หน้าที่และประโยชน์ของผิวหนังมีอะไรบ้าง

0
31529
หน้าที่และประโยชน์ของผิวหนังมีอะไรบ้าง
ผิวหนังจะคลุมร่างกายของมนุษย์ไว้ทั้งหมด กั้นตัวเราจากโลกภายนอก ป้องกันอวัยวะภายในจากเชื้อโรค ความร้อนและความเย็น สิ่งแวดล้อมที่มีพิษ จากการกระทบกระแทกรวมทั้งป้องกันไม่ให้สูญเสียน้ำ
หน้าที่และประโยชน์ของผิวหนังมีอะไรบ้าง
ผิวหนังเป็๋นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายและปกคลุมร่างกายของมนุษย์ไว้ทั้งหมด ป้องกันอวัยวะภายในจากเชื้อโรค และป้องกันไม่ให้สูญเสียน้ำ

ผิวหนัง ( Skin )

ผิวหนัง ( Skin ) เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีน้ำหนักรวมกันประมาณ 6 ปอนด์ ( 7 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ) มีความหนาโดยเฉลี่ย 2 มิลลิเมตร ส่วนที่บางที่สุดคือ บริเวณหนังตาประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เท่านั้น และส่วนหนาที่สุดของร่างกาย คือ ตรงฝ่าเท้า วัดได้ 4.5 มิลลิเมตร [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

ผิวหนังมาจากคำว่า Skin ทางวิชาการเรียก Cutaneous Membrane ถ้าเอาผิวหนังทั้งตัว ( ผู้ใหญ่ ) มาแผ่ออกจะได้พื้นที่ราว 1.75 ตารางเมตร

ผิวหนังประกอบด้วยเซลล์ ( Cell ) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะแบน ซึ่งมีจำนวนถึง 52,000 ล้านเซลล์ โดยเฉลี่ยบน ผิวหนัง ( Skin ) 1 ตารางเซนติเมตรจะมีเซลล์อยู่ 3 ล้านเซลล์และเส้นผม 10 เส้น โดยเซลล์ที่หลุดลอกออกมาคือเซลล์ที่ตายแล้วเป็นขี้ไคลประมาณวันละ 300 ล้านเซลล์ และจะมีเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่

ผิวหนัง ( Skin ) จึงเป็นอวัยวะที่เจริญเร็วที่สุด ( Dynamic Organ ) สามารถสร้างเซลล์ของมันเองขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่ตายไปได้ตลอดชีวิต เซลล์เกิดใหม่จะสีขาวปนชมพู เรียบเนียน สวยงาม ยิ่งมีมากยิ่งดี ความเร็วของการแบ่งตัวจะช้าลง เมื่อมีอายุมากขึ้นจึงทำให้ผิวหนังดูไม่สดใส

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดผิวควรมีค่า PH อยู่ระหว่าง 7-8 (คือเป็นด่างอ่อนๆ) สำหรับผิวปกติทั่วไป
ค่าความเป็นกรดด่างของผิวหนังอยู่ที่ PH 5.5 ( คือเป็นกรดอ่อน ๆ ) ซึ่งเป็นกระบวนการป้องกันของร่างกายที่จะไม่ยอมให้เชื้อแบคทีเรียอันตรายเจริญเติบโตบนผิวหนังได้ง่ายเกินไป ความเป็นกรดอ่อนๆของ ผิวหนัง ( Skin ) นี้มีความสำคัญในการดูแลและรักษาผิว ส่วนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวควรมีความเป็นด่างอ่อนๆเพื่อการทำความสะอาดที่ได้ผลดีและไม่ทำให้ผิวเป็นอันตราย ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีความเป็นด่างสูงๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งและเกิดริ้วรอยก่อนวัย

ถ้าไม่มีผิวหนังปกคลุม มนุษย์คือซากศพเดินได้
ผิวหนังจะคลุมร่างกายของมนุษย์ไว้ทั้งหมด กั้นตัวเราจากโลกภายนอก ป้องกันอวัยวะภายในจากเชื้อโรค ความร้อนและความเย็น สิ่งแวดล้อมที่มีพิษ จากการกระทบกระแทกรวมทั้งป้องกันไม่ให้สูญเสียน้ำออกไปจากตัวเราอีกด้วย

ผิวหนังทำให้ร่างกายสวยงามและที่สำคัญคือทำหน้าที่รับรู้สัมผัสทั้งหนักและเบา ส่งข้อมูลเป็นสื่อไฟฟ้าให้ระบบประสาทของร่างกายซึ่งสามารถแปลรหัสให้ตัวเราเข้าใจความหมายได้  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

ถ้ามนุษย์ไม่มีผิวหนัง ก็เหมือนซากศพที่ยังหายใจ
กายภาพของผิวหนัง ( The Anatomy of Skin ) ผิวหนังมี 2 ชั้น
เรามักเรียกผิวหนังว่า Skin แต่ทางการแพทย์จะเรียกว่า Cutaneous Membrane ผิวหนังปกคลุมภายนอกของร่างกาย ป้องกันภยันตรายจากการบาดเจ็บ ( Injury ) จากการติดเชื้อ ( lnfection ) ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายโดยถ้าอากาศข้างนอกร้อนเกินไปก็จะปล่อยน้ำออกมาเป็นเหงื่อ ( Sweat ) เมื่อระเหยเป็นไอจึงทำให้ร่างกายเย็นลง แต่ถ้าอุณหภูมิรอบตัวเย็นเกินไป ผิวหนังก็จะเก็บความร้อนเอาไว้ภายในทำให้เกิดความอบอุ่น เพื่อประโยชน์ดังกล่าว ธรรมชาติจึงสร้างให้ผิวหนังมีโครงสร้างเป็น 2 ชั้นที่สำคัญด้วยกัน

ผิวหนังของคนเรามีกี่ชั้น?

