ครีมกันแดด ( Sunscreen )
ครีมกันแดด ( Sunscreen ) หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่ายาทากันแดด ( ซึ่งส่วนมากเป็นครีม ) ในอดีตที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนให้รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายโดยแพทย์โรคผิวหนังบางกลุ่ม และสถาบันการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังเป็นผู้แนะนำ
คำว่า Sunscreen หมายถึงสารที่ใช้ทาบนผิวหนัง มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันผิวหนังจากการถูกแสงอาทิตย์ทำอันตรายในภาษาเครื่องสำอางมักจะเรียกว่า ครีมกันแดด ( Sunscreen )
Sunblock (ซันบล็อก) หมายถึงครีมที่ขัดขวางแสงแดด คือ ครีมกันแดด ( Sunscreen )อีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช้สารเคมีเพื่อทำหน้าที่ในการดูดซับรังสียูวีเอาไว้ แต่ใช้วิธีสะท้อนรังสียูวีกลับออกไป ดังนั้น Sunblock จึงเป็น Physical Sunscreen เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้สารเคมีง่าย แต่เวลาทาจะดูเป็นคราบขาว ๆ มองดูเหมือนของราคาถูก
โดยปกติทั่ว ๆ ไป คำว่า Sunblock ใช้ความหมายเดียวกับ Sunscreen ได้และหลัง ค.ศ.2002 FDA ( อย.ของอเมริกา ) ออกระเบียบใหม่ทุกอย่างโดยให้เรียก Sunscreen เพียงคำเดียว
ประโยชน์ของ ครีมกันแดด ( Sunscreen )
ถ้าเราใช้ ครีมกันแดด ( Sunscreen ) อย่างถูกวิธี สามารถทำประโยชน์ได้ดังนี้คือ
- ป้องกันผิวไหม้เกรียมจากแสงแดด (Sunburn) ซึ่งรังสี UVB (ยูวีบี) ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญ
- ป้องกันผิวเสียจากแสงแดด (Photodamaged Skin) ที่สำคัญคือการเกิดริ้วรอยถาวร (Wrinkle) ผิวดูเหมือนคนแก่ (Aged Look) เป็นต้น
- ป้องกันเนื้องอกของเซลล์บริเวณชั้นหนังกำพร้า (Squamous Cell Cancers)
- ครีมกันแดดที่ดีต้องป้องกันได้ทั้งรังสียูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) แต่ครีมกันแดดที่ขายทั่วไปจะป้องกันได้แต่ UVB ซึ่งเป็นรังสีที่ทำให้เกิดผิวหนังไหม้ Sunburn
มีตัวยาเพียง 3 ชนิด ที่ได้รับคำรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าสามารถป้องกันรังสี ยูวีเอได้ คือ ไททาเนียม ไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) สังกะสีออกไซด์ (Zinc Oxide) และอโวเบนโซน (Avobenzone) หรือ Parsol 1789 ถ้าซื้อยากันแดดแล้วผู้ขายอ้างว่าป้องกันรังสียูวีได้ทั้งหมด ท่านต้องดูสูตรของครีมเสียก่อนว่ามีตัวยา 3 ตัวนี้หรือไม่ ถ้ามีเพียงตัวใดตัวหนึ่งก็ถือว่าเป็นของจริง สามารถซื้อใช้ได้
เวลาซื้อยากันแดด ครีมกันแดด ( Sunscreen ) ต้องดูวันผลิต (Mfd Date) และวันหมดอายุด้วย (Exp. Date) มักพิมพ์ไว้ที่ข้างขวดหรือก้นขวด เพราะประสิทธิภาพของการป้องกันรังสียูวีจะลดลงตามเวลาที่ผ่านไปหรืออายุของยา แนะนำให้ซื้อใช้ที่ผลิตไม่เกิน 1 ปี เพราะอายุของครีมกันแดดจะสั้นมาก (Short Shelf Life) อย่าซื้อมาเก็บตุนไว้ เพราะอาจจะใช้ไม่ทัน
FDA (คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา – Food and Drug Administration) กำหนดให้ยากันแดดต้องมีอายุถึง 3 ปี นับจากวันผลิตและอนุญาตให้จำหน่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ วันผลิตต้องแสดงให้ปรากฏ แต่วันหมดอายุไม่ต้องพิมพ์ลงไปก็ได้ ซึ่งจะถือว่า 3 ปีหมดอายุ อย่างไรก็ดีไม่แนะนำให้ท่านซื้อครีมกันแดดอายุนานเกิน 1 ปี นับจากวันผลิต
