การตรวจวินิจฉัยและประเมินระยะ
มะเร็งเป็นโรคที่จะต้องมี การตรวจวินิจฉัยและประเมินระยะ ที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่าโรคทั่วไป เพราะไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดจากการตรวจในครั้งแรกว่า ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและใช้เวลาในการตรวจนานพอสมควรเลยทีเดียว โดยทั้งนี้ในการตรวจและแปลผล จะต้องใช้เวลาเป็นอย่างน้อย 3 วันหรืออาจนานเป็นสัปดาห์ เลยก็ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากที่สุดว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งจริงและเป็นมะเร็งชนิดไหน รวมทั้งจะได้ลดความผิดพลาดในการตรวจให้เหลือน้อยที่สุดด้วย นอกจากนี้การรักษาก็จะมีความยุ่งยากซับซ้อนเช่นกัน และอาจเกิดผลข้างเคียงจากอาการแทรกซ้อนได้อีกด้วยก่อนเริ่มรักษาจึงต้องอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง และที่สำคัญจะต้องใช้เวลาในการรักษานานมาก ซึ่งอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง
สำหรับผู้ป่วยใหม่ที่มีอาการสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็ง เริ่มแรกจะต้องทำ การตรวจวินิจฉัย โรคดูก่อนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ แล้วจึงตามด้วยการประเมินระยะของโรค ตรวจประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อจะได้หาแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเมื่อเข้าสู่ช่วงการรักษาจนครบการรักษาแล้ว ก็จะมีการตรวจติดตามผลแบบระยะยาวไปจนตลอดชีวิต เพื่อเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกนั่นเอง การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งจะแบ่งออกเป็นหลายขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยที่แน่ชัด โดยแบ่งได้ดังนี้
1. ตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อคัดกรองว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่และวางแผนการรักษาได้อย่างถูกวิธี
2. ตรวจประเมินระยะของโรคว่าอยู่ในระยะไหนแล้ว เพื่อจะได้เตรียมการรักษาอย่างเร่งด่วน และพิจารณาเลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด
3. ตรวจประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม
4. ตรวจประเมินผลในช่วงการรักษา เพื่อดูผลการรักษาที่เกิดขึ้นว่าผลที่ได้มีความน่าพอใจมากแค่ไหน หรือหากผลไม่ค่อยน่าพอใจมากนักก็จะได้เปลี่ยนแผนการรักษาใหม่นั่นเอง
5. ติดตามผลระยะยาวของการรักษาไปจนตลอดชีวิต เพื่อระวังการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งอีกครั้งและอาจมีความรุนแรงมากกว่าเดิม
6. ตรวจวินิจฉัยเมื่อพบโรคหลงเหลือหลังจากครบกำหนดในการรักษาแล้ว
7. ตรวจวินิจฉัยกรณีโรคอาจย้อนกลับเป็นซ้ำอีกหรือแพร่กระจายได้
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในผู้ป่วยใหม่
สำหรับการตรวจวินิจฉัยในผู้ป่วยใหม่ว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ จะมีวิธีการตรวจดังนี้
- ไปพบแพทย์ด้วยอาการสำคัญหรือความกังวลว่าตนเองกำลังป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
2. แพทย์จะทำการสอบถามผู้ป่วยเพิ่มเติมถึงอาการอื่นๆ ที่แพทย์ต้องการทราบเพื่อประกอบการวินิจฉัย
3. สอบถามประวัติการรักษาทางแพทย์ของผู้ป่วย รวมถึงประวัติอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น อาชีพที่ทำ การใช้ยา การเจ็บป่วยที่เคยเกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน จากนั้นก็จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจเฉพาะที่ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดมากขึ้น
ผู้ป่วยจะต้องคอยสังเกตอาการความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้วินิจฉัยและรีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
