อาการปัสสาวะออกน้อย ( Oliguria and Anuria )
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะนั้นมีรายละเอียดที่ซับซ้อนและสามารถสร้างความรำคาญ รวมถึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของหลายๆ คนได้ไม่ต่างจากปัญหาปัสสาวะมากเกินไป อาการปัสสาวะออกน้อย (Oliguria) และไม่มีปัสสาวะ (Anuria) ก็เป็นปัญหาที่ควรกังวลเช่นกัน เพราะการที่ร่างกายไม่ทำหน้าที่ตามธรรมชาติย่อมไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น
รู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะปัสสาวะน้อย
อาการปัสสาวะออกน้อย เราจะให้ความสำคัญกับปริมาณ มีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 400 มิลลิลิตรต่อ 24 ชั่วโมงในวัยผู้ใหญ่ และ100 มิลลิลิตรต่อ 24 ชั่วโมงในวัยเด็ก หากปัสสาวะมีปริมาณน้อยกว่านี้ก็จะถือว่าเข้าสู่ภาวะปัสสาวะน้อยแล้ว โดยไม่เกี่ยวกับจำนวนครั้งหรือความถี่ที่ปวดปัสสาวะเลย อันตรายจากภาวะปัสสาวะออกน้อยนี้ จะทำให้เกิดน้ำคั่งภายในร่างกายมากเกินไป ค่าโซเดียมและแร่ธาตุอื่นๆ ที่ควรขับออกก็ไม่ได้ถูกขับออก ร่างกายจึงบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง กลายเป็นว่าคอยสะสมของเสียต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อมีของเสียมาก สมดุลร่างกายก็เสียไป ยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไร ก็ยิ่งแพร่กระจายความเสียหายของระบบสมดุลมากขึ้นเท่านั้น
สาเหตุของภาวะปัสสาวะออกน้อย
อันที่จริงต้องตรวจดูในเบื้องต้นก่อนว่า แต่ละวันทานน้ำในปริมาณที่น้อยเกินกว่าความต้องการของร่างกายหรือไม่ บางคนทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเพลิดเพลิน จนลืมทานน้ำไปหลายชั่วโมงก็มี บางคนหลีกเลี่ยงการทานน้ำเพียงเพราะไม่อยากเข้าห้องน้ำก็มีเหมือนกัน ถ้าเริ่มต้นที่ร่างกายรับน้ำเข้าน้อยเกินไปอยู่แล้ว อาการปัสสาวะออกน้อยย่อมเป็นเรื่องปกติ ทางแก้ไขก็คือทานน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง
AKI คืออะไร
ก่อนจะไปถึงตัวอย่างของสาเหตุที่พบได้บ่อย จำเป็นต้องรู้จักกับ AKI เสียก่อน เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น AKI หรือ Acute kidney injury เป็นภาวะไตวายเฉียบพลัน อวัยวะส่วนไตเกิดการเสียสมดุลไปจนถึงเสียประสิทธิภาพในการทำงานไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การภาวะไตวายเฉียบพลัน ก็มีได้หลากหลาย แต่สุดท้ายมักจะให้ผลลัพธ์แบบเดียวกันทั้งสิ้น
ในส่วนของอาการปัสสาวะออกน้อย หากไม่ได้เข้าข่ายของการดื่มน้ำน้อยเกินไปที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็จะเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ เหล่านี้แทน
1. Pre-renal AKI : เป็นภาวะที่ effective arterial blood volume ลดลงอย่างรวดเร็ว มักเกิดกับผู้ป่วยที่มีการเสียเลือด หรือเสียน้ำอย่างมาก เมื่อร่างกายขาดสมดุลของน้ำและเลือดไป สิ่งที่จะส่งต่อเพื่อไปหล่อเลี้ยงการทำงานของไตก็ลดลง จึงเกิด AKI ขึ้น แต่ประเด็นก็ยังไม่น่ากลัวนักหากรักษาได้ทันท่วงที การชดเชยน้ำและเลือดในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้ร่างกายกลับคืนสู่ภาวะปกติได้
