การตรวจเช็คเต้านมด้วยตนเอง

0
5618
ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ( Breast Selfexam )
การตรวจเช็คเต้านมด้วยตนเอง เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม ที่อาจนำไปสู่สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านม
การตรวจเช็คเต้านมด้วยตนเอง ( Breast Selfexam )
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม ที่อาจนำไปสู่สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านม

ตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ( Breast Selfexam ) สามารถทำได้เมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเต้านมตนเองทุกเดือนหลังประจำเดือนหมดไปแล้ว 3-5 วัน หรือลองเลือกวันใดวันหนึ่งของเดือน เช่น วันที่ 1 หรือวันที่เกิดของตัวเอง เพื่อที่จะได้ตรวจเป็นประจำและสม่ำเสมอ เนื่องจากในปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอับดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิง การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทำให้สามารถ วินิจฉัยมะเร็งเต้านมเบื้องต้นได้ก่อนที่จะมีอาการ

ขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

การตรวจเต้านม ท่ายืน

1. ดูเต้านม

  • เริ่มจากการถอดเสื้อออกให้หมด ยืนตรงหน้ากระจกใช้มือทั้ง 2 ข้างท้าวเอว สังเกตขนาดและรูปร่างของเต้านมรวมทั้งสีของผิวหนังที่เต้านม ให้สังเกตสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในภาวะปกติผู้ที่ไม่เคยรับการผ่าตัดเต้านมมาก่อน เต้านมทั้ง 2 ข้างควรมีขนาดใกล้เคียงกัน ไม่บิดเบี้ยวหรือผิดรูปไม่บวม ไม่มีรอยนูนที่ผิวหนัง หรือรอยบุ๋มของผิวหนังคล้ายเป็นลักยิ้ม สีผิวหนังปกติต้องไม่บวมแดงซึ่ง สังเกตได้จากการเห็นรูขุมขนชัดเจนมากกว่าปกติสังเกตระดับของหัวนมทั้ง 2 ข้าง ควรมีระดับที่ใกล้เคียงกัน หัวนมไม่บุ๋ม ยกเว้น บางคนอาจเป็นมาแต่กำเนิด ไม่มีแผลที่หัวนมหรือฐานหัวนม ถ้าพบว่ามีลักษณะผิดปกติดังกล่าวข้างต้น อาจมีสาเหตุมาจาก มะเร็งเต้านมได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
  • สังเกตว่ามีน้ำออกจากหัวนมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างหรือ ไม่อาจเป็นน้ำสีเหลือง ใสเป็นน้ำปนเลือด หรือสีเหมือนน้ำนม
  • ขยับเอามือไปเท้าเอว แล้วเกร็งหน้าอกขึ้น ลองดูว่าเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ควรขยับให้เห็นด้านข้างทั้งสองข้างด้วย
  • โน้มตัวหรือก้มหัวไปด้านหน้า เพื่อเช็คความผิดปกติอีกครั้ง

2. ขอบเขตในการคลำเต้านม ให้ครอบคลุมบริเวณเต้านม ดังนี้      

  • การคลำในแนวขึ้น-ลง จาใต้เต้านม (ลูบขึ้น-ลง) เริ่มจาคลำใต้เต้านมขึ้นไปถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามนิ้วคลำในแนวขึ้นลง สลับกันไปเรื่อย ๆ จนทั้วเต้านม
  • การคลำในแนวรูปลิ่ม ( ลูบเข้าหาหัวนม ) เริ่มคลำส่วนบนของเต้านมจนถึงฐานนม แล้วคลำกลับขึ้นสู่ยอด ทำไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งเต้านม
  • การคลำในแนวก้นหอย ( วนเป็นวงกลม ) เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมตามแนวก้นหอยไปจนถึงฐานนมบริเวณรอบรักแร้
  • ท่านอน สำหรับการตรวจเต้านมขวา ให้ใช้หมอนหรือผ้าห่มวางไว้ใต้ไหล่ขวา ส่วนมือขวาให้ชูขึ้นเหนือศีรษะหรือประสานไว้ที่ท้ายทอย จากนั้นใช้นิ้วมือซ้ายคลำเต้านมขวาให้ทั่วเหมือนท่ายืน เมื่อเรียบร้อยก็ให้สลับมาทำอีกข้างหนึ่ง