ครีมกันแดด ( Sunscreen ) มี 2 แบบ เพราะใช้ 2 วิธี ในการกั้นแสงยูวี
Sunscreen แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ
ครีมกันแดดชนิดดูดซึมรังสียูวี ( Absorber Sunscreen )
โดยสารเคมีที่เป็นตัวผสมสำคัญของครีมจะดูดซึมรังสียูวีโดยปฏิกิริยาเคมีไว้ไม่ให้ผ่านเลยไปทำอันตรายต่อผิวหนังได้ ตัวอย่างคือตัวครีม Oxybenzone จัดว่าเป็น Chemical Sunscreen
ครีมกันแดดชนิดสะท้อนรังสียูวีกลับไป ( Reflector Sunscreen )
คือสารเคมีที่อยู่ในครีมจะทำหน้าที่เหมือนกระจกสะท้อนรังสียูวีกลับทำให้ไม่มีรังสีเหลือผ่านเลยไปทำลายผิวหนัง ตัวยาสำคัญคือ ไททาเนียม ไดออกไซด์ ( Titanium Dioxide ) ซึ่งใช้ป้องกันรังสียูวีเอ ( UVA ) ได้ด้วยจัดว่าเป็น Physical Sunscreen, Titanium Dioxide ( ไททาเนียม ไดออกไซด์ ) นี้เมื่อทาหน้าจะทำให้ผิวขาวโพลนชนิดขาวไม่สวย คือ ขาววอก เหมือนหน้าลิเก ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่จึงทำเป็นผงละเอียดขึ้น ( Microfined Particle ) จนไม่ทำให้หน้าดูขาวมากเกินไป ครีมกันแดดชนิดหลังนี้มีจำหน่ายในเมืองไทยแล้ว
น้ำยาทาผิวสีแทน ( Suntan Lotion ) ไม่กันแดด
ครีมกันแดด ( Sunscreen ) รุ่นใหม่ๆ สามารถช่วยชะลอความแก่ของผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยป้องกันไม่ให้รังสียูวีมาทำลายผิวหนังและคอลลาเจนได้ ในอดีตเคยนิยมใช้โลชั่นทาผิวสีแทน ( Suntan Lotion ) ทาเพื่อกันแดด ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ได้ป้องกันรังสียูวีแต่อย่างใดเลย หลงใช้กันมานาน ยิ่งเมื่อเวลานอนอาบแดดตามชายหาด ผลก็คือคนรุ่นเก่าทั้งหลายซึ่งเป็นผู้สูงอายุขณะนี้ ต้องประสบปัญหาผิวเสียจากแสงแดด ( Skin Photodamage ) อยู่ในปัจจุบันจำนวนมาก
ครีมกันแดดเพื่อใช้กับผู้ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ
ครีมกันแดด ( Sunscreen ) รุ่นล่าสุดมีตั้งแต่เป็นเจลอ่อน ๆ ( Ligh Gel ) ไว้ใช้ทาผิวเพื่อไปทำงานได้ทุกวัน ไปจนถึงชนิดครีมเหนียวเหนอะป้องกันน้ำได้ (Waterproof Cream) ใช้ทาตัวตอนอาบน้ำในสระว่ายน้ำ
คำว่า “ป้องกันน้ำ” ( Waterproof ) จะทาตัวเวลาเล่นน้ำในสระอยู่ได้นานกว่าชนิด “ทนน้ำ” ( Water Resistant )
ปัจจุบันคำว่า Waterproof ( กันน้ำ ) ทาง FDA ( อาหารและยา ) ของประเทศสหรัฐอเมริกาห้ามใช้โฆษณาบนฉลาก ตั้งแต่ ค.ศ.2002 ( พ.ศ.2545 ) เป็นต้นมา
ค่ากันแดด ( Sun Protection Factor )
SPF ( เอส พี เอฟ ) เป็นคำย่อของ Sun Protection Factor ( ค่ากันแดด ) ซึ่งจะต้องตามด้วยตัวเลข เช่น SPF 15 โดยตัวเลขที่ตามคำว่า SPF หมายถึง ระดับความสามารถของ ครีมกันแดด ( Sunscreen ) ที่จะปกป้องผิวอันเกิดจากการทำลายของแสงแดดที่มีรังสียูวี นั่นคือถ้าตัวเลขสูงย่อมป้องกันผิวหนังจากแสงแดดได้เหนือกว่าคือนานกว่า เช่น SPF 40 ( เอส พี เอฟ สี่สิบ ) ย่อมแรงกว่า SPF 15 เป็นต้น เนื่องจากศัตรูอันดับหนึ่งของผิวสวย คือ แสงแดด ( ควรจะอยู่ตั้งแต่อันดับ 1 ถึงศัตรูอันดับ 10 คือเหมาทั้งหมดเลย )
ความรู้เรื่อง ค่ากันแดด (SPF) ที่คุณผู้หญิงควรจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ
ทำไมแสงแดดจึงสามารถทำอันตรายต่อผิวหนังได้?
