ข้าวไรซ์เบอร์รี่
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ( Riceberry Rice ) คือ ข้าวที่เกิดจากการผสมระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลและข้าวขาวดอกมะลิ 105 จนทำให้กลายเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์สายพันธ์ุใหม่ ที่มีลักษณะเด่นเป็น สีม่วงเข้ม ผิวมันเมล็ดเรียวยาวคล้ายกับข้าวเจ้า สามารถปลูกได้ตลอดปี ที่สำคัญคุณค่าทางอาหารอยู่ครบถ้วน เพราะผ่านการขัดสีแค่บางส่วน
สำหรับคนรักสุขภาพ ข้าวไรซ์เบอรี่ จัดได้ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีเวลาออกกำลังกายน้อยหรือแทบไม่มีเลย การใส่ใจในอาหารการกินจึงเป็นสิ่งทำได้ง่ายและสะดวกมากที่สุด สำหรับ “ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ” ข้าวเมล็ดสีม่วงที่อุดมไปด้วยสารอาหารและคุณประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาภาวะโรคต่างๆ ให้ทุเลาเบาบางได้อย่างเห็นได้ชัดหรือคุณประโยชน์อื่นๆอีก เรามาลองทำความรู้จักกับข้าวไรซ์เบอรี่กันดีกว่าทำไมจึงมีดีขนาดนี้ และทำไมจึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้าวหอมนิล มีลักษณะอย่างไร ?
ข้าวหอมนิล มีชื่อเรียกหลายชื่อ ดังนี้ ข้าวสีนิล ข้าวหอมนิล และข้าวก่ำ ข้าวหอมนิลเป็นข้าวสายพันธุ์เดียวกับข้าวกล้อง ซึ่งได้รับการปรับปรุงพันธุ์มาจากข้าวเหนียวดำต้นเตี้ยจากประเทศจีน สารอาหารในข้าวหอมนิลนั้นมีมาก เช่น มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ มีโปรตีนและธาตุเหล็กสูงกว่าข้าวชนิดอื่น และยังให้กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ข้าวกล้อง คือ ?
ข้าวกล้อง เป็นข้าวที่มีสีน้ำตาลอ่อน เป็นข้าวที่สีเอาเปลือกออกโดยที่ยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวอยู่ มีใยอาหารเหลืออยู่มากกว่าข้าวขัดสี 3 เท่า ซึ่งมีคุณค่าอาหารที่มีประโยชน์มากและอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลากชนิด เช่น วิตามินบี 1 ป้องกันโรคเหน็บชา, ฟอสฟอรัส ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน, แคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรง ป้องกันอาการตะคริว, ธาตุเหล็ก ป้องกันโรคโลหิตจาง เป็นต้น และการกินข้าวกล้องทุกวันจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
ข้าวหอมมะลิ 105 หรือข้าวขาวดอกมะลิ 105 คืออะไร?
ข้าวหอมมะลิ ชื่อก็บ่งบอกว่า ข้าวนั้นต้องมีกลิ่นหอมมากเหมือนดอกมะลิส่งกลิ่นยามเช้า ข้าวหอมมะลิมีลักษณะโดดเด่นคือมีเมล็ดเรียวยาวสีขาวสวยและมีกลิ่นหอมจรุงใจ จึงเป็นที่นิยมนำมารับประทาน และเป็นส่วนหนึ่งของสายพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ นั่นเอง
ประโยชน์อันโดดเด่นของข้าวไรซ์เบอรี่คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ช่วยชะลอวัยและบำรุงผิวพรรณให้อ่อนเยาว์ ช่วยลดน้ำหนักและมีสารอาหารบำรุงร่างกาย
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เหมาะกับใคร?