นอกจากนี้ก็อาจจะมีการตรวจเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งด้วย ซึ่งก็จะมีวิธีการตรวจหลากหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าแพทย์ต้องการตรวจแบบไหน อย่างไรก็ตาม การจะตรวจหามะเร็งได้อย่างแน่ชัดมากที่สุด ก็คือการตัดเอาชิ้นเนื้อจากแผลหรือก้อนเนื้อมะเร็งไปตรวจทางพยาธิวิทยา จะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือเป็นโรคอื่นๆ กันแน่ และเมื่อทำการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว แพทย์ก็จะทำการประเมินระยะของโรคว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะไหน พร้อมกับประเมินสุขภาพของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องคอยสังเกตอาการความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้วินิจฉัยและรีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งในปัจจุบันมีโรคมะเร็งเพียงแค่ 3 ชนิดเท่านั้นที่สามารถทำการตรวจคัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง ส่วนโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ยังไม่สามารถตรวจคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพได้ จึงต้องอาศัยการสังเกตความผิดปกติของตัวเองแทน
วิธีการประเมินระยะของโรคมะเร็งอย่างไร
1. สำหรับการประเมินระยะของโรค การประเมินระยะ ของโรค ว่าโรคอยู่ในระยะไหน มีการลุกลามไปยังอวัยวะส่วนไหนแล้วบ้าง เพื่อประเมินวิธีการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม แพทย์จะมีขั้นตอนในการรักษาดังนี้
1.1 ประเมินระยะของโรคมะเร็งในผู้ป่วยใหม่ เพราะเมื่อทราบระยะของอาการป่วยก็จะทำให้วางแผนการรักษาและเลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
1.2 ประเมินผลในช่วงการรักษา เพื่อดูผลว่าการรักษาได้ผลดีแค่ไหนหรืออาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาอย่างไรบ้างหรือเปล่า
1.3 ประเมินผลหลังครบการรักษา เพื่อดูว่าหลังการรักษาผู้ป่วยหายขาดจากโรคมะเร็งหรือไม่ หรือมีอาการอย่างไรบ้าง ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า
1.4 ประเมินผลแบบระยะยาวไปจนตลอดชีวิต เพราะผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งก็มักจะมีโอกาสที่จะกลับมาป่วยอีกได้ จึงทำให้แพทย์ต้องคอยติดตามประเมินผลผู้ป่วยตลอดเวลา เพราะหากมีแนวโน้มว่าจะกลับมาเป็นอีก ก็จะได้ทำการรักษาได้ทันนั่นเอง
2. การประเมินการลุกลามเฉพาะที่
โดยมี การประเมิน ดังนี้
1. ประเมินดูขนาดของก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็ง ว่ามีขนาดแค่ไหน เพราะจะเป็นตัวบอกได้ว่า ผู้ป่วยได้มีอาการลุกลามของมะเร็งไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว
2. ประเมินการรุกล้ำเฉพาะที่ของโรคมะเร็ง ซึ่งก็คือการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงนั่นเอง เพื่อจะได้ประเมินวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
3. ประเมินการลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงกับอวัยวะต้นกำเนิดมะเร็ง
4. ประเมินก้อนเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงตลอดช่วงรับการรักษาและหลังครบการรักษา
5. ประเมินโอกาสที่จะย้อนกลับมาเป็นโรคมะเร็งได้อีก ซึ่งจะมีการตรวจติดตามผลแบบระยะยาว
โดยทั้งนี้ใน การตรวจประเมิน การลุกลามของโรคมะเร็งนั้นมักจะตรวจไปพร้อมกับการประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งด้วย ซึ่งขั้นตอนที่นิยมใช้บ่อยๆ ในการตรวจก็มีดังนี้
การประเมินการแพร่กระจายของมะเร็ง
- ตรวจภาพเนื้อเยื่อด้วยการเอกซเรย์ธรรมดา การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การอัลตราซาวด์หรือเอ็มอาร์ไอ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรตรวจด้วยวิธีไหนอย่างไร
- ตรวจวินิจฉัยเพื่อประเมินผลการรักษา
3. การตรวจเพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง
โดยจะตรวจดูว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนไหนแล้วบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบว่ามีการแพร่กระจายเข้าสู่ปอด สมอง ตับและกระดูกเป็นต้น โดยวิธีการตรวจหากเป็นการตรวจการแพร่กระจายเข้าสู่ปอด จะตรวจด้วยการเอกซเรย์ เพราะเป็นวิธีที่ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำสามารถประเมินโรคต่างๆ ของปอดและหัวใจได้และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินไปอีกด้วย แต่การตรวจการแพร่กระจายที่เข้าสู่อวัยวะอื่นๆ นั้น จะตรวจโดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควรเลยทีเดียว ดังนั้นแพทย์จึงมักจะเลือกตรวจเฉฑาะกับบางรายเท่านั้น โดย
- ผู้ป่วยที่มีอาการ แพทย์จะรักษาในส่วนที่ทำให้เกิดอาการ เข่น ใช้รังสีรักษา เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยหากมะเร็งแพร่เข้าสู่กระดูก