2. Intrinsic AKI : นี่คือการเกิดพยาธิสภาพบริเวณ renal parenchymal โดยจะเกิดขึ้นที่ส่วนไหนก็ให้ผลลัพธ์เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็น tubule , tubulointerstitial , glomerular , vascular เป็นต้น
3. Post-renal AKI : มักเป็นอาการอุดตันบริเวณ bladder outlet และการอุดตันที่ทางเดินปัสสาวะข้างเดียวหรือสองข้าง สามารถตรวจวินิจฉัยได้ง่าย โดยการใช้อัลตร้าซาวด์ หากเป็นการขยายตัวของท่อไตก็คาดคะเนไว้ก่อนได้ว่ามีการอุดตันเกิดขึ้น แม้ว่าจะฟังดูร้ายแรง แต่ส่วนนี้สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน และหลังการแก้ไข หน่วยไตก็จะกลับมาทำงานตามปกติได้
4. Sepsis-associated AKI : นี่คือการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งมีผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ AKI มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการติดเชื้อในระบบเลือด ก็จะเกิด arterial vasodilation และ renal vasoconstr iction ตามมา นอกจากนี้ยังมีการบาดเจ็บที่ส่วนต่างๆ ของเซลล์อีกด้วย
5. Postoperative AKI : ส่วนใหญ่แล้ว Postoperative AKI เป็นภาวะที่เกิดมาจากการผ่าตัด หากเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องเสียเลือดจำนวนมาก ร่างกายก็ขาดสมดุล ความดันโลหิตต่ำกว่ามาตรฐาน ก็จะส่งผลให้เข้าสู่ภาวะ AKI ได้ง่าย นี่ยังไม่รวมการได้รับพิษจากยาต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างการผ่าตัดอีกด้วย หากเกิด AKI พร้อมกับมีภาวะเป็นพิษควบคู่กันไป ก็จะทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นอีกระดับ
6. Burn and acute pancreatitis : กรณีนี้จะเป็นการสูญเสียน้ำปริมาณมากอย่างฉับพลัน ทำให้ตับอ่อนเกิดการอักเสบ ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการผิวไหม้ หรือ ภาวะ BURN มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมดในร่างกาย นอกจากการเสียน้ำแล้ว แผลเหล่านี้ก็ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อซึ่งเพิ่มอัตราการเกิด AKI ได้มากขึ้นอีก
7. Nephrotoxic drug associated AKI : เนื่องจากไตเป็นหน่วยกรองทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกาย หากเรารับสารพิษเข้าไปมาก ภาระก็ไปตกที่หน่วยไตนี่เอง และไตของเราก็ไม่ใช่เครื่องจักรที่ไม่มีวันบุบสลาย เมื่อไรที่ทำงานหนักมากไป ก็ย่อมเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ กรณีนี้เป็นผลกระทบของการใช้ยาต่างๆ เช่น aminoglycoside, amphoterincin B เป็นต้น ทางแก้อย่างแรกที่ต้องทำทันทีก็คือ หยุดยาที่ใช้ให้เร็วที่สุด นั่นหมายความ หากหาสาเหตุนี้เจอได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งแก้ไขได้เร็วเท่านั้น
8. Endogenous toxin : อาจเรียกได้ว่าเป็นอาการติดพิษจากสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง เช่น myoglobin , hemoglobin , uric acid และ myeloma light chain ทุกตัวสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะ AKI ได้ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดอาการติดพิษเสมอไป อาการ Endogenous toxin นี้ จะทำให้ท่อไตบาดเจ็บและปัสสาวะมีความเป็นด่างสูงกว่าที่ควรจะเป็น