ชั้นหนังกำพร้า ( Epidermis ) อยู่ชั้นนอกสุด
ชั้นหนังแท้ ( Dermis หรือ Cutis ) อยู่ชั้นใน ใต้ Epidermis เข้ามา

1. หนังกำพร้า (Epidermis)

หนังกำพร้าอยู่ชั้นนอกสุดของ ผิวหนัง ( Skin ) คือเลยชั้นหนังแท้ออกมาและเซลล์บริเวณผิวนอกสุดนี้ก็จะลอกคราบเป็นขี้ไคลตลอดเวลา ส่วนหนังแท้ ( Dermis ) จะไม่ลอกออก จึงเปรียบเหมือนหนังแท้เป็นลูกที่มีพ่อแม่คอยดูแลให้อยู่กับตัว ส่วนหนังกำพร้า คือผิวหนังที่ขาดพ่อแม่จึงต้องเร่ร่อนหรือหลุดลอกออกไป

หนังกำพร้ามีลักษณะที่บางมาก หนาประมาณแผ่นกระดาษ ( 0.4 มม. ) เท่านั้น โดยชั้นผิวสุดของหนังกำพร้าประกอบด้วย เซลล์รูป 4 เหลี่ยมแบน ๆ ซ้อนกันหลายๆ ขั้นเหมือนสะเก็ด ( Stratified Squamous Epithelium ) แต่ชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า ซึ่งเป็นฐานของหนังกำพร้ามีรูปร่างกลม ( Round Cell ) เรียกทางด้านวิชาการว่าเป็น เซลล์ฐาน ( Basal Cell ) มีหน้าที่แบ่งตัวเพื่อสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนโดยกลายเป็นขี้ไคลที่หลุดลอกออกไป

1.1 ในชั้นหนังกำพร้าไม่มีหลอดเลือด ( No Blood Vessel )

หนังกำพร้า ( Epidermis ) ต้องอาศัยชั้นหนังแท้ ( Dermis ) ที่อยู่ใต้ลงไปในการส่งสารอาหารขึ้นมาให้และรับของเสียกลับออกไป (Nutrient Delivery and Waste Cisposal) เซลล์ของหนังกำพร้าระยะเริ่มต้นมีรูปร่างกลมอยู่ตอนล่างสุด จะเบียดกันขึ้นมาจากการแบ่งตัว จนถึงชั้นนอกของร่างกายหรือผิวชั้นสุดท้ายจึงทำให้แบนเพราะการอัดกันแน่น ชั้นที่ผลิตเซลล์หนังกำพร้าดังกล่าวเรียก Basal Cell Layer ( หรือชื่อทางวิชาการเรียก Stratum Germinativum ) ส่วนชั้นผิวบนสุดของหนังกำพร้า ( Epidermis ) ที่พร้อมเป็นเซลล์ขี้ไคล เรียกชั้น Stratum Corneum หรือ ชื่อทั่ว ๆ ไปคือ Horny Cell Layer  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

เซลล์ทั่วไปในร่างกายมีมากกว่า 60 ล้านล้านเซลล์ประกอบกันเป็นอวัยวะต่าง ๆ อาทิ เป็นกล้ามเนื้อ เลือด ฯลฯ ทำหน้าที่ต่างกัน มีแกนกลางอยู่ภายในตัวเซลล์ ทำหน้าที่เหมือนหัวใจของเซลล์ ซึ่งเรียกว่า Nucleus ( นิวเคลียส ) แต่เซลล์ของหนังกำพร้าชั้นผิวนอกสุด ( Horny Cell Layer ) ซึ่งเบียดกันขึ้นมาจากขั้นล่างที่ผลิตเซลล์ผิวหนังใหม่ทดแทนอยู่ตลอดเวลา ( ผิวหนังจึงนับว่าเป็น Dynamic Organ ) พบว่าความอัดกันแน่นของมัน ทำให้กลายเป็นเซลล์ที่ไม่มีนิวเคลียส เมื่อใกล้ผิวนอกสุดและพร้อมจะหลุดลอกออกไปตามธรรมชาติของผิวหนังเพราะเซลล์ตายสนิท จึงไม่มีความรู้สึกเจ็บหรือปวดแต่อย่างใด

เซลล์ของผิวหนังกำพร้าขั้นล่าง ( Basal Cell ) มีการแบ่งตัวตลอดชีวิตของมัน ซึ่งมีผู้ประมาณว่า อาจได้นานถึง 120 ปี โดยเฉลี่ยและแบ่งตัวทุก ๆ สัปดาห์แต่เมื่ออายุมากขึ้น การแบ่งตัวจะช้าลง อาจเป็นทุก 6 สัปดาห์ ทำให้ผิวหนังขาดความสดใส ถ้าเครื่องสำอางช่วยให้การแบ่งตัวได้เร็วขึ้น ใกล้เคียงกับระยะหนุ่มสาวผิวหนังก็จะไม่แก่ ( Antiaging ) ในปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะค้นหา Growth Factor ( สิ่งที่กระตุ้นการเจริญเติบโต ) มาใช้ในการดูแล ผิวหนัง ( Skin )

1.2 เมลานิน ( Melanin ) คือเม็ดสี ( Pigment ) ที่ทำให้ผิวหนังเป็นสีดำเหลืองหรือขาว

มีเซลล์ชนิดหนึ่งซึ่งผลิตเม็ดสีเมลานิน เราเรียกเซลล์ชนิดนี้ว่า เมลาโนไซท์ ( Melanocyte หรือ Melanin Cell ) อยู่ในหนังกำพร้าชั้นล่างสุด ( Basal Cell Layer ) เซลล์เมลาโนไซท์ เมื่อถูกแสงแดดรบกวนจะทำเอนไซม์ชื่อไทโรซิเนส ( Tyrosinase ) ถูกกระตุ้นให้ทำหน้าที่ย่อยสารตั้งต้น ( Substrate ) เป็น กรดอะมิโน ชื่อไทโรซิน ( Tyrosine ) ให้เกิดเป็นเม็ดสีเมลานิน ( Melanin Granule ) ซึ่งเป็นการป้องกันตัวจากแสงแดดของ ผิวหนัง ( Skin ) ที่จะไม่ให้แสงแดดผ่านเม็ดสีเข้ามาทำอันตรายกับร่างกายที่อยู่ลึกลงไปได้ เครื่องสำอางที่มีตัวยาห้ามการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ( Tyrosinase ) จะทำให้หยุดสร้างเม็ดสีเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวขึ้น