- หากโรคอยู่ในระยะที่แพร่กระจายไปอย่างมากแล้ว แพทย์จะไม่ใช้วิธีการรักษาที่อันตรายหรือมีผลข้างเคียงสูงเด็ดขาด
- หากอยู่ในระยะที่มีการลุกลามไปมาก แต่ผู้ป่วยยังมีความแข็งแรงอยู่ แพทย์จะตั้งเป้ารักษาเพื่อให้หายขาด แต่หากผู้ป่วยมีอาการอ่อนแอลง แพทย์จะตั้งเป้ารักษาเป็นการประคับประคองผู้ป่วยแทน
นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการตรวจการแพร่กระจายของโรคมะเร็งอีกหลายวิธีด้วยกัน เช่นการเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่าได้แพร่กระจายเข้าสู่ปอดหรือยัง มากน้อยแค่ไหน การตรวจภาพกระดูกทั้งตัว เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่กระดูก โดยอาจตรวจซ้ำด้วยเอ็มอาร์ไออีกครั้งเพื่อความแม่นยำ การตรวจภาพตับและต่อมหมวกไตด้วยการอัลตราซาวด์ เพื่อทำการวินิจฉัยการแพร่กระจายของโรคที่ได้แพร่กระจายเข้าสู่ตับและต่อมหมวกไต การตรวจภาพช่องท้องด้วยการอัลตราซาวด์ เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องและต่อมหมวกไตด้วย การตรวจภาพสมองด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการแพร่กระจายเข้าสู่สมอง ส่วนใหญ่จะตรวจในผู้ที่มีอาการทางสมองด้วย การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง ตรวจไขกระดูก และการตรวจเพ็ตสแกน เป็นต้น
การประเมินสุขภาพของผู้ป่วย
การประเมินสุขภาพของผู้ป่วยเป็นขั้นตอนหนึ่งในการตรวจรักษาที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเลยทีเดียว โดยจะตรวจหลังจากได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ ซึ่งแพทย์ก็มักจะตรวจควบคู่ไปกับการประเมินระยะของโรคด้วย เพราะวิธีและขั้นตอนการตรวจส่วนใหญ่จะเหมือนกัน จึงสามารถที่จะตรวจไปพร้อมกันได้ และไม่เป็นการเสียเวลากับการตรวจซ้ำซ้อนอีกด้วย โดยทั้งนี้หาก การตรวจประเมิน สุขภาพ พบว่าผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วมด้วย ก็จะทำการดูแลรักษาโรคที่เป็นอยู่ก่อนที่จะเริ่มรักษามะเร็ง เพราะหากปล่อยไว้ จะทำให้โรคดังกล่าวกลายเป็นโรคเรื้อรัง และทำให้สุขภาพของผู้ป่วยอ่อนแอลง จนไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่องได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาอีกด้วย โดยสำหรับการตรวจประเมินสุขภาพของผู้ป่วยโดยทั่วไปก็จะมีขั้นตอนการตรวจดังนี้
- สอบถามอาการสำคัญรวมถึงอาการอื่นๆที่ผู้ป่วยเป็น พร้อมกับตรวจร่างกายและตรวจเฉพาะที่ ตามด้วยการตรวจเลือด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตรวจหาค่าซีบีซี ค่าน้ำตาลในเลือด ค่าการทำงานของตับและไต ค่าเกลือแร่การติดเชื้ออื่นๆ เป็นต้น
- ตรวจปัสสาวะเพื่อหาปัญหาสุขภาพที่อาจจะมีอยู่
- ทำการเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่าปอดยังคงปกติดีหรือไม่ โดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่จัด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วย โดยจะตรวจเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- ตรวจภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงและอาจมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม
เป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็ง
สำหรับเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งจะมี 2 เป้าหมายหลักคือ
1.การรักษาเพื่อหวังผลให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นหรือการรักษาเพื่อให้หายขาดจากโรค
2. การรักษาแบบประคับประคองเพื่อพยุงอาการของผู้ป่วยไม่ให้ทรุดมากเกินไปและทำให้ผู้ป่วยมีอายุยาวนานขึ้นกว่าเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป้าหมายที่สองนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายหรือมีการลุกลามอย่างรุนแรง โดยเมื่อประเมินดูแล้วไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้
1. การรักษาให้หายขาด
ถึงแม้จะตั้งเป้าไว้ที่การรักษาให้หายขาด แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะสำเร็จตามเป้าหมายเสมอไป ซึ่งก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นกว่าเดิม โดยทั้งนี้การตั้งเป้าหมายการรักษาให้หายขาด แพทย์จะใช้กับผู้ป่วยที่มีปัจจัยดังต่อไปนี้
- โรคมะเร็งยังอยู่ในระยะที่ไม่มีการแพร่กระจายออกไปภายนอกหรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด
- ผู้ป่วยยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคอื่นๆ ร่วมด้วย นั่นก็เพราะวิธีการรักษาเพื่อให้หายขาดจากโรคมะเร็ง จะทำได้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงดีเท่านั้น
- ผู้ป่วยจะต้องไม่มีการกินยาสมุนไพรหรือยาพื้นบ้านอื่นๆ
ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวจะต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์และพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างดี พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะคาใช้จ่ายในการรักษามะเร็งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากขาดความร่วมมือจนหมดโอกาสการรักษา ก็จะทำให้ที่จ่ายมาทั้งหมดเกิดความไม่คุ้มค่าได้นั่นเอง นอกจากนี้จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเรียนรู้ที่จะดูแลตนเองให้ดีเพื่อลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงและอาการแทรกซ้อนจากการรักษาด้วย
2. การรักษาแบบประคับประคองหรือพยุงอาการ
ในกรณีนี้จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยมีอายุอยู่ได้นานที่สุด ซึ่งจะใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถทำการรักษาให้หายขาดจากโรคมะเร็งได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะระยะของโรคมะเร็งหรือสุขภาพของผู้ป่วยเอง จึงทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้นั่นเอง โดยผู้ป่วยที่แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีนี้ในการรักษา ก็จะต้องมีปัจจัยดังต่อไปนี้
- เป็นโรคมะเร็งในระยะที่มีการแพร่กระจายหรือลุกลามไปมากแล้ว ทำให้การจะรักษาให้หายขาดนั้นเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
- ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอเกินไปจนไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ นั่นก็เพราะหากรักษาในขณะที่ร่างกายของผู้ป่วยไม่พร้อมจะยิ่งเป็นอันตรายได้นั่นเอง
- ผู้ป่วยและครอบครัวไม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการรักษาให้หายขาด จึงต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการประคับประคองแทน
ความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ทำให้การรักษามีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นไปด้วย แถมค่ารักษาพยาบาลก็สูงมากพอสมควรเลยทีเดียว ดังนั้น การตรวจวินิจฉัย โรคมะเร็งจะต้องมีความแม่นยำสูงมาก เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้น โดยเฉพาะหากต้องรักษาโดยมีเป้าหมายเพื่อให้หายขาด
สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำมากที่สุดนั้น แพทย์จะใช้หลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การซักประวัติอาการของผู้ป่วย การตัดชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา และจะมีการพิจารณาหลายๆ ครั้งเพื่อให้ได้ผลสรุปที่ชัดเจนที่สุดและมั่นใจแล้วว่าไม่ผิดพลาดอย่างแน่นอน ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคมะเร็งก็มีความแม่นยำต่างกันดังนี้
1. การวินิจฉัยโรคมะเร็งที่จะได้ความแม่นยำที่สูง 100%
จะประกอบไปด้วยหลายวิธีด้วยกัน เช่น การซักประวัติอาการสำคัญ ประวัติการรักษาทางแพทย์ของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจภาพเนื้อเยื่อ การอัลตราซาวด์ เอกซเรย์และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นต้น โดยทั้งนี้จากการตรวจทุกวิธีจะต้องได้ผลที่มีความสอดคล้องกันว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง นอกจากนี้ก็ยังมีโรคมะเร็งบางชนิดที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจอีกด้วย เช่น โรคมะเร็งตับชนิดเอชซีซี
2. การวินิจฉัยโรคมะเร็งที่มีความแม่นยำ 95%
โดยจะมีความแม่นยำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 95 ขึ้นไป ซึ่ง การตรวจวินิจฉัย แบบนี้ก็จะตรวจแบบเดียวกับวิธีแรกเลย เพียงแต่ไม่มีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ทำให้ผลการวินิจฉัยอาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้างเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยในระยะลุกลามรุนแรงและผู้ป่วยที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงนั่นเอง
3. การวินิจฉัยโรคมะเร็งที่มีความแม่นยำรองลงมา
