งิ้ว บำรุงเลือด แก้บิด บำรุงกำลัง แก้โรคมะเร็ง แก้ไข้และแก้อัมพาต
งิ้ว เป็นไม้ยืนต้น ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และสีทอง มีกลิ่นหอม

งิ้ว

งิ้ว (Red cotton tree) เป็นไม้ต้นที่มีหลายสายพันธุ์ ทั้งงิ้วป่า ง้าว และงิ้วป่าดอกแดง ในที่นี้จะพูดถึงงิ้วโดยเฉพาะ ทว่าต้นงิ้วเป็นต้นที่หาได้ยากมากในปัจจุบัน จะมีการปลูกเฉพาะถิ่นทางภาคเหนือเพียงไม่กี่ที่เท่านั้น มีลักษณะของต้นสูงชะลูดและมีหนามอยู่ทั่วลำต้น จึงเป็นที่มาของคำว่า “ปีนต้นงิ้ว” สำหรับคนที่คบชู้จะต้องตกนรกไปปีนต้นงิ้วที่มีหนามแหลม นอกจากจะเป็นประโยคเด็ดในวรรณคดีแล้ว งิ้วยังเป็นต้นที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นวัตถุดิบทางอาหาร หรือปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของงิ้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombax ceiba L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cotton tree” “Kapok tree” “Red cotton tree” “Silk cotton” “Shving brush”
ชื่อท้องถิ่น : คนทั่วไปเรียกว่า “งิ้วบ้าน” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “งิ้วแดง” ชาวชองจันทบุรีเรียกว่า “งิ้วปง งิ้วปกแดง สะเน้มระกา” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “งิ้วป่า งิ้วปงแดง งิ้วหนาม นุ่นนาง ตอเหมาะ” ชาวม้งเรียกว่า “ปั้งพัวะ” คนจีนเรียกว่า “บักมี้”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)
ชื่อพ้อง : Bombax malabaricum DC., Gossampinus malabarica Merr.

ลักษณะของต้นงิ้ว

ต้นงิ้ว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกว้างถึงขนาดใหญ่ มักจะพบตามที่ราบและป่าเบญจพรรณ ตามเชิงเขาและไหล่เขา
ต้น : ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มรูปไข่ ลำต้นมีลักษณะเปลาตรงและมีหนามอยู่ทั่วลำต้นและกิ่ง เห็นข้อปล้องไม่ชัดเจน ต้นอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อยประมาณ 3 – 7 ใบเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีถึงรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ มีสีเขียว ไม่มีขน แผ่นใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ก้านช่อใบยาว โคนก้านบวมเล็กน้อย
ดอก : เป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่งหรือตามปลายยอด ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และสีทองแต่หาได้ยาก ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3 – 5 ดอก ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยแข็ง ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบขนาดเล็ก เป็นสีเขียวอ่อน กลีบดอกมีขนาดใหญ่และหนา มี 5 กลีบเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบจะแผ่ออกและม้วนกลับมาทางขั้วของดอก ดอกหลุดร่วงได้ง่าย มีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาวจำนวนมาก เรียงกระจายเป็นวงรอบสีขาวปนสีชมพู เกสรตัวเมียมี 1 ก้าน เป็นสีชมพู บริเวณปลายเป็นจุดสีเข้มและเหนียว มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ จะทิ้งใบก่อนมีดอก มักจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : ผลมีลักษณะยาววงรีคล้ายฝักรูปทรงกระบอก ที่ปลายทั้งสองข้างของผลจะแหลม เปลือกของผลแข็ง เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลแตกอ้าออกตามรอยประสาน ในผลมีเส้นหรือปุยสีขาวและมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีดำ และถูกห่อหุ้มด้วยปุยฝ้ายสีขาว ซึ่งสามารถปลิวไปตามลมได้ไกล