9. Tumor lysis syndrome : ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากการบำบัดด้วยเคมี อย่างที่เรารู้กันดีว่าการบำบัดด้วยเคมีในผู้ป่วยนั้น มักมีผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์อยู่เสมอ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ความเข้มข้นและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ทีนี้หากการบำบัดนั้นกระตุ้นให้มีการหลั่ง uric acid ออกมาในปริมาณมาก ก็จะทำให้เสียสมดุลของ uric acid ในท่อไตและปัสสาวะที่ออกมาก็กลายเป็นสภาพด่างที่ผิดปกติ
ปัสสาวะน้อย เป็นภาวะที่ผู้ป่วยปัสสาวะได้ปริมาณน้อยกว่าผิดปกติ ชั่วโมงละ 20 มิลลิลิตร หรือวันละ 400 มิลลิลิตร
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนจากภาวะปัสสาวะน้อย
มีอาการบวมของร่างกาย เพราะไม่สามารถขับของเสียออกไปได้ตามปกติ โซเดียมและแร่ธาตุต่างๆ เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าระดับที่ร่างกายต้องการ เนื้อเยื่อต่างๆ จึงเกิดอาการบวมขึ้น
ระดับฮอร์โมนอดรีนัลเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่หลักในการควบคุมการทำงานของกลุ่มท่อต่างๆ ภายในหน่วยไต เมื่อมีฮอร์โมนอดรีนัลมากไป การดูดกลับของโซเดียมก็มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
มีการหลั่งสารเรนินจากเซลล์ผนังหลอดเลือดในส่วนของไตมากขึ้น ส่งผลให้ตับจำเป็นต้องสร้างแอนจิโอเทนซินวันขึ้นมา แล้วผ่านกระบวนการเปลี่ยนโครงสร้างเล็กน้อย กลายเป็นสารที่กระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด ความดันเลือดจึงสูง และส่งผลวนไปจนถึงส่วนไต ทำให้ไตดูดกลับโซเดียมมากขึ้น
เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะตามมา และถ้ารุนแรงเรื้อรังไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้กลายเป็นอาการปัสสาวะออกน้อยซึ่งต้องทำการรักษากันขนานใหญ่
การตรวจร่างกายและวินิจฉัยโรคปัสสาวะน้อย
การซักประวัติเป็นเรื่องปกติที่ทีมแพทย์จะต้องเริ่มจากการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ยิ่งเก็บข้อมูลได้มากก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการสรุปผลต่อไป ประเด็นที่ต้องทำการสอบถามให้ครบถ้วนเป็นขั้นต่ำมีดังต่อไปนี้
1. ประวัติการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายในช่วงระยะที่ผิดปกติเป็นอย่างไร ให้รวมทุกช่องทางที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เลือดออกผิดปกติ เป็นต้น
2. ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่ใช้เฉพาะกิจและยาที่ต้องทานประจำ ต้องซักให้แน่ใจว่าเป็นยาชนิดใด ทานต่อเนื่องด้วยขนาดเท่าไร มีการทานยาที่ผิดวิธีหรือผิดขนาดด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ให้รวมไปถึงยาสมุนไพรและอาหารเสริมต่างๆ ด้วย
3. ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและติดเชื้อ ต้องสอบถามว่าก่อนหน้านี้มีไข้หรืออาการเจ็บป่วยใดมาก่อนล่วงหน้าในเวลาไล่เลี่ยกันหรือไม่ มีพฤติกรรมใดที่สุ่มเสี่ยงการติดเชื้อหรือไม่ เช่น เข้าไปอยู่ในจุดที่คนพลุกพล่าน ใกล้ชิดกับคนป่วยโดยไม่ได้ป้องกัน เป็นต้น