ที่ใดที่มีแสงแดด ไม่ว่าจะส่องแสงแรงจ้าหรือมืดครึ้มเพราะเมฆหมอกมาบดบังก็ตาม จะต้องมีรังสียูวี ( UV Radiation ) ร่วมมาด้วยเสมอเพราะทั้งรังสียูวีเอและรังสียูวีบี ถึงแม้ตาเปล่าจะมองไม่เห็นแต่มันก็เป็นส่วนประกอบที่มากับแสง ( Light ) ซึ่งแผ่มาจากดวงอาทิตย์
ผู้ที่ปีนเขาอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล หรือแม้แต่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะได้รับรังสียูวีที่แรงมาก เครื่องสำอางที่ใช้จะต้องมีสารกันแดดผสมในความเข้มข้นสูงอยู่ด้วย
รังสียูวีเป็นพลังงาน ( Energy ) มาในรูปของคลี่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( Electromagentic Wavelength ) ที่ความถี่ระหว่าง 200 – 400 mm. ( นาโนมิเตอร์ ) พลังงานดังกล่าวทำให้รังสียูวี ( UV ) สามารถทะลุผ่านผิวหนัง เมื่อทะลวงแนวป้องกัน ( Barrier ) ของผิวหนังกำพร้า ( Epidermis ) สามารถทำอันตรายให้กับเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่อยู่ภายในได้ มากน้อยขึ้นกับขนาดของพลังงานหรือความแน่นของรังสียูวี
รังสียูวี ( UV Ray ) ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ( Free Radical ) ซึ่งจะทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ ( Cell Membrane ) ชำรุด ผิวหนังอักเสบแดง ( Sunburn ) และมากพอที่ DNA ( ดี เอน เอ ) ซึ่งเป็นรหัสพันธุกรรมเหมือนพิมพ์เขียวของเซลล์ ( Cell Blueprint ) เสียหาย จนเซลล์ที่บาดเจ็บทำงานผิดเพี้ยน แบ่งตัวไม่เป็นระเบียบก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้น โปรตีนคอลลาเจนและ อีลาสตินซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออยู่ในชั้นหนังแท้ทับซ้อนกันเป็นโครงสร้างมีหน้าที่ช่วยให้ผิวหนังตึงและแข็งแรง เหมือนหมอนที่อัดนุ่น ( นุ่นเปรียบเป็นคอลลาเจน ) หมอนก็จะดูแน่นน่านอน ถ้าคอลลาเจนเสื่อมสภาพกระด้างขาดความยืดหยุ่นเนื่องจากรังสียูวีทำอันตราย ใบหน้าจึงเกิดริ้วรอยถาวร ( Face Wrinkle )
วิตามิน ดี ( Vitanin D ) ขาด ยากที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
การทา ครีมกันแดด ( Sunscreen ) ที่มีคุณภาพเหมาะสมสามารถป้องกันศัตรูอันดับ 1 ถึง 10 ของผิวหนังคือ แสงแดดได้ แพทย์โรคผิวหนังทราบดีว่าควรป้องกันผิวหนังจากแสงแดดให้ได้ตั้งแต่วัยเด็ก และสร้างนิสัยความกลัวแดดเอาไว้ด้วย ซึ่งเป็นการถนอมผิวที่ดีที่สุดในโลกอนาคต
วิตามิน ดี ( Vitamin D ) เป็นสิ่งซึ่งร่างกายสร้างขึ้นมาจากผิวหนังเมื่อถูกแสงแดด เพื่อไว้ป้องกันโรคกระดูกอ่อน การจะขาดวิตามิน ดี เพราะไม่ถูกแสงแดดนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เป็นปัญหาของประเทศเมืองหนาวไม่ใช่ประเทศไทย
ความหมายของตัวเลขที่ตามหลังค่า SPF ( เอส พี เอฟ ) คืออะไร
นักวิทยาศาสตร์ออสเตรียชื่อ ฟรานซ์ กรีทเตอ ( Franz Greiter ) เป็นคนแรกที่เสนอความคิด เรื่องการกำหนดค่ากันแดด ( SPF ) ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับอย่างพร้อมเพรียงกันจากกลุ่มบริษัทเครื่องสำอาง, กลุ่มอุตสาหกรรมยา, รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ
ตัวเลขที่ปรากฏอยู่หลังคำว่า SPF คือ จำนวนเท่าของระยะเวลาที่ผิวหนังซึ่งถูกทาด้วย ครีมกันแดด ( Sunscreen ) ชนิดหนึ่งจะทนแดดอยู่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกันกับผิวหนังที่ไม่ได้ทาครีมกันแดดใด ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าไม่ทาครีมกันแดด ผิวหนังนั้นเมื่อถูกแสงแดดจะใช้เวลา 10 นาที จึงเกิดอาการแดงขึ้น (Erythema หรือ Sunburn) แต่ถ้าทาครีมกันแดดชนิดหนึ่งแล้วพบว่าผิวหนังนั้นทนได้นาน 150 นาที ผิวหนังถึงจะปรากฏอาการแดงแบบ Sunburn เช่นเดียวกัน คือถ้าทาครีมทำให้อยู่นานกลางแดดเป็น 15 เท่า จาก 10 นาทีผิวจะแดงมาเป็น 150 นาที ผิวถึงจะแดงเพราะครีมกันแดดช่วยป้องกันไว้ ดังนั้น ค่า SPF ( เอส พี เอฟ ) ของครีมกันแดดชนิดนั้นจึงเป็น SPF 15 ( ได้มาจาก 150 นาที หารด้วย 10 นาที เท่ากับ 15 )
ค่า SPF ใช้กับรังสียูวีบี ( UVB ) ไม่เกี่ยวกับรังสี ยูวีเอ ( UVA )
จะเห็นได้ว่าการคำนวณค่าของ SPF เราพูดถึงระยะเวลาที่ผิวแดงเกิดขึ้น (Erythema หรือ Sunburn) เอามาเป็นตัวชี้ ซึ่ง Sunburn เป็นการรบกวนของรังสียูวีบี (UVB) ที่กระทำต่อผิวหนังไม่ใช่ UV ชนิด เอ (A) หรือ ซี (C)
รังสียูวีบี ( UVB ) คือรังสี Ultraviolet ชนิด B ( บี ) โดยคำว่า B ที่ตามท้าย UV หมายถึง Burn ( ไหม้เกรียม )
เมื่อพูดถึงค่า SPF 15 หรือค่า SPF 40 เราไม่ได้หมายถึงการป้องกันรังสี UVA ดังนั้น เมื่อจะเลือกซื้อ ครีมกันแดด ( Sunscreen ) จึงต้องอ่านฉลากให้แน่ใจเสียก่อนว่ามีสารสังกะสีออกไซค์ (Zinc Oxide) ไททาเนียม ไดออกไซด์ หรือ อโวเบนโซน (Avobenzone) อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ด้วย จึงจะถือว่าป้องกันรังสียูวีได้ครอบคลุมทั้งหมดคือป้องกันทั้งรังสี UVA , UVB และ UBC จากดวงอาทิตย์ไม่ค่อยส่องมาถึงโลกโดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในประเทศไทย เพราะชั้นโอโซนในบรรยากาศเหนือประเทศไทยหนาแน่นกว่าบนท้องฟ้าของประเทศอังกฤษและประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีชั้นโอโซนที่บางมาก
ข้อควรทราบ วิธีใช้ ครีมกันแดด ( Sunscreen ) ที่บอกค่า SPF
SPF หรือค่ากันแดด Sun Protection Factor มีตัวเลขห้อยท้าย ที่แสดงถึงประสิทธิภาพของ ครีมกันแดด ( Sunscreen ) ในการป้องกันรังสียูวีบี แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับรังสียูวีเอแต่อย่างใด
รังสียูวีเอ UVA มีอันตรายมากกว่ารังสียูวีบี UVB เพราะมันเจาะทะลุผิวหนังได้ลึกมากกว่า ก่อนซื้อจึงควรตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่ามีตัวยาป้องกันรังสียูวีเอผสมอยู่ด้วยซึ่งได้แก่ Zinc Oxide หรือ Titaninu Dioxide หรือ Avob enzone ตัวใดตัวหนึ่งตามมาตรฐานของประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ให้เป็นกฎไว้เลยว่าเพื่อให้ได้ผลสมบูรณ์ ต้องทาขนาด 2 มิลลิกรัมของครีมต่อพื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร แต่ตามความเป็นจริงจากผลการศึกษาพบว่า ผู้ใช้เกือบทุกรายที่ทำวิจัยมักจะทาครีมกันแดดปริมาณเพียงครึ่งเดียวของคำแนะนำ