ข้าวไรซ์เบอรี่ เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนรักสุขภาพ เพราะถือได้ว่าเป็นข้าวที่มีสารอาหารและคุณประโยชน์สูง โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังนี้
สตรีมีครรภ์ จะช่วยให้บุตรในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง เพราะในข้าวไรซ์เบอรี่มีธาตุอาหารโฟเลต อีกทั้งยังมีน้ำตาลต่ำ ช่วยให้มารดาควบคุมน้ำหนักไม่ให้ครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กสูงซึ่งในหญิงมีครรภ์จะมีความต้องการแร่ธาตุโฟเลตมากกว่าคนปกติ
ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน ที่สามารถเปลี่ยนมารับประทานข้าวไรซ์เบอรี่ที่มีคุณสมบัติช่วยควบคุมน้ำตาลและน้ำหนักได้ เนื่องจากในข้าวสายพันธุ์นี้มีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำกว่าข้าวทั่วไป
ผู้สูงวัย ควรได้รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์เพราะข้าวไรซ์เบอรี่มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายเสริมสร้างประสิทธิภาพในการไหลเวียนของเลือดชะลอความแก่ชราและบำรุงสายตาและระบบประสาทของคุณสูงวัย
ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากรับประทานข้าวไรซ์เบอรี่เป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ช่วยในการบำรุงโลหิตและบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
ประโยชน์ของข้าวไรซ์เบอร์รี่
เปรียบเสมือนเป็นยาที่ทำจากธัญพืช มีคุณประโยชน์เต็มเมล็ดอุดมไปด้วยธาตุอาหารของสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยควบคุมน้ำตาลและควบคุมน้ำหนักได้ เนื่องจากมีเส้นใยอาหารที่ทำให้คนที่รับประทานข้าวประเภทนี้จะรู้สึกอิ่ม ซึ่งมีสาเหตุมาจากในระบบการย่อยกากเส้นใยนั้นร่างกายจะใช้เวลานาน ทำให้น้ำตาลในแป้งของข้าวค่อยๆย่อย ไม่เร็วจนเกินไปจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ช่วยลดระดับไขมันและคอเรสเตอรอล เส้นใยจะถูกขับถ่ายออกมาเป็นกากอุจจาระ เมื่อมีกากอุจจาระมากขึ้น ก็ทำให้ช่วยในการขับถ่ายได้ดีขึ้น และยังช่วยลดอาการท้องผูก และป้องกันโรคหัวใจได้อีกด้วยอีก
ตารางโภชนาการของข้าวไรเบอรี่ 100 กรัม
พลังงานทั้งหมด 370 กิโลแคลอรี (พลังงานจากไขมัน 30 กิโลแคลอรี) |
ไขมันทั้งหมด 3 กรัม ไขมันอิ่มตัว 1 กรัม |
โคเลสเตอรอล 0 มก. |
โปรตีน 9 กรัม |
คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 77 กรัม |
ใยอาหาร 5 กรัม |
น้ำตาล 8 กรัม |
โซเดียม 0 มก. |
โอเมก้า3 25.51 มก. |
วิตามิน อี 678 ไมโครกรัม |
โฟเลต 48.1 ไมโครกรัม |
เบต้า-แคโรทีน 63 ไมโครกรัม |
โพลีฟีนอล 113.5 มก. |
แกมมาโอไรซานอล 462 ไมโครกรัม |
แอนโทไซยานิน 15.7 มก. |
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสารอาหารอะไรบ้าง ?
แร่ธาตุและวิตามินในข้าว ไรซ์เบอร์รี่ | |
วิตามินบี | จำเป็นต่อการทำงานของสมอง ระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ป้องกันโรคเหน็บชา |
เบต้าแคโรทีน | ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ชะลอความแก่ของเซลล์ และบำรุงสายตา |
แกมมาโอไรซานอล | ลดระดับคอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเป็นปกติ ลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม |
กากใยอาหาร | ช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยระบบขับถ่าย |
โอเมก้า 3 | มีความสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง ตับและระบบประสาท ทั้งยังลดระดับคอเลสเตอรอล |
ธาตุสังกะสี | สังเคราะห์โปรตีน สร้างคอลลาเจน รักษาสิว ป้องกันผมร่วง และกระตุ้นรากผม |
แทนนิน | แก้ท้องร่วง แก้บิด ช่วยสมานแผล |
ธาตุเหล็ก | สร้างและจ่ายพลังงานในร่างกายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และเป็น ส่วนประกอบของเอนไซม์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ออกซิเจนในร่างกายและสมอง |
วิตามินอี | ชะลอความแก่ บำรุงผิวพรรณ ลดอัตราเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองและหัวใจทำให้ปอดทำงานดีขึ้น |
ลูทีน | ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงตา |
โพลิฟีนอล | ทำลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ |
ข้าวไรซ์เบอรี่ หุงอย่างไรให้อร่อย
ข้าวไรซ์เบอรี่ จัดเป็นข้าวกล้องชนิดหนึ่ง ดังนั้นหากต้องการหุงให้อร่อยก็ควรที่จะนำไปผสมกับข้าวหอมมะลิเพื่อให้ข้าวที่รับประทานเหนียวนุ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากต้องการหุงข้าวชนิดนี้เพียงอย่างเดียวก็ควรจะใช้สัดส่วนดังนี้ ข้าว 1 ส่วน : น้ำ 2 ส่วน โดยหุงต้มประมาณ 35 นาที แล้วปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ก็จะได้รับประทานข้าวไรซ์เบอรี่ที่นุ่มและมีสีสันน่ารับประทาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
รัชนี คงคาฉุยฉาย และ ริญ เจริญศิริ. โภชนาการกับผัก. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554. 128 หน้า 1.ผัก-แง่โภชนาการ-ไทย. I.ชื่อเรื่อง. 641.303 ISBN 978-974-484-346-3.
แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบำบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6.
ขอขอบคุณคลิปดูแลสุขภาพ : หมอปุ้ม พญ. สิรนาถ สุขภาพดี คุณมีได้
Konczak, I.; & Zhang, W. (2004). Anthocyanins-more than natures colours. Journal of
Biomedicine and Biotechnology. 5: 239-240.
Lule, S.U.; & Xia, W. (2005). Food phenolics, pros and cons: A review. Food Reviews
International. 21: 367-388.