1.3 ไม่มีแสงแดด ก็ไม่สร้างเม็ดสีเมลานิน

ถ้าผิวหน้าถูกแสงแดดเข้มข้น เม็ดสีเมลานินก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผิวดูออกเป็นสีน้ำตาลเกรียม แต่จะค่อย ๆ จางลงถ้าไม่พาตัวเองให้ถูกแสงแดดบ่อย ๆ การใช้ตัวยาสำคัญซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวห้ามการทำงานของเอนไซม์ ( Enzyme lnhibitor ) โดยใช้ในเครื่องสำอางเพื่อไม่ยอมให้เอนไซม์ Tyrosinase ทำงาน ก็จะทำให้ไม่เกิดเม็ดสีเมลานิน สำหรับตัวเร่งการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase นั่นก็คือ แสงแดด ดังนั้น ถ้าอยากมีผิวสวยก็ต้องไม่โดนแสงแดด แต่ถ้าจำเป็นต้องออกแดดก็ต้องทาครีมกันแดดเพื่อช่วยป้องกัน หรือจะใช้เครื่องสำอางที่มีตัวห้ามการทำงานของเอนไซม์ ทาผิวก็จะไม่เกิดเม็ดสีเมลานินได้เช่นเดียวกัน  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

1.4 เซลล์ต่างๆ ที่ควรรู้จักในชั้นหนังกำพร้า

A. เมลาโนไซท์ ( Melanocyte ) เป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ผลิตเม็ดสี เมลานิน ( Melanin ) จึงทำให้ผิวหนังมีสีน้ำตาลเข้ม หรือ ดำ ถ้าเม็ดสีเมลานินมีน้อยก็เป็นสีเหลืองหรือถ้าน้อยมากก็เป็นสีขาว เมื่อมนุษย์เกิดมาแล้ว จำนวนเซลล์เมลาโนไซท์จะไม่เปลี่ยนแปลง คือ เซลล์ที่ผลิตเม็ดสีเมลานินนี้ ( ทั่ว ๆ ไปเรียก Melanin Cell ) ไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง การมีจำนวนเซลล์มากน้อยขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ถ้าคนผิวดำก็จะมีเมลาโนไซท์ ( Melanocyte ) ผลิตเม็ดสีเมลานินชนิด Eumelanin ซึ่งมีสีดำและน้ำตาลหนาแน่น ผลิตเม็ดสีได้มาก ผิวเหลืองก็มีเซลล์เมลาโนไซท์ ชนิด Pheomelanin เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีสีแดง ส่วนคนผิวขาวจะมีเซลล์ผลิตเม็ดสีน้อยมาก

เมลานิน (Melanin) มีข้อดี คือช่วยกรองแสงแดด ไม่ให้รังสียูวีทะลุผ่านเข้ามาทำลายผิวหนังและเนื้อเยื่อได้ คนผิวเข้มที่มีเม็ดสีเมลานินมากจึงไม่ค่อยเป็นโรคเนื้องอกผิวหนัง (Skin Cancer) ส่วนคนผิวขาวไม่มีเม็ดสีเมลานินมากพอไว้ช่วยกรองแสงแดด จึงมีโอกาสเกิดเนื้องอกผิวหนังสูงกว่า

B. Keratinocyte ( คีราติโนไซท์ ) เป็นเซลล์ที่อยู่บริเวณตอนล่างของผิวหนังกำพร้า เป็นเซลล์ที่ผลิตสาร คีราติน ( Keratin ) ซึ่งมีลักษณะเป็นโปรตีนแข็ง ( Fibrous Protein ) ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่มีแร่กำมะถันเป็นส่วนประกอบ ( Sulfured Amino Acid ) ช่วยทำให้เซลล์หนังกำพร้าแข็งและหนาขึ้น สามารถต้านทานการบาดเจ็บ เช่น จากการถลอก การเสียดสีได้ดี เมื่อคีราตินอยู่บนผิวนอกของผมและเล็บจึงทำให้เส้นผมและเล็บแข็งแรง

คีราติโนไซท์ (Keratinocyte) ได้รับเม็ดสีเมลานินผ่านมาทางฝอย ( Dendrite ) ที่ยื่นเป็นแขนออกมารอบตัวของเซลล์ Melanocyte ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง

คีราติน (Keratin) จะมีอยู่หนาแน่นที่เซลล์ชั้นผิวบนสุดของหนังกำพร้าที่เรียกชั้น Stratum Corneum หรือ Horny Cell Layer เซลล์ชั้นนี้จึงแข็งแรงและเหนียว ( คำว่า Keratin มาจากภาษากรีกโบราณว่า Keras แปลว่าเขาสัตว์หรือ Horn เซลล์ที่มี Keratin จึงเรียก Horny Cell )

อัตราส่วนของเซลล์เมลาโนไซท์ ( Melanocyte ) ผู้ผลิตสีเมลานิน ( Melanin ) กับเซลล์ คีราติโนไซท์ ( Keratinocyte ) ผู้ผลิตโปรตีนแข็ง ( Keratin ) ของหนังกำพร้าเท่ากับ 1 ต่อ 4 ในประเทศที่มีแสงแดดจัด แต่ถ้าอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศมืดครึ้ม จะมีสัดส่วนถึง 1 ต่อ 30 เลยทีเดียว คือมี Melanocyte ต่ำมาก เมื่อเทียบกับ Keratinocyte  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

เซลล์เมลาโนไซท์นี้จะไม่มีการขยายจำนวนเพิ่มขึ้น ( Since Melanocytes are of Neural Crest Origin, They have no ability to reproduce ) มีเพียงแต่เม็ดสีเมลานิน ( Melanin Pigment ) เท่านั้นที่เพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งได้จากการผลิตของเซลล์เมลาโนไซท์ เมื่อถูกกระตุ้นโดยแสงแดด