โดยจะมีการตรวจเหมือนกับแบบแรกเหมือนกัน แต่จะไม่มีการตรวจชิ้นเนื้อ ไม่มีการเจาะดูด การตรวจค่าสารมะเร็ง ทำให้ผลการตรวจที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนมากกว่าวิธีที่ 2 ไปอีก ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ก็มักจะใช้ในกรณีที่
- ผู้ป่วยไปพบแพทย์ในภาวะฉุกเฉินแล้ว ซึ่งการรักษาแบบประคับประคองก็ไม่ได้ผล จึงไม่สามารถตรวจด้วยวิธีเหล่านี้ได้
- ผู้ป่วยอยู่ในระยะของโรคที่ไม่สามารถทำการตัดชิ้นเนื้อหรือดูดเซลล์มาตรวจได้ นั่นก็เพราะอาจมีผลแทรกซ้อนสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้นั่นเอง
- ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอมาก จนไม่สามารถที่จะตัดชิ้นเนื้อได้
สาเหตุของการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งผิดพลาด
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การตรวจวินิจฉัย โรคมะเร็งมีหลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีระดับของความรุนแรงที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ดังนั้นโอกาสที่จะตรวจผิดพลาดจึงมีได้เหมือนกัน เช่นอาจตรวจผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งว่าไม่เป็นมะเร็ง และอาจตรวจผู้ป่วยที่ไม่เป็นมะเร็งว่าเป็นมะเร็งได้นั่นเอง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจได้ก็มีดังนี้
1. มีการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาหรือทางเซลล์วิทยาเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากปัญหาทางเทคนิคหรือเครื่องมือในการตรวจ เป็นผลให้ตรวจไม่พบมะเร็งทั้งที่ผู้ป่วยกำลังเป็นมะเร็ง
2. อาการสำคัญของผู้ป่วยแยกได้ไม่ชัดเจนว่านั่นเป็นอาการป่วยโรคมะเร็งหรือการอักเสบและติดเชื้อโดยทั่วไปกันแน่ ประกอบกับการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น อัลตราซาวด์ เอ็มอาร์ไอ ตรวจภาพเนื้อเยื่อ หรือเอกซเรย์แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ แพทย์จึงสรุปว่าผู้ป่วยไม่เป็นมะเร็ง ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นนั่นเอง
3. ก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งมีขนาดที่เล็กมากจนไม่สามารถตรวจได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการสำคัญที่บอกได้ว่าผู้ป่วยกำลังเป็นมะเร็งก็ตาม ซึ่งทั้งนี้จะต้องรอให้ก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นมาซะก่อนจึงจะสามารถตรวจให้แน่ชัดอีกครั้งได้
4. ผู้ป่วยไปพบแพทย์ในภาวะที่มีอาการป่วยแบบฉุกเฉิน ประกอบกับอาการสำคัญ การตรวจภาพเนื้อเยื่อหรือการตรวจอื่นๆ ชี้นำว่าผู้ป่วยน่าจะเป็นมะเร็ง จึงทำให้แพทย์มีความเข้าใจไปว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ และเนื่องจากในภาวะที่ไปพบแพทย์แบบฉุกเฉินนี้ ทำให้แพทย์ต้องรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอผลการตรวจชิ้นเนื้อได้ จึงเกิดความผิดพลาดขึ้นนั่นเอง
5. ก้อนเนื้ออยู่ในตำแหน่งที่แพทย์ไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อหรือดูดเซลล์มาตรวจได้ จึงจำเป็นต้องทำการรักษาในทันทีแม้ว่าจะไม่ได้ตัดชิ้นเนื้อมาตรวจก็ตาม ทำให้โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดมีสูงมาก ซึ่งตามจริงแล้วผู้ป่วยอาจไม่ได้เป็นมะเร็งอย่างที่แพทย์เข้าใจก็ได้เหมือนกัน
6. การตรวจชิ้นเนื้อไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ แต่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงที่จะต้องรีบทำการรักษาโดยด่วน แพทย์จึงตัดสินใจรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ป่วยไม่ได้เป็นมะเร็งอย่างที่แพทย์เข้าใจ ซึ่งนี่ก็เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้บ่อยเช่นกัน
ร่วมตอบคำถามกับเรา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์. รู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557.
“Screening for Oral Cancer”. U.S. Preventive Services Task Force. 2004. Archived from the original on 24 October 2010.
“Screening for Prostate Cancer”. U.S. Preventive Services Task Force. 2008. Archived from the original on 31 December 2010.
Manton Julia. Cancer Mortality and Morbidity Patterns in the U.S. Population: An Interdisciplinary Approach. Springer Science & Business Media. ISBN 978-0-387-78193-8.