ข้อแนะนำของสถาบันโรคผิวหนังเกือบทุกประเทศทั่วโลก คือ ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ ครีมกันแดด ( Sunscreen ) ที่มีค่า SPF 15 หรือมากกว่าและต้องมีสารป้องกันรังสียูวีเอ UVA ผสมอยู่ด้วย
หลังจากการอาบน้ำหรือว่ายน้ำ เล่นกีฬาเหงื่อออกมากควรทาครีมกันแดดเพิ่มขึ้นอีก ถึงแม้ในสภาวะอากาศมืดครึ้ม ก็ต้องใช้ครีมกันแดดเพราะรังสียูวีจะผ่านมาถึงโลกได้ในตอนกลางวันตลอดเวลา ถึงจะไม่เห็นแสงแดดก็ตาม ควรสวมหมวกปีกกว้างเวลาออกไปกลางแจ้ง เลือกใช้แว่นตากันแดดชนิด Anti UV คือป้องกันรังสียูวีได้ เสื้อผ้าชนิดทอเนื้อแน่นแสงแดดจะไม่ทะลุ โดยเฉพาะกลุ่มที่ตีกอล์ฟ ถ้าประมาทไม่ระวังเรื่องแสงแดดพออายุประมาณ 40 ปี ผิวหนังจะทรุดโทรมเร็วมากและถ้าเผอิญเล่นแพ้บ่อย ๆ จะดูหน้าแก่และมีริ้วรอยถาวรขึ้นง่ายอีกด้วย
ควรหลบแดดระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 16.00 น. เพราะชั้นบรรยากาศจะกรองรังสียูวีได้น้อยมากกว่าเวลาอื่น ๆ (คือรังสียูวีตอนนี้มีความเข้มข้นมาก) ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ทา ครีมกันแดด ( Sunscreen ) หนา ๆ ไว้โดยเฉพาะบริเวณปลายจมูกให้ทามากเป็นพิเศษ มิฉะนั้นอาจจะเสียโฉม
อย่าปล่อยเด็กซึ่งเป็นลูกหลานของท่านถูกแสงแดดจัด ๆ โดยป้องกันไม่เพียงพอ รังสียูวีที่ทำลายผิวหนังถึงแม้จะได้รับทีละเล็กละน้อย แต่สามารถสะสมจนภายหลังอาจเกิดเป็นมะเร็งผิวหนังได้เมื่อตอนโตเป็นผู้ใหญ่ หัดให้เด็กรู้จักทาครีมกันแดดเวลาออกไปเล่นกีฬากลางแจ้งจนติดเป็นนิสัย
ผลการวิจัยจากสถาบันบางแห่งรายงานว่า ผู้บริโภคเกือบทุกคนมักทา ครีมกันแดด ( Sunscreen ) เพียงครึ่งเดียวจากที่ควรจะต้องใช้ แพทย์ผิวหนังซึ่งต้องการให้คนไข้ทาครีมที่มี SPF 15 จึงต้องใช้วิธีจ่ายยากันแดดที่มีค่า SPF 30
ไม่แนะนำให้ใช้ครีมกันแดดชนิด SPF 45 หรือมากกว่า เพราะคุณอาจมีปัญหากับสารเคมีที่เข้มข้นมาก เกิดอันตรายได้การเลือกใช้ SPF 15 นับว่าเหมาะสม ขยันทาให้บ่อยขึ้นจะปลอดภัยกว่า ในประเทศญี่ปุ่นจะไม่มี ครีมกันแดด ( Sunscreen ) ที่มีค่าเกิน SPF 50 ออกมาวางจำหน่ายเลย
เสื้อผ้าของนักกอล์ฟอาชีพชาวต่างประเทศ มักนิยมใช้สารเคมีซันการ์ดบางชนิดเติมในเวลาซักล้างเสื้อผ้า ซึ่งสารเคมีดังกล่าวจะติดกับใยผ้า ทำหน้าที่ป้องกันแดดได้ถึง 96 เปอร์เซ็นต์ ไม่ยอมให้รังสียูวีผ่านเสื้อผ้ามาถึงผิวหนัง โดยวิธีดูดซึม Absorb เอาไว้ เมื่อออกไปกลางแดด อย่าลืมสวมแว่นตากันแดดที่กั้นรังสีความถี่ต่ำกว่า 400 nm ทุกครั้ง
ผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถป้องกันแสงแดดได้มีจำหน่ายมานานหลายปีแล้ว ผู้ตัดสินกีฬาโอลิมปีกเกมส์ที่เมืองซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียทุกคนสวมใส่ชุดกรรมการผู้ตัดสินที่ทอด้วยผ้าดังกล่าว ซึ่งช่วยป้องกันรังสียูวีได้ดี แต่ราคาในขณะนั้นแพงมาก ( ปัจจุบันราคาถูกลงกว่าเดิมถึง 3 เท่า แต่ก็ยังนับว่าแพงอยู่ )