C. เม็ดโลหิตขาวขนาดใหญ่ ( Macrophage มีชื่อเฉพาะถ้าอยู่ที่ผิวหนังว่า Langerhans Cell ) มีอยู่ในหนังกำพร้า ( Epidermis ) ตั้งแต่ชั้นล่างสุด ( Basal Cell Layer ) ขึ้นมา มันมีความสามารถที่จะกินและย่อยสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งผลิตสารเคมี ( Cytokine ) เพื่อสร้างภูมิต้านทาน

โดยปกติเม็ดโลหิตขาวขนาดใหญ่นี้ ( Macrophage : คำว่า Phage แปลว่าผู้กิน Macro แปลว่า ใหญ่ ) จะไม่ทำงาน ( Inactive ) จนกว่าจะถูกกระตุ้น ( ธรรมชาติเป็นผู้กำหนดให้มีการควบคุมเป็นทอด ๆ ) ตัวกระตุ้นจะเป็นกลุ่มแป้งชนิดเชิงซ้อน (Polysaccharide) เช่น Beta 1,3 Glucan ซึ่งพบมากในผนังเซลล์ของสาหร่ายหรือ ส่า (Brewer, s Yeast) ทำให้มันปล่อยสารเคมี ชื่อ Cytokine ออกมา ซึ่งสำคัญมากต่อภูมิต้านทานของร่างกายโดยเฉพาะที่ ผิวหนัง ( Skin ) ( อันเกิดจากคุณสมบัติ Transforming Growth Factor ของ Cytokine )

แป้งเชิงซ้อนชื่อ Beta 1, 3 Glucan นี้ถ้าทำเป็นชนิด Cosmetics grade ( มาตรฐานเครื่องสำอาง ) ซึ่งมีความบริสุทธิ์สูง จะมีราคาแพงมาก ครีมทาหน้าที่มีส่วนผสมเบต้ากลูแคนใน 1 กระปุก ขนาด 2 ออนซ์เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเป็นเครื่องสำอางชั้นสูงราคาอาจถึง 6,000 บาท ต่อกระปุกขนาดโตกว่าหัวแม่มือนิดเดียว ที่มีประสิทธิผลก็เพราะไปกระตุ้น Langerhans Cell ซึ่งเป็นเม็ดโลหิตขาวขนาดใหญ่ หรือ Macrophage ให้ทำงานผลิตสารไซโตคิน ( Cytokine ) ออกมา

D. เซลล์ประสาทรับสัมผัส ( Merkel Cell ) จะไวมากกับการสัมผัสที่ค่อนข้างแผ่วเบา ( Merkel Cells are specialized in the perception of light touch ) จึงพบได้มากที่ปลายนิ้ว ริมฝีปากและบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ของผู้หญิง ( Genitalia )

E. หนังกำพร้าเป็นผู้กำหนดความสวยงามของผิวหนัง ( Surface Texture of Skin ) ลักษณะที่ดีของหนังกำพร้าคือต้องหนา ( Thick Epidermis ) หนังกำพร้าถ้ายิ่งหนา รูขุมขน (Hair Follicle) ก็จะยิ่งกระชับเล็กลง ทำให้ผิวเนียนและแผลเป็นก็จะดูเรียบ เครื่องสำอางที่ดีจึงต้องทำหน้าที่คล้ายกาวธรรมชาติ ( เป็นพวก Ceramide ทำให้สารเคมีที่ยึดเซลล์หนังกำพร้าสมบูรณ์ กระชับรูขุมขนให้แคบ )
อย่างไรก็ดี ถ้าเซลล์ของหนังกำพร้า ( Epidermis ) งอกงามเกินไปจนผิดปกติหรือแห้งมาก เพราะขาดความชุ่มชื้นจากน้ำมันของต่อมไขมัน ( Sebaceous Gland ) ผิวหนัง ( Skin ) ก็จะแลดูหยาบเป็นเกล็ด ( Scaly ) ไม่น่ามอง และไม่น่าสัมผัส  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

F. ซีราไมด์ ( Ceramide ) เป็นไขมันชนิดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เหมือนปูนซีเมนต์ ( Cement ) ใช้ในการก่อสร้าง คอยยึดก้อนอิฐคือเซลล์ต่าง ๆ ในชั้นหนังกำพร้าให้ติดกันเป็นชั้น ๆ ไม่หลุดลุ่ยหรือแยกออกจากกันโดยง่าย ผลที่เกิดจากการประสานกันของ ซีราไมด์ ( Ceramide ) อย่างเหนียวแน่นนี้ ทำให้มันสามารถป้องกันน้ำในร่างกายไม่ให้รั่วหรือระเหยออกมาข้างนอก จึงรักษาความชุ่มชื้น ( Hydration ) ของผิวหนังไว้ได้ วงการธุรกิจเครื่องสำอางให้ความสนใจ ซีราไมค์ ( Ceramide ) เป็นอย่างมากในปัจจุบัน

2. หนังแท้ ( Dermis หรือ Cutis )

เป็นชั้นของผิวหนังที่อยู่ใต้หนังกำพร้า ( Epidermis ) ลงมา หนาประมาณ 25 เท่า ของหนังกำพร้า มีปลายประสาท ( Nerve Ending ) ต่อมเหงื่อ ( Sweat Gland ), ต่อมไขมัน ( Sebaceous Gland หรือ ชื่อทั่ว ๆ ไปก็คือ Oil Gland ), ขุมขน ( Hair Follicle ) , หลอดโลหิต ( Blood Vessel ) ฯลฯ

