ภาวะถดถอยทางสมองหรือภาวะเอ็มซีไอ (MCI)
การเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมองทำให้เกิดภาวะสูญเสียความสามารถของสมองในการจำ

เอ็มซีไอ ( MCI )

ภาวะถดถอยทางสมอง หรือ Mild Cognitive impairment ( MCI ) เป็นภาวะสูญเสียความสามารถของสมองในการจำ มีสาเหตุมาจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมองซึ่งแตกต่างจากการเสื่อมในภาวะปกติตามอายุขัย ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ประสาทที่มากกว่าภาวะปกติ ได้แก่ อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสมอง เนื้องอก การขาดวิตามินและสารอาหาร

การติดสุรา หรือการใช้ยาบางชนิดที่มากเกินไป ภาวะ MCI เป็นอาการเบื้องต้นก่อนจะลุกลามกลายเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ ( Alzheimer ) โดยถ้าสามารถสังเกตภาวะ MCI ได้ก่อนก็จะช่วยชะลอหรือป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ ( Alzheimer ) ได้ ความชุกของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกอยู่ที่ 2-4 เปอร์เซ็นต์ที่ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ในสหรัฐอเมริกามีการบันทึกสถิติเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์พบว่ามีการป่วยแบบทวีคูณมากขึ้นในทุกช่วงอายุ 5 ปี เช่น ช่วงอายุ 60-64 ปีมีการป่วยอยู่ที่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ช่วงอายุ 70-74 ปี เป็น 12 เปอร์เซ็นต์ และช่วงอายุ 80-84 ปีพบ 31 เปอร์เซ็นต์ โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์เป็นที่ทราบกันดีว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งค่าดูแลรักษาค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณวันละ 200-300 บาทซึ่งถ้าคิดเป็นรายปีแล้วถือว่าค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นการเฝ้าระวังอาการเบื้องต้นจึงเป็นการช่วยชะลอการเกิดโรค รวมถึงลดความรุนแรงของการเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ได้ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำมีหลายรูปแบบดังต่อไปนี้

Mild Cognitive impairment ( MCI ) เป็นภาวะสูญเสียความสามารถของสมองในการจำ มีสาเหตุมาจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมองซึ่งแตกต่างจากการเสื่อมในภาวะปกติตามอายุขัย

ความรุนแรงของโรคสมองเสื่อมทำให้ความจำหายไป

ความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่น เมื่อวานนี้ไปทานอาหารเย็นที่ไหน วันหยุดยาวเมื่อต้นปีที่แล้วไปเที่ยวไหนมา หรือสองวันก่อนไปซื้อของที่ห้างไหน โดยผู้ป่วยที่มีการสูญเสียความจำในด้านนี้มีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์มากกว่าการสูญเสียความจำแบบอื่นๆ โดยการทำงานของสมองที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้คือสมองกลีบขมับในส่วนกลาง รวมถึงสมองส่วน Hippocampus และ Parahippocampus

ความจำเกี่ยวกับความหมาย เช่น การจำความรู้ทั่วไป นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ชื่อเมืองหลวงของประเทศต่างๆ สีประจำชาติ ประจำวัน หรือสัญลักษณ์ประจำเมือง

ความจำเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรม เช่น การขับรถยนต์ การเล่นกีฬาต่างๆ โดยการทำงานของสมองส่วนนี้คือสมองกลีบขมับใน สมองส่วนที่ควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย และปมประสาทในการมองเห็น ( Supplementary Motor Areas, Basal Ganglia and Cerebellum ) การสูญเสียความสามารถของสมองส่วนนี้มักพบในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

สุดท้ายคือความจำระดับใช้งาน ซึ่งเกี่ยวกับสมองกลีบขมับในส่วนหน้าทั้ง 2 ข้าง ( Prefrontal Cortex ) โดยความจำรูปแบบนี้ได้แก่ การจำหมายเลขโทรศัพท์ได้แม้ไม่ได้จดไว้ การจำแผนที่ ถนนเส้นต่างๆ ที่จะขับรถไป เมื่อจำได้แล้วไม่ได้ใช้ต่ออีกก็จะจำไม่ได้ในเวลาต่อมา

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าสมองทำงานเกี่ยวกับความจำหลากหลายรูปแบบ และในแต่ละส่วนพื้นที่สมองก็ทำงานต่างกัน สำหรับผู้ป่วยโรคภาวะถดถอยทางสมอง ( MCI ) คือผู้ที่มีความบกพร่องทางสมองเกี่ยวกับความจำ ความผิดปกติของสมองที่เกี่ยวกับความจำที่ต่างกันก็มาจากความผิดปกติของพื้นที่สมองที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกแยะอาการผิดปกติ หรือผู้ที่อยู่รอบข้างผู้ป่วยควรพาไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน ภาวะสูญเสียความสามารถของสมองในการจำ ( MCI ) สามารถพัฒนาไปเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ ( Alzheimer ) หรืออาจจะเป็นเพียงแค่อาการเสื่อมทางสมองในภาวะปกติก็ได้ ซึ่งในทางการแพทย์มีกระบวนการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

MCI 2 - ภาวะถดถอยทางสมองหรือภาวะเอ็มซีไอ ( MCI )จากแผนภูมินี้สามารถอธิบายได้ถึงวิธีการวินิจฉัยแยกว่าผู้ป่วยมีภาวะการสูญเสียความสามารถทางสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำหรือไม่ และอาการบกพร่องเกี่ยวกับด้านความจำเพียงอย่างเดียวหรือมีอาการผิดปกติด้านอื่นร่วมด้วย ซึ่งมีผลในการพิจารณาวิธีรักษาและให้คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยต่อไป