FDA ( องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ) ออกกฎใหม่เกี่ยวกับยาทากันแดดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
นอกจากจะควบคุม ครีมกันแดด ( Sunscreen ) อย่างเข้มงวดแล้วค่า SPF ของเครื่องสำอางในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ถูกควบคุมโดยองค์การอาหารและยา FDA เช่นกัน
กฎใหม่เกี่ยวกับเครื่องสำอางจากประเทศสหรัฐอเมริกาประเภท ครีมกันแดด ( Sunscreen ) มีข้อความตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่ ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) เป็นต้นไป องค์การอาหารและยา (FDA เอฟ ดี เอ) ไม่อนุญาตให้ใช้คำที่ก่อให้เกิดความสับสนกับผู้บริโภคในครีมกันแดดคือ Sunblock ( ครีมกันแดดชนิดสะท้อนแสงกลับ Waterproof (กันน้ำ ) และ All-Day Protection ( ป้องกันได้ตลอดวันบนผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดหรือยากันแดด ( Sunscreen )
FDA ( เอฟ ดี เอ ) ของสหรัฐอเมริกามีข้อบังคับให้ติดคำเตือน ( Warning ) ไว้บนผลิตภัณฑ์ครีมทาผิวสีแทน ( Tanning Product ) ที่ไม่มีส่วนผสมของยากันแดด ดังนี้
“ผลิตภัณฑ์นี้ไม่มียากันแดด” ครีมกันแดด ( Sunscreen ) และไม่ป้องกันผิวไหม้จากแสงแดด การตากแดดบ่อย ๆ ขณะทาสีแทนเอาไว้ อาจก่อให้เกิดเนื้องอกของผิวหนัง ผิวหนังเหี่ยวแก่ Skin Aging และอันตรายอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ผิวหนังอาจไม่มีรอยไหม้ก็ตาม ( Sunburn ) ( จากประกาศของ FDA ประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ.2002 )
lll. Skincare and the Sun ( การทะนุถนอมผิวกับแสงแดด )
เอกสารข้างต้นค่อนข้างใหม่ล่าสุดมีอายุไม่เกิน 7 ปี เกือบทั้งสิ้นในทุกบทความ เพื่อให้ท่านได้มั่นใจและซาบซึ้งดีว่าแสงแดดคือศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของผิวหนัง ( Excessive Sun Light is the Skin’s Worst Enemy )
ถึงแม้ว่าผิวหนังจะเสียไป แต่ด้วยความสามารถของแพทย์ผิวหนังและแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งของประเทศเรา ซึ่งเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกจะช่วยท่านแก้ไขลบรอยตำหนิได้โดยง่าย แต่อาจต้องใช้เงินจำนวนมาก รวมถึงระยะเวลาในการรักษาที่นานพอสมควร
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
ศ.ดร.น.พ. สมศักดิ์ วรคามิน. ผิวสวย (BEAUTY SECRET THE UNTOLD STORY) กรุงเทพ: 2539 – 2560 โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) © Copy Right 1996, 2017.
ริตา, เกรียร์. อาหารขจัดอนุมูลอิสระ. กรุงเทพ: หมอชาวบ้าน,2551. 176 หน้า : 1.อาหาร-แง่สุขภาพ. 2.อนุมูลอิสระ. I.วูดเวิร์ด,โรเบิร์ต, II.พิสิฐ วงศ์วัฒนะ,ผู้แปล. III.ชื่อเรื่อง. 613.2 ISBN 978-974-04-5522-6.