องค์ประกอบสำคัญของหนังแท้ ( Dermis ) ซึ่งนักเคมีให้ความสนใจ คือ โปรตีนชื่อ คอลลาเจน ( Collagen ) และอีลาสติน ( Elastin ) สานกันอยู่เป็นใยโดยมีกรดไฮยารูโลนิก ( Hyarulonic Acid ) เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ กรดไฮยารูโลนิกนี้ในปัจจุบันพบว่า สามารถดูดน้ำได้อย่างดีเยี่ยม ( Hydrophilic ) โดย 1 โมเลกุลของกรดนี้จะจับน้ำไว้ถึง 214 โมเลกุล เป็นสารชุ่มชื้นธรรมชาติ ( Natural Moisturizer Factor ) ซึ่งพบใน ผิวหนัง ( Skin ) ราคาค่อนข้างแพง ทำเป็นครีมหน้าเด้ง ( Face Lift ) ช่วยลบริ้วรอยบนใบหน้า ส่วนโปรตีนคอลลาเจนเป็นตัวทำให้ผิวหนังเหนียว แข็งแรงและมีความยืดหยุ่น

ปริมาณของคอลลาเจนจะมีมากกว่าอีลาสติน 70 เท่า อีลาสตินช่วยทำให้ผิวหนังดีดกลับมาอยู่สภาพเดิมคล้ายกับยางยืดหรือหนังสะติ๊กที่หดกลับเหมือนสปริง ( Elasticity ) ตลอดเวลา

ถ้าผิวหนังถูกแสงแดดมากขึ้น หรืออายุมากขึ้น โปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินจะถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ทำให้ผิวหนังหมดความนุ่มนวลคอลลาเจนพร่องลง ทำให้เกิดรอยย่น (Wrinkle) บนใบหน้า ผิวจะเหี่ยวเพราะขาดความยืดหยุ่น แลดูเป็นผิวของคนแก่

หน้าที่สำคัญของหนังแท้ ( Dermis หรือ Cutis ) คือคอยประคับประคองและสนับสนุนหนังกำพร้า ( Sustain and Support Epidermis )  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

2.1 เซลล์ที่สร้างโปรตีนคอลลาเจน ( Fibroblast )

เซลล์ไฟโบรบลาสท์ ( Fibroblast ) ของร่างกายมีจำนวนมากที่สุดอยู่ในชั้นหนังแท้ มันจะทำหน้าที่ผลิตสารคอลลาเจนและอีสาสติน ( Collagen ) และ Elastin คอลลาเจนมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 70 ของหนังแท้ เพื่อสร้างความเหนียวและแน่น ส่วนอีลาสตินจะหนักเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น แต่มีบทบาทที่สำคัญในการดึงผิวหนังให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมตลอดเวลา ( Returning the skin to its resting shape )

ไฟโบรบลาสท์จึงเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สำคัญเฉพาะกับหนังแท้ ( Dermis ) ในการสร้างคอลลาเจนเพื่อมาเป็นโครงสร้าง ( Structure ) ของหนังแท้โดยสานกันเป็นมัด แน่นเหมือนเชือกควั่น ทำให้ผิวหนังแข็งแรงและดูสวยงามน่าจับต้อง
เมื่ออายุมากขึ้น เซลล์ไฟโบรบลาสท์จะผลิตคอลลาเจนน้อยลงและคอลลาเจนที่มีอยู่แล้วก็เสื่อมสภาพ ถ้าเราทำให้ผิวหนังสามารถผลิตคอลลาเจนได้อย่างเดิม และคอลลาเจนที่มีไม่เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ เราก็สามารถชะลอความแก่ ( Aging ) ของผิวหนังลงได้ และนี่เป็นหัวใจของธุรกิจเครื่องสำอาง

คำว่า Collagen ( คอลลาเจน ) มีรากศัพท์มาจากภาษา Greek ( กรีก ) แปลว่า กาว ( Glue )

2.2 ต่อมไขมัน ( Sebaceous Gland )

พบได้ทั่วไปใน ผิวหนัง ( Skin ) ตรงชั้นหนังแท้ ( Dermis ) ยกเว้นบริเวณที่ไม่มีต่อมไขมัน คือ ฝ่ามือและหลังเท้า ผิวหนังส่วนที่มีความหนาแน่นของต่อมไขมันมากที่สุดคือ ใบหน้า หนังศรีษะ ( Scalp )

ต่อมไขมัน ( Sebaceous Gland หรือ เรียกทั่ว ๆ ไปว่า Oil Gland คือต้นเหตุของการเกิดสิว ) ( Acne )
ต่อมไขมันมีหน้าที่โดยปกติคือ ผลิตและขับ ( Produce and Secrete ) น้ำมัน ( มีชื่อเฉพาะว่า Sebum ) Sebum นี้เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งโดยมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ ( Triglyceride ) 30 % ผสมกับกรดไขมัน ( Fatty Acid ) 30% ไขมันโคเลสเตอรอล ( Cholesterol ) 5 % Squalene 12 % ฯลฯ น้ำมันซีบัม ( Sebum ) ที่ขับออกมานี้ ทำให้ผิวหนังเป็นมัน นุ่มไม่แตกแห้ง ลดความฝืด และช่วยสร้างความชุ่มชื้น เพราะความหนืดของน้ำมัน จึงไม่ยอมให้น้ำในร่างกายระเหยผ่านออกไปได้ แต่ถ้าน้ำมันซีบัมไม่สามารถขับออกมาได้เพราะปากท่อต่อมน้ำมัน Sebaceous Gland มีการอุดตันจะโดยสาเหตุใดก็ตาม ทำให้เกิดมีตุ่มสิวขึ้นและเชื้อแบคทีเรียที่ชอบทำให้เกิดการอักเสบที่สิวมากที่สุดชื่อ Propionibacterium ( Corynebacterium ) Acnes เรียกย่อ ๆ ว่า P.Acnes ถือโอกาสเข้ามาปนเปื้อน สิวธรรมดาก็จะกลายเป็นหัวหนองได้โดยง่ายท่อของต่อมไขมันจะอาศัยเปิดร่วมกับท่อขุมขน ( Hair Follicle ) โดยมาเชื่อมต่อบริเวณใกล้จะถึงหนังกำพร้า  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