4. ประวัติเกี่ยวกับไตโดยเฉพาะ หากผู้ป่วยเคยมีโรคหรืออาการเจ็บป่วยอื่นใดเกี่ยวกับไตมาก่อน ก็ต้องบันทึกเอาไว้เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่สำคัญด้วย ถึงแม้ว่าจะหายขาดไปแล้วก็อย่าได้ละเลย
5. ลักษณะของปัสสาวะ ตามปกติปัสสาวะของคนสุขภาพดีจะเป็นสีใส ไม่มีฟอง ดังนั้นหากปัสสาวะมีความผิดปกติไป เช่น มีเลือดปนออกมา มีของแข็งลักษณะคล้ายกับกรวดเม็ดเล็ก หรือเป็นฟองจนสังเกตได้ชัน ก็เป็นข้อมูลที่ช่วยระบุได้ว่าการทำงานของไตบกพร่องหรือเสื่อมสมรรถภาพในจุดไหน
6. ประวัติโรคมะเร็ง ต้องไม่ลืมที่จะเก็บประวัติของมะเร็งในส่วนของอวัยวะที่ใกล้เคียงกัน เช่น มะเร็งสำไส้ มะเร็งมดลูก เป็นต้น
7. อาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาการปวดปัสสาวะที่ผิดปกติ อาการหน่วงบริเวณช่องท้อง เป็นต้น
การรักษา อาการปัสสาวะออกน้อย ( Oliguria and Anuria )
ในส่วนของการรักษาก็จะแปรผันตามสาเหตุที่สืบค้นมาได้ด้วยกระบวนการต่างๆ ข้างต้น นั่นหมายความว่ารายละเอียดเชิงลึกในการรักษาจะต้องแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามก็พอมีแนวทางกว้างๆ ดังนี้
ขั้นต้นให้เริ่มจากการทานน้ำให้มากขึ้น โดยค่อยๆ เพิ่มทีละนิดๆ เพื่อช่วยปรับสมดุลร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ แม้ว่าในบางรายจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่การทานน้ำอย่างพอเหมาะก็จะช่วยให้ระบบร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
ป้องกันและลดอัตราการสูญเสียน้ำของร่างกายในทุกกรณี
ดูแลเรื่องสารอาหารให้สมดุล และลดในส่วนที่จะเพิ่มโซเดียมให้ร่างกาย เน้นผักผลไม้ให้มากขึ้นกว่าปกติ เพื่อการดีท็อกซ์หรือล้างพิษตามวิถีธรรมชาติ
ฝึกวินัยในการปัสสาวะ ไม่อั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ก็จะเป็นการใช้ยาและการบำบัดเชิงเทคนิคในทางการแพทย์ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง อย่างเช่น การขับของเสียออกจากร่างกายด้วยเครื่องมือแพทย์ การใช้ยาเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนที่ผิดปกติไปจากเดิม เป็นต้น
การป้องกัน อาการปัสสาวะออกน้อย
หากไม่นับอุบัติเหตุที่ควบคุมไม่ได้ อย่างเช่น การเสียสมดุลน้ำจากบาดแผลรุนแรงในอุบัติเหตุ นี่ก็ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เพราะส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องของพฤติกรรมมาเกี่ยวข้อง เกินกว่าครึ่ง ผู้ป่วยมักมีนิสัยชอบกลั้นปัสสาวะหรือทานน้ำน้อยเกินไป แรกๆ ก็ไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรมากนัก แต่เมื่อนานวันเข้าร่างกายก็ฟื้นฟูจากการโดนทำร้ายในทุกๆ วันไม่ได้ จึงสะสมเป็นอาการเจ็บป่วยในที่สุด ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ปรับแก้ที่ต้นเหตุคือการทานน้ำให้มากเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่รู้สึกปวดปัสสาวะ ไม่อั้นเอาไว้ หลังจากเข้าห้องน้ำหรือสูญเสียน้ำในทางอื่น เช่น เหงื่อ น้ำตา น้ำเลือด เป็นต้น ก็ให้ดื่มน้ำชดเชยทันที เพื่อไม่ให้ร่างกายเสียสมดุลของน้ำไป
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม