เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาแก้พิษแมงป่อง
– บำรุงกำลัง ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– แก้โรคเบาหวาน ด้วยการนำรากสดมาคั้นเอาน้ำกินเป็นยา - สรรพคุณจากยางไม้ เป็นยาบำรุงกำลัง เป็นยาแก้ท้องร่วง ช่วยแก้ระดูขาวที่มากเกินไปของสตรี เป็นยาฝาดสมาน
- สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาแก้ร้อนใน เป็นยาแก้หวัดในเด็ก ช่วยทำให้อาเจียน ชาวฟิลิปปินส์ใช้เป็นยาโป๊ ต้มดื่มแก้หืด เป็นยาบำรุงกำหนัด
– แก้ไข้ ด้วยการนำเปลือกผสมกับยาอื่นปรุงเป็นยา
– แก้บิด แก้อาหารเป็นพิษ โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– เป็นยาขับปัสสาวะ โดยชาวชวานำเปลือกต้นมาผสมกับหมาก ลูกจันทน์เทศ และน้ำตาลทำเป็นยา - สรรพคุณจากต้น เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้ไอ
- สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาแก้ไอ
– เป็นยาแก้ไข้ ด้วยการนำทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้โรคเรื้อน ตำพอกแก้ฟกช้ำ
– แก้ไข้ โดยชาวมาเลย์นำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– แก้ท่อปัสสาวะอักเสบ ด้วยการนำใบมาตำผสมกับหัวหอม และขมิ้น ผสมกับน้ำดื่มเป็นยา
– แก้ไอ แก้หวัดลงคอ แก้เสียงแหบห้าว โดยชาวสิงคโปร์นำใบมาตำผสมกับหัวหอม ขมิ้น และน้ำ แล้วดื่มวันละ 3 ครั้งเป็นยา
– เป็นยาพอกฝีให้แตกหนอง ด้วยการนำใบมาเผาไฟผสมกับขมิ้นอ้อยและข้าวสุก - สรรพคุณจากดอกแห้ง เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้ปวด
- สรรพคุณจากน้ำมันจากเมล็ด เป็นยาระบาย เป็นยาขับปัสสาวะ
- สรรพคุณจากผลอ่อน เป็นยาฝาดสมาน
- สรรพคุณจากใบอ่อน เป็นยาแก้เคล็ดบวม
ประโยชน์ของนุ่น
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ฝักที่ยังอ่อนมากจนเนื้อในผลยังไม่เป็นปุยนุ่นใช้เป็นอาหารได้
2. ใช้ในการเกษตร เมล็ดใช้สกัดทำเป็นน้ำมันพืช กากที่เหลือนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ไส้นุ่นนำมาใช้เพาะเห็ดฟางได้ นิยมนำมาปลูกเป็นพืชสวนเพื่อเก็บผลมาใช้ประโยชน์
3. เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรม ขนที่ติดอยู่ที่เมล็ดซึ่งเรียกว่า “นุ่น” หรือ “เส้นใยนุ่น” สามารถนำมาใช้ยัดหมอน ฟูก และที่นอนได้ เนื้อไม้ใช้ทำกระสวยทอผ้า เยื่อกระดาษ ส้นรองเท้า และนำมาบดทำไส้ในไม้อัด
นุ่น เป็นเส้นใยที่ทุกคนรู้จัก และเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างหมอนที่เราใช้นอน นอกจากนั้นต้นนุ่นยังใช้ทำอาหารได้ และเป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพร อีกทั้งยังเป็นน้ำมันได้ด้วย นุ่นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้บิด แก้ไข้ บำรุงกำลัง แก้ท่อปัสสาวะอักเสบ และเป็นยาขับปัสสาวะ นุ่นถือเป็นต้นที่มีสรรพคุณที่ดีต่อระบบขับถ่ายเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาในเรื่องของปัสสาวะหรือลำไส้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “นุ่น”. หน้า 400-401.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “นุ่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [01 ธ.ค. 2014].
พืชให้เส้นใย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “นุ่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fiber1.htm. [01 ธ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “นุ่น”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [01 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.itslife.in/gardening/trees/silk-cotton-tree