2.3 ต่อมเหงื่อ ( Sweat Gland ) ทางวิชาการเรียกชื่อ Eccrine Gland

ต่อมเหงื่อพบได้ทั่วร่างกายเช่นเดียวกัน ยกเว้นที่ริมฝีฝาก ( Lips ) ช่องหูส่วนนอก ( External Ear Canal ) และบริเวณแคมเล็ก หรือแคมในของอวัยวะเพศสตรี ( Labia Minora ) ต่อมเหงื่อจะมีมากที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหน้าผาก เวลามีเรื่องตื่นเต้นจะพบว่าเหงื่อออกมากในบริเวณดังกล่าว

หน้าที่ของต่อมเหงื่อ คือ ผลิตเหงื่อ ( Sweat ) ซึ่งเป็นน้ำและเกลือโซเดียมละลายอยู่ค่อนข้างสูง โดยเหงื่อจะช่วยให้ร่างกายเย็นลง เมื่อน้ำเหงื่อระเหยเป็นไอน้ำก็จะดึงความร้อนแฝงออกไป กรณีอากาศร้อนทำให้ต่อมเหงื่อที่ผิวหนังผลิตเหงื่อออกมามาก ก็เพราะศูนย์ควบคุมอุณหภูมิ ( Thermoregulatory Center ) ที่อยู่บริเวณมันสมองส่วนล่าง ( Hypothalamus ) เป็นผู้สั่งการให้ต่อมเหงื่อทำงานเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ต่อมกลิ่นตัว สำหรับต่อมกลิ่นตัว ( Apocrine Gland ) มีลักษณะโครงสร้างคล้ายต่อมเหงื่อ ( Sweat Gland ) แต่มีหน้าที่หลักคือ ผลิตกลิ่นเฉพาะที่ค่อนข้างฉุนเพื่อประโยชน์ทางเพศแต่ใช้มากกับสัตว์ มนุษย์มีบ้างแต่น้อยมากที่จะชอบกลิ่นฉุนแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ ต่อมดังกล่าวจะมีหนาแน่นบริเวณรักแร้ ( Axilla ) ผิวหนังรอบทวารหนักและอวัยวะเพศ ( Anogeital Region )

เหงื่อที่ออกมากเกินไปอย่าง เช่น กรณีเล่นกีฬาหนัก ๆ จะขับแมกนีเซียมออกมามาก พร้อมกับเหงื่อจนทำให้ร่างกายขาดแมกนีเซียม จนถึงหัวใจวายได้เหงื่อ ตามปกติจะมีกลิ่นอ่อนมา ( Only a slight Odor )

2.4 ขุมขน ( Hair Follicle ) ผมหรือขนจะงอกออกมาจากรากผม ( Hair Root ) ซึ่งมีเยื่อหุ้มถึง 2 ชั้น เป็นรูปกระเปาะ ( Bulb ) และเรียกทั้งหมดว่า ขุมขน ( Hair Follicle หรือ Hair Bulb ) ท่อขน ( Follicle ) ซึ่งมีขนหรือผมงอกผ่านมาด้วย โดยจะมาเปิดที่ชั้นหนังกำพร้า ( Epidermis ) ออกมาภายนอกร่างกาย ท่อขนแต่ละท่อจะมีปากท่อของต่อมไขมัน ( Oil Gland ) หลายท่อจากหลายต่อมไขมันมาอาศัยเปิดร่วมด้วย ทำให้น้ำมัน ( Sebum ) ไหลออกมาร่วมกับท่อขน จึงช่วยให้ขนหรือผมไม่แตกเปราะ เป็นเงาแวววาว และผมมีน้ำหนักเพราะน้ำมันจะจับชั้นนอกของผม ( Cuticle ) ผมจะแลดูสวย

การที่ผมหวีง่าย มีน้ำหนัก ไม่แตกปลาย ก็เพราะน้ำมันจับเข้าไปในชั้น Cuticle ( เปลือกนอก ) ของผมดังกล่าว เครื่องสำอางสำหรับเส้นผมจึงหาสารที่ให้หลักการเดียวกันนี้เพื่อดูแลเส้นผม  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

2.5 ตุ่มประสาทพาซิเนียน (Pacinian Corpuscle)

Pacinian Corpuscle อยู่ในชั้นหนังแท้ Dermis เป็นตุ่มประสาทที่รับรู้ความรู้สึกสัมผัสทางผิวหนังประเภทค่อนข้างแรง หรือหนัก ( Pressure ) เช่น ถูกบีบหรือกด โดยในหนังกำพร้า ( Epidermis ) จะมีปลายประสาทของ Merkel Cell รับสัมผัสที่เบา ( Light Touch ) ระบบประสาทสัมผัสทั้งหนักและเบานี้ จะมีมากที่ปลายนิ้วมือ ( Fingertips ) เราจึงใช้นิ้วมือในการลูบคลำสิ่งต่าง ๆ มากกว่าอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย

เพื่อประกอบความรู้ ความเจ็บ ( Pain ) จะรับรู้โดยปลายประสาท Merkel Cell ที่ฐานของหนังกำพร้า ( Basal Cell Layer ) กระเปาะเคร้าส ( Krause Bulb ) รับสัมผัสความเย็น ( Cold ) ต่อมราฟฟินิ ( Raffini Corpuscle ) รับรู้ความร้อน ( Heat ) ต่อมไมสเนอร์ ( Meissner Corpuscle ) รับสัมผัสชนิดแผ่วเบา ฯลฯ

3. ชั้นไขมันใต้ ผิวหนัง ( Subcataneous Fatty Layer )

ชั้นไขมันใต้ผิวหนังเปรียบเหมือนเป็นชั้นที่ 3 ของ ผิวหนัง ( Skin ) คือผิวนอกสุดเป็นชั้น Epidermis หรือหนังกำพร้า ชั้นกลาง คือ หนังแท้ หรือชั้น Dermis ( หรือ Cutis ) ชั้นในสุดคือใต้ Dermis เข้ามา จึงเรียกชั้น Hypodermis ( Hypo แปลว่าใต้, Dermis คือหนังแท้, ชั้นนี้จึงเป็นชั้นที่อยู่ลึกกว่าหนังแท้ แปลว่า Hypodermis ) ชื่อทางการแพทย์เรียกว่าชั้น Subcutaneous Layer ( Sub แปลว่าใต้, Cutaneous Membrane แปลว่า ผิวหนัง ( Skin ) ; จึงเรียก Subcutaneous หมายถึงใต้ผิวหนัง )