MCI 1 - ภาวะถดถอยทางสมองหรือภาวะเอ็มซีไอ ( MCI )

แผนภูมินี้แสดงถึงพัฒนาการของอาการผิดปกติต่างๆ ไปสู่อาการสมองเสื่อม จะเห็นได้ว่าอาการเริ่มต้นที่แตกต่างกันจะพัฒนาไปเป็นโรคสมองเสื่อมที่แตกต่างกัน

อาการของผู้ที่เป็นโรคสมองบกพร่องความสามารถในการจำ ( MCI ) สามารถเริ่มต้นสังเกตได้ด้วยตนเองหรือคนรอบข้าง เช่น ความสามารถในการจำสิ่งต่างๆ การถามซ้ำคำถามเดิมบ่อยๆ ใช้เวลาในการแก้ปัญหา ให้เหตุผล และการวางแผนต่างๆ นานขึ้น สมาธิสั้นและสนใจกระตุ้นอื่นง่าย เป็นต้น อาการดังกล่าวที่ระบุมาอาจจะพบเจอได้บ้างและไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แต่ถ้าพบได้บ่อยหรือมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากผู้ป่วยอาจจะอยู่ในภาวะที่เป็นโรคสมองเสื่อมแล้ว

สำหรับผู้ที่มีอาการคล้ายกับอาการโรค MCI ควรจะเข้าพบแพทย์เพื่อทดสอบวินิจฉัยว่ามีโอกาสที่จะเป็น MCI หรือไม่ การวินิจฉัยโรค MCI แพทย์จะมีการตรวจประเมินหลายๆ ด้านร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ การทดสอบด้วยแบบทดสอบ การตรวจสุขภาพ การตรวจแสกนสมอง ( ในกรณีสงสัยว่ามีเลือดออกหรือเนื้องอกในสมอง ) ในกรณีพบว่าผู้ป่วยมีอาการของโรค MCI แพทย์สามารถวางแผนการรักษาเพื่อชะลอการเกิดภาวะโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ในอนาคตได้ โดยงานวิจัยระบุว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอาการบกพร่องทางความจำ ( MCI ) อาจพัฒนาต่อไปเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ได้ และเมื่อศึกษาเพิ่มเติมด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นพบว่าอัตราการเปลี่ยนจากภาวะ MCI เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์อาจมีมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์
มีการศึกษาวิจัยถึงตัวยาที่ช่วยชะลอเวลาของอาการ MCI ไปสู่ภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ได้ แต่ยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้อย่างเป็นทางการ ดังนั้นแนวทางการรักษาในรายของผู้ป่วยที่เป็นโรค MCI คือการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมลง

การรักษาในรายของผู้ป่วยที่เป็นโรค MCI

  • การรักษาโรคทางร่างกายอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ภาวะหลอดเลือดอุดตัน ระดับไขมันในหลอดเหลือด รวมไปถึงการรักษาระดับความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะทั้งปริมาณและความดันของเลือดที่สูบฉีดไปยังสมองถ้ามากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลต่อเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมอง
  • การจำกัดการดื่มให้น้อยลง หรือถ้าสามารถเลิกได้เลยก็จะเป็นการดี รวมไปถึงงดการสูบบุหรี่ เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
  • การกินอาหารที่ดีทั้งในด้านของโภชนาและปริมาณซึ่งจะส่งผลต่อดัชนีมวลรวมของร่างกาย ไม่ให้อ้วนหรือผอมจนเกินไป
  • ที่สำคัญผู้ป่วย MCI จะต้องมีการทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นตัวเสมอๆ ทั้งในด้านอารมณ์และสังคม เช่น การฝึกทำปริศนาพัฒนาสมอง หรือการไปพบเพื่อนฝูง

มีการศึกษาพบว่าการช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ควรทำร่วมกันหลายๆ ทางจะได้ผลดีกว่าการมุ่งเน้นเพียงทางใดทางหนึ่ง เช่น รักษาสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสุรา และออกไปพบเพื่อนฝูงสม่ำเสมอ
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่ตรวจพบว่ามีอาการโรค MCI จะเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีเท่าใดนัก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพร่างกายส่วนอื่นๆ ของผู้ป่วยเองได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การดูแลผู้ป่วย MCI

  •  รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ ถึงแม้ว่าจะรู้สึกว่าร่างกายปกติดี
  • เป็นจุดเริ่มต้นของการเลิกเหล้าและบุหรี่ รวมถึงการงดชาและกาแฟก่อนนอนเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ความเครียดและความกังวลจะทำให้อาการ MCI มีความรุนแรงมากขึ้นดังนั้นควรทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส
  • ใช้เครื่องมืออุปกรณ์อีเลคโทรนิก การจดบันทึก หรือปฏิทินนัดหมายช่วยในเรื่องการจดจำ
  •  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที
  • กินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • ฝึกสมองด้วยการเล่นแก้ปริศนาหรือแบบทดสอบที่ช่วยฝึกสมอง เป็นการฝึกให้เซลล์ประสาทได้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ
  • ฝึกวิธีการผ่อนคลายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง การนั่งพักผ่อนในบริเวณสวนหย่อม นอกจากเป็นผลดีต่อการชะลอภาวะ MCI แล้วยังช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับจิตใจของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

อาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับสมองสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจหรือไม่มีข้อมูลเท็จจริง มักจะมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจหรือเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ ซึ่งบางครั้