ครรภ์เป็นพิษ ( Preeclampsia ) อันตรายหรือไม่

0
10085
ครรภ์เป็นพิษ ( Preeclampsia ) อันตรายหรือไม่
ครรภ์เป็นพิษ ( Preeclampsia ) อันตรายหรือไม่ ครรภ์เป็นพิษ คือ การมีความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนในปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์ หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก
ครรภ์เป็นพิษ ( Preeclampsia ) อันตรายหรือไม่
ครรภ์เป็นพิษ คือ การมีความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนในปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์ หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก

ครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ ( Preeclampsia ) คือ การมีความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนในปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์ จนทำให้เกิดความผิดปกติของการฝังตัวของรก ซึ่งโดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่แม่ครรภ์เป็นพิษรกจะฝังตัวได้ไม่แน่น ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลง จะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น เส้นเลือดสมองตีบ ตาพร่ามัว ตับวาย ฯลฯ พบได้บ่อยที่สุดระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 20 ของการตั้งครรภ์ หากได้รับการรักษาไม่ทันเวลาอาจเกิดอาการชักที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก

อาการครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการหรือสัญญาณใด ๆ ที่บ่งบอกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ จะทราบได้เมื่อแพทย์ตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะระหว่างการฝากครรภ์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (เกิดจากการกักเก็บของเหลว)
  • ความดันโลหิตที่สูงกว่า 140 / 90 มิลลิเมตร
  • อาการบวมของเท้าข้อเท้าใบหน้า และมือ
  • อาการปวดในช่องท้องส่วนบนขวา
  • ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ
  • มองเห็นไม่ชัดเป็นบางครั้ง
  • ปวดใต้ซี่โครงด้านขวา
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • ตับทำงานบกพร่อง
  • ปัสสาวะได้น้อยลง
  • ปวดหัวรุนแรง
  • เกล็ดเลือดต่ำ
  • หายใจเร็ว
  • วิงเวียน

ครรภ์เป็นพิษ คือ การมีความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนในปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์ หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก

สาเหตุของครรภ์เป็นพิษ

สาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษมีดังนี้

  • โรคไต
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคข้ออักเสบ
  • โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
  • มีอายุต่ำกว่า 15 ปีหรือ 35 ปีขึ้นไป
  • การตั้งครรภ์ครั้งแรกของผู้หญิง
  • เคยมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษสามารถส่งผ่านทางพันธุกรรมของพ่อไปยังทารกในครรภ์ได้
  • ญาติหรือคนในครอบครัวมีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์
  • การตั้งครรภ์หลายครั้ง หรือเคยตั้งครรภ์ฝาแฝด ( การตั้งครรภ์เหล่านี้จะมีเนื้อเยื่อของรกจำนวนมาก )

ระดับความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษ

  1. ครรภ์เป็นพิษระดับที่ไม่รุนแรง ( Non – Severe Pre – Eclampsia ) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน
  2. ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง ( Severe Pre – Eclampsia ) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 หรือตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับอักเสบ ไตทำงานลดลง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก ฯลฯ
  3. ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงและมีภาวะชัก ( Eclampsia ) แม่ตั้งครรภ์ชัก เกร็ง หมดสติ อาจมีเลือดออกในสมอง หากอยู่ในระยะนี้ต้องรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะแม่และลูกมีอันตรายถึงแก่ชีวิต

การวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษ

  • ตรวจวัดความดัน : หญิงตั้งครรภ์ที่ระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140 / 90 มิลลิเมตร อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดครรภ์เป็นพิษได้
  • ตรวจเลือด : แพทย์จะทำการทดสอบการทำงานของตับ ทดสอบการทำงานของไต และวัดค่าเกล็ดเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์ระยะเริ่มต้น
  • ตรวจปัสสาวะ : แพทย์จะขอเก็บตัวอย่างปัสสาวะเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อวัดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะของคุณ
  • อัลตราซาวนด์ : แพทย์ติดตามอย่างใกล้ชิดดูการเจริญเติบโตทารกในครรภ์ ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินน้ำหนักของทารกในครรภ์และปริมาณน้ำคร่ำในมดลูกได้

การรักษาครรภ์เป็นพิษ

การรักษาครรภ์เป็นพิษที่ดีที่สุดคือการผ่าคลอด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์น้อยเกินไปแพทย์จะให้ยากระตุ้นปอด เพื่อประคับประคองให้อยู่ในครรภ์ได้นานที่สุด หากอายุครรภ์สามารถทำคลอดได้ แพทย์จะทำการผ่าคลอดหรือเร่งให้คลอดทางช่องคลอดเพื่อหยุดความรุนแรงของโรค แต่ภาวะแทรกซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้หลังคลอดจึงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของครรภ์ก่อนคลอดของผู้ป่วย ดังนี้

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง เป้าหมายของการรักษาของแพทย์ คือ ชะลอการคลอดจนกว่าทารกในครรภ์จะโตพอที่จะผ่าคลอดได้ แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ ตรวจเอนไซม์การทำงานของไตและตับของผู้ป่วย
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษที่รุนแรง เป้าหมายของการรักษาของแพทย์ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่อแม่และทารกในครรภ์ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การคลอดก่อนกำหนดของทารกในครรภ์ โดยทั่วไปประมาณ 32 ถึง 34 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ตับและไตวาย กรณีผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงจะต้องเฝ้าระวังตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ หรือต้องรักษาโดยการใช้ยา

การป้องกันครรภ์เป็นพิษ

คุณแม่ควรเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ เช่น ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีก่อนการตั้งครรภ์ หากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์วางแผนและขอคำปรึกษา เนื่องจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น

  • ไม่สูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมความดันโลหิต
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

คำแนะนำ

หากท่านหรือสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ ควรแจ้งแพทย์ที่ฝากครรภ์ให้ทราบเพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดในอนาคตได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

preeclampsia (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.mayoclinic.org [11 มีนาคม 2561].

What Is Preeclampsia? (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.webmd.com [11 มีนาคม 2561].

preeclampsia (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.healthline.com [11 มีนาคม 2561].

Preeclampsia and Eclampsia(ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.health.harvard.edu [13 มีนาคม 2561].