ถ้าเรียงลำดับจะเป็นดังนี้
1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) อยู่นอกสุด
2. ชั้นหนังแท้ (Dermis หรือ Cutis) อยู่กลางเป็นชั้นหลักของผิวหนัง
3. ชั้นไขมัน (Hypodermis หรือ Subcutaneous หรือ Fatty Layer) อยู่ในสุดคือใต้หนังแท้

ชั้นไขมันนี้จะประกอบด้วยไขมัน ( Fat ) โดยมีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงในบริเวณนี้จำนวนมาก ( Blood vessel ) ไขมันจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางยึดหนังแท้ ( Dermis ) ด้านนอก กับกล้ามเนื้อ ( Muscle ) หรือกระดูก ( Bone ) อยู่ด้านในให้ติดกันและช่วยเป็นเบาะกันกระแทกให้กับอวัยวะต่าง ๆ อีกด้วย
หลอดเลือดบริเวณใบหน้า ถ้าฉีกขาดโลหิตจะไหลออกมาทั้ง 2 ข้างของรอยตัดขาดของ ผิวหนัง ( Skin ) การห้ามเลือดจึงต้องหยุดโดยการกด หรือใช้ปากคีบจับหลอดเลือดทั้งสองข้างของแผล (ถ้าอวัยวะบริเวณอื่น เลือดจะไหลออกมาจากหลอดโลหิตที่ฉีกขาดทางใดก็ทางหนึ่งเท่านั้น เหมือนถนนรถวิ่งทางเดียว – one way) จะเห็นได้ว่าผิวหนังที่ใบหน้ามีเลือดมาหล่อเลี้ยงสมบูรณ์กว่าผิวหนังบริเวณอื่นทั้งหมดทำให้เวลาเกิดการบาดเจ็บที่ใบหน้า จะหายง่ายเร็วกว่าที่อื่น  [adinserter name=”ความงามและผิวพรรณ”]

Lipocyte (เซลล์สร้างไขมัน) อยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง ( Hypodermis ) เซลล์ไลโปไซท์ Lipocyte จะผลิตไขมันให้กับชั้นใต้ผิวหนัง ( Fatty Layer หรือชั้น Subcutaneous ) ไขมันที่ผลิตออกมานี้ จะช่วยเป็นเบาะกันชน ( Cushion ) และฉนวน ( lnsulator ) ให้กับอวัยวะภายใน, กระดูก, กล้ามเนื้อ ฯลฯ และยังทำตัวเป็นแหล่งสะสมพลังงานให้กับร่างกาย เพราะไขมัน 1 กรัม จะให้ความร้อนถึง 9 แคลอรี่ ในขณะที่โปรตีนและน้ำตาลให้เพียง 4 แคลอรี่ต่อ 1 กรัมเท่านั้น

เซลล์ไขมัน ( Fat Cell ) ถ้าครั้งหนึ่งผลิตไขมันออกมาและสะสมไว้จำนวนมาก จะทำให้เซลล์ไขมันตัวมันเอง อ้วนพอง ใหญ่กว่าปกติและมีจำนวนมากเมื่อต่อมาเกิดพยายามลดน้ำหนักเพื่อต้องการให้รูปร่างผอมบาง ไขมันเหล่านี้จะหายไปวันละเล็กละน้อยอย่างแสนลำบาก ใช้เวลาเป็นเดือน แต่ทันทีที่เริ่มกินอาหารไขมันจากอาหารจะไหลกลับมาเข้าเซลล์ไขมันอย่างรวดเร็วเต็มที่ว่างและกลับมาอ้วนอย่างเดิมอีกครั้งภายในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ บางคนอาจอ้วนมากกว่าที่ผ่านมาเพราะ Hunger Center ( ศูนย์ความหิว ) ในสมองสั่งให้ร่างกายกักตุนไขมันไว้และเร่งเก็บสำรองให้มากยิ่งขึ้นกว่าเก่าเพราะกลัวจะขาดแคลนอีก เป็นการป้องกันตัวของร่างกายตามระบบสัญชาติญาณของการอยู่รอด

การที่ให้เด็กเล็ก ๆ กินอาหารจนอ้วนโดยเห็นเป็นของน่ารักน่าเอ็นดูนั้น ท่านกำลังทำผิดอย่างมหันต์ให้กับเด็กคนนี้ เพราะเมื่อโตขึ้น จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องโรคอ้วน ( Obesity ) ตามมา ขอให้พยายามแก้เสียก่อนที่จะช้าเกินไป

Fatty Layer ( ชั้นไขมัน ) นี้จะเก็บกักความร้อนในร่างกายไม่ให้กระจายออกไปทาง ผิวหนัง ( Skin ) ได้ ถ้า Fatty Layer หรือชั้น Hypodermis หนามาก ๆ เช่น คนอ้วน จะรู้สึกร้อนง่ายเพราะฉนวนกันความร้อนแน่นมาก คนอ้วนจึงมีลักษณะขี้ร้อน เพราะอุณหภูมิที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ถูกเก็บอยู่ในตัวไม่สามารถระบายไปไหนได้เหมือนคนห่มผ้านวมหนา ๆ ไว้ตลอดเวลา