การตรวจเต้านม ท่านั่ง

การตรวจเต้านมในท่านั่งจะตรวจเต้านมในส่วนบนได้ดี ซึ่งการตรวจจะใช้มือข้างตรงข้ามคลำเต้านม ให้นิ้วชี้นิ้วกลาง และนิ้ว นางชิดกัน ใช้อุ้งนิ้วทั้งสามคลำเป็นวงกลม จากตรงกลางออกสู่ด้าน นอกของเต้านมต่อมาคลำจากด้านบน โดยการลูบจากบริเวณ ใต้กระดูกไหปลาร้าลงมาที่ราวนมในแนวตั้งให้ทั่วทั้งเต้านม และสุดท้ายคลำจากฐานหัวนมออกทางด้านนอกตามแนวรัศมี ให้ทั่ว ทั้งเต้านมตรวจในลักษณะเดียวกันในเต้านมข้างตรงข้าม ปกติเนื้อเต้านมควรเรียบ ไม่มีก้อน ไม่มีผื่น และไม่มีแผล

การตรวจเต้านม ท่านอน

  • นอนราบยกมือข้างหนึ่งไว้ใต้ศีรษะ ใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะคลำ และใช้มืออีกข้างตรวจคลำทุกส่วนของเต้านมทีละข้าง
  • เริ่มคลำจากส่วนนอกและเหนือสุดของเต้านม เวียนไปรอบเต้านม ค่อย ๆ เคลื่อนมือเข้ามาเป็นวงแคบ ๆ จนถึงบริเวณเต้านมให้ทั่วทุกส่วน
  • บีบหัวนมเบา ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้สังเกตว่ามีสิ่งผิดปกติไหลออกมาหรือไม่

ลักษณะของก้อนมะเร็งเต้านม

สำหรับก้อนที่อาจจะเป็นมะเร็งเต้านมนั้น มีลักษณะ คือ เป็นก้อนหนาๆ ไม่มีขอบ ไม่เคลื่อนที่ เมื่อคลำไปเจอจะรู้สึกได้ทันทีว่ามีความแตกต่างกับเนื้อนมบริเวณรอบ ๆ  หรือเมื่อเทียบกับเต้านมอีกข้าง แต่ถ้าหากเป็นก้อนกลม ๆ กดแล้วกลิ้งไปกลิ้งมาได้ มีขนาดใหญ่เท่าลูกชิ้น อาจเป็นถุงน้ำ พังผืด ( Fibrocystic ) ที่ไม่เป็นอันตรายกับร่างกาย แต่ถ้าหากอยากให้มั่นใจมากที่สุด ก็แนะนำให้ไปตรวจกับแพทย์ภายหลังคลำเจอก้อน

บริเวณที่มักพบก้อนมะเร็ง

  • ด้านบนติดกับรักแร้ สามารถพบก้อนมะเร็งได้มากถึงร้อยละ 50
  • ด้านบนด้านใน สามารถพบก้อนมะเร็งได้มากถึงร้อยละ 15
  • ด้านล่างด้านนอก สามารถพบก้อนมะเร็งได้มากถึงร้อยละ 11
  • ด้านล่างด้านใน สามารถพบก้อนมะเร็งได้มากถึงร้อยละ 6

การตรวจหามะเร็งเต้านมเพิ่มเติม

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งเต้านม จนทำให้อาการของโรคเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจึงมักมีอาการ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไอเรื้อรัง หายใจเหนื่อยหอบ น้ำหนักลด แพทย์อาจจะต้องทำการเอกซเรย์ดูอวัยวะภายในชิ้นต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบดูว่าเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังจุดไหนบ้างแล้ว

ร่วมตอบคำถามกับเรา

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข. 100 เรื่องน่ารู้ มะเร็งในผู้หญิง : กรุงเทพฯ : อมรินทร์สุขภาพ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์. รู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557.

3 วิธี 6 ขั้นตอนง่ายๆ ในการคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้น (ออนไลน์). สืบค้นจาก :https://www.ryt9.com [15 สิงหาคม 2562].