สรรพคุณของต้นงิ้ว

  • สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้ลงท้อง ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยแก้ตัวพยาธิ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการตกโลหิต ช่วยห้ามเลือด สมานแผล ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง ช่วยแก้พิษงูทุกชนิด
    – ทำให้อาเจียนถอนพิษ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – บรรเทาอาการฟกช้ำบวมจากการกระแทก ด้วยการนำรากสดมาแช่เหล้า ใช้ถูทาหรือตำพอก
  • สรรพคุณจากยาง เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยแก้บิด ช่วยแก้ระดูตกหนักหรือออกมากเกินไป ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ช่วยห้ามเลือด ช่วยฝากสมาน
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยแก้โรคมะเร็ง รักษาโรคหนองในเรื้อรัง ช่วยห้ามเลือดภายใน ช่วยรักษาโรคผิวหนัง เป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนของโลหิต ช่วยรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้ลงท้อง บรรเทาอาการท้องเดิน ช่วยแก้บิด ช่วยแก้ตัวพยาธิ ช่วยแก้อาการตกโลหิต สมานแผล ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง ช่วยแก้อัมพาต แก้เอ็นอักเสบ แก้คนที่เป็นอัมพาตครึ่งตัว
    – ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการนำเปลือกต้น 1 กิโลกรัม มาล้างให้สะอาดและหั่นเป็นชิ้นเล็ก นำไปใส่ในหม้อต้มยาสมุนไพร เติมน้ำสะอาดลงไป 5 ลิตรและต้มจนเดือด เอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้งทุกเช้าและเย็น
    – ช่วยแก้ไตพิการ แก้ไตชำรุด แก้ไตอักเสบ ด้วยการนำเปลือกต้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง แล้วต้มกินต่างน้ำทุกวัน
    – รักษาแผลมีหนอง ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วใช้ทำความสะอาดแผล
  • สรรพคุณจากดอก ดอกแห้งเป็นยาแก้พิษไข้ ช่วยระงับประสาท ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้ลงท้อง บรรเทาอาการท้องเดิน ช่วยแก้บิด ช่วยแก้ตัวพยาธิ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการตกโลหิต ช่วยห้ามเลือด ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง ช่วยรักษาแผล แก้ฝีหนอง ช่วยแก้อาการคัน ดอกแห้งเป็นยาระงับอาการปวด แก้น้ำร้อนลวก
    – แก้บิดเลือด ด้วยการนำดอกแดงมาต้มเป็นน้ำชาผสมกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มตอนท้องว่างวันละ 3 ครั้ง
    – แก้บิดมูกเลือด ด้วยการนำดอกเหลืองหรือส้มที่เป็นดอกแห้ง มาต้มเป็นน้ำชาดื่ม
    – ช่วยแก้อาการท้องร่วง ด้วยการนำดอกตากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากหนาม แก้ไข้ ลดความร้อน ดับพิษร้อน ช่วยแก้ไข้พิษ แก้ไข้กาฬ ช่วยแก้ฝีประคำร้อย ช่วยดับพิษฝี
  • สรรพคุณจากใบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ รักษาต่อมในคออักเสบ ช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ รักษาฝี ช่วยแก้หัวลำมะลอก แก้หัวดาวหัวเดือน ช่วยแก้พิษงูทุกชนิด
    – แก้อาการฟกช้ำ แก้บวม แก้อาการอักเสบ ด้วยการนำใบแห้งหรือใบสดมาตำใช้ทา
    – รักษาอาการปวดเมื่อย โดยชาวโอรังอัสลีในรัฐเประของประเทศมาเลเซียนำใบสดมาแช่กับน้ำแล้วต้มใช้อาบ
  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้ลงท้อง ช่วยแก้ตัวพยาธิ ช่วยแก้อาการตกโลหิต ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง ช่วยแก้พิษงูทุกชนิด
  • สรรพคุณจากผลอ่อน รักษาแผลเรื้อรังในไต