หน้าที่ของ ผิวหนัง ( Skin ) คือ

เมื่อวิเคราะห์ลักษณะทางกายวิภาคแล้ว ( Anatomy ) สรุปได้ว่า ผิวหนัง ( Skin ) มีหน้าที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. ควบคุมระดับความร้อนของร่างกาย ( Body Temperature ) ให้เหมาะกับการดำรงชีวิต โดยไขมันในชั้นใต้ผิวหนัง ( Fatty Layer ) จะกั้นไม่ให้ความร้อนในตัวไหลออกเมื่ออากาศภายนอกเย็น และหลั่งเหงื่อออกมาโดยต่อมเหงื่อ ( Sweat Gland ) เพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอ ทำให้ร่างกายเย็นลงเมื่ออากาศภายนอกร้อน อุณหภูมิของร่างกายผู้ใหญ่ปกติ ( วัดทางปาก ) จะอยู่ที่ 98.6๐ F ( 98.6 องศาฟาเรนไฮท์ ) เพราะผิวหนังจึงค่อนข้างคงที่ตลอดเวลา [adinserter name=”navtra”]

2. ป้องกันแสงแดดและรังสี ยูวี ( UV – Ultraviolet ) ไม่ให้ส่องทะลุเข้าไปทำอันตรายอวัยวะภายในและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ รังสียูวีที่มากับแสงแดดทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ( Free Radical ) ซึ่งเป็นอันตราย ก่อมะเร็งและทำให้เกิดโรคความเสื่อม ต่าง ๆ เม็ดสีเมลานีน ( Melanin ) ในชั้นหนังกำพร้ามีบทบาทสำคัญในการป้องกัน โดยดูดซึมรังสียูวีนี้ไว้

3. ป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียน้ำภายในตัวออกมา เพราะในชั้นผิวหนังมีสารประเภท Mucopolysaccharide เช่น Ceramide (ซีราไมด์) ทำตัวเหมือนปูนซีเมนต์ยึดเซลล์ต่างๆ ให้ติดกัน กั้นน้ำส่วนใหญ่ไม่ให้รั่วหรือระเหยออกมาและยังมีน้ำมัน ( Sebum ) จากต่อมไขมันจะช่วยเคลือบผิวหนังด้านนอกช่วยเก็บความชุ่มชื้นไว้

น้ำในร่างกายมีสูงถึงร้อยละ 70 ของน้ำหนักตัว ถ้าขาดน้ำไปเพียงร้อยละ 2 ร่างกายจะรู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลียและถ้าขาดน้ำถึง 5 เปอร์เซ็นต์ สมองจะเริ่มสับสนในเลือดต้องมีน้ำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มิฉะนั้นเลือดข้น ( Viscosity ) มากไปหล่อเลี้ยงสมองลำบาก ฯลฯ ในกรณีเช่นนี้ต้องกินน้ำให้มาก อย่างน้อย 8 แก้ว ( แก้วละ 8 ออนซ์ ) ต่อวัน

4. ผิวหนัง ( Skin ) จะห่อหุ้มร่างกายทั้งตัว มีความหนาบางในบริเวณต่างๆ ไม่เท่ากันตามความจำเป็น ทำให้สามารถป้องกันอวัยวะภายในจากอันตรายซึ่งอยู่ภายนอกเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม เช่น จากของแข็ง เชื้อโรค ฝุ่นละออง ฯลฯ โดยป้องกันการรบกวนไม่ให้รุกล้ำเข้ามาได้ รวมทั้งชั้น Fatty Layer ( อยู่ใต้หนังแท้ ) จะทำหน้าที่เป็นเบาะกันซน ( Cushion ) รองรับแรงกดและแรงกระแทกต่าง ๆ

5. สามารถรับรู้ความรู้สึกทั้งหนักและเบา ผิวหนัง ( Skin ) สร้างระบบสื่อสารที่สำคัญ ( Organ of Commumication ) การที่มีคุณสมบัติสามารถรับสัมผัสทำให้ร่างกายสามารถสร้างกระบวนการป้องกันตนเองได้ เช่น การตอบสนอง ( Condition Reflex ) เมื่อรับความรู้สึกเจ็บ โดยอาจจะกระโดดถอยออกไปทันทีเพื่อหนีภัยโดยอัตโนมัติ เป็นต้น ก่อนที่จะเกิดอันตรายกับร่างกายมากไปกว่านี้

6. ผิวหนังที่แข็งแรงสดใส เปล่งประกายสุขภาพดี เหมือนคืนกลับสู่ความเยาว์วัย ทั้งชุ่มชื้นและยืดหยุ่น ปราศจากริ้วรอย ย่อมเป็นเครื่องจูงใจ ทำให้ดึงดูดความรู้สึกทางอารมณ์ของเพศตรงข้าม กระตุ้นให้เกิดการสืบพันธุ์ขึ้น มนุษย์จึงยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ตลอดไป

มีเผ่าพันธุ์ของลิงชนิดมีหาง ( Monkey ) และลิงใหญ่ไม่มีหาง ( Ape ) รวม 193 ตระกูล ( Species ) บนโลกของเราใบนี้ โดย 192 ตระกูลมีขนดกและหนาทั่วทั้งร่างกาย ตั้งแต่หัวจรดหาง มีเพียงตระกูลที่ 193 อยู่ตระกูลเดียวที่ไม่มีขนบนลำตัว และพวกมันขนานนามตัวมันเองว่า มนุษย์ หรือ Homo Sapiens นั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศ.ดร.น.พ. สมศักดิ์ วรคามิน. ผิวสวย (BEAUTY SECRET THE UNTOLD STORY) กรุงเทพ: 2539 – 2560 โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) © Copy Right 1996, 2017.

ริตา, เกรียร์. อาหารขจัดอนุมูลอิสระ. กรุงเทพ: หมอชาวบ้าน,2551. 176 หน้า : 1.อาหาร-แง่สุขภาพ. 2.อนุมูลอิสระ. I.วูดเวิร์ด,โรเบิร์ต, II.พิสิฐ วงศ์วัฒนะ,ผู้แปล. III.ชื่อเรื่อง. 613.2 ISBN 978-974-04-5522-6.

Papanelopoulou, Faidra (2013). “Louis Paul Cailletet: The liquefaction of oxygen and the emergence of low-temperature research”. Notes and Records, Royal Society of London. 67 (4): 355–73. doi:10.1098/rsnr.2013.0047.Emsley 2001, p.303.