ประโยชน์ของงิ้ว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เกสรตัวผู้จากดอกเมื่อนำไปตากแห้งนำมาใช้โรยในขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือใช้ปรุงเป็นแกงแค เกสรตัวผู้แห้งนำมาใช้แต่งสีของแกงส้มหรือแกงกะหรี่ ดอกสดใช้ลวกจิ้มรับประทานกับน้ำพริกและแกงส้ม ดอกใช้ผสมกับข้าวโพดทำเป็นขนมแผ่นรับประทานได้ รากอ่อนใช้ทานเมื่อยามขาดแคลน น้ำมันจากเมล็ดใช้ปรุงอาหาร
2. ใช้ในการเกษตร ใบและยอดอ่อนเป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง
3. ปลูกเป็นไม้ประดับในสนามทั่วไป ให้ความร่มเงา
4. เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม เป็นไม้เนื้ออ่อนสีขาวหรือเหลืองอ่อน นิยมนำมาใช้ทำหีบและลังสำหรับใส่ของ ใช้ทำไม้อัด ไม้จิ้มฟัน ก้านไม้ขีด ทำของเล่นเด็ก ใช้ทำเยื่อกระดาษ ชาวกะเหรี่ยงแดงนำไม้มาสร้างบ้าน หรือนำมาแปรรูปทำไม้แบบหรือไม้ต่อโลงศพ เส้นใยจากเปลือกต้นใช้ทำเชือกได้ ปุยนุ่นของฝักหรือผลแก่นำมาใช้ทำเครื่องนุ่งห่มด้วยการนำมาใช้ยัดเบาะ และใช้ทำชนวนตู้เย็น น้ำมันจากเมล็ดใช้ทำสบู่ได้ ชาวเหนือนำเปลือกมาทำสี โดยจะให้สีน้ำเงินสำหรับย้อมสีจำพวกผ้าฝ้ายได้

งิ้ว เป็นต้นที่หาได้ยากและพบทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ มีดอกสดใสสวยงามและต้นให้ความร่มเงาจึงนำมาปลูกประดับ ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร เป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม และเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร มีคุณค่าทางอาหารที่เหมาะสมต่อการนำมารับประทาน งิ้วมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้นและดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคความดันเลือดสูง บำรุงเลือด แก้บิด บำรุงกำลัง รักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แก้โรคมะเร็ง แก้ไข้และแก้อัมพาตได้ ถือเป็นต้นที่มีสรรพคุณมากมายจนน่าทึ่ง สามารถแก้โรคและป้องกันโรคอันตรายได้หลายอย่าง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. “งิ้ว“. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [7 ม.ค. 2014].
การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนดาราพิทยาคม. “งิ้ว, งิ้วบ้าน, งิ้วหนาม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.drpk.ac.th. [7 ม.ค. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. “งิ้ว เป็นอาหารมีสรรพคุณและประโยชน์“. (นายเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [7 ม.ค. 2014].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. “ต้นงิ้ว วัดห้วยหลาด อำเภอรัตภูมิ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [7 ม.ค. 2014].
Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
ลานธรรมจักร. “ต้นงิ้ว วิมานฉิมพลีของนางกากี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dhammajak.net. [7 ม.ค. 2014].
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้. “ดอกงิ้ว สมุนไพรไทย แคลเซียมสูง รักษาสารพัดโรค“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.fio.co.th/p/magazine_fio/files/5503.pdf‎. [7 ม.ค. 2014].
ภูมิปัญญาอภิวัฒน์. “สมุนไพรเปลือกงิ้วต้มกินแก้ไตพิการ“. (สมหวัง วิทยาปัญญานนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.budmgt.com. [7 ม.ค. 2014].
รักบ้านเกิด. “การใช้งิ้วแดงรักษาโรคความดันโลหิตสูง“. (บรรทม จิตรชม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakbankerd.com. [7 ม.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Kapok tree“. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:eherb.hrdi.or.th. [7 ม.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “งิ้วแดง“. (ฉันท์ฐิตา ธีระวรรณ). อ้างอิงใน: thrai.sci.ku.ac.th/node/1694. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [7 ม.ค. 2014].
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
สมุนไพรดอตคอม. “งิ้วแดง“. (manji). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [7 ม.ค. 2014].
คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ. “มารู้จัก… ต้นงิ้ว กันเถอะ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: forensic.rpca.ac.th/pdf/bombax.pdf. [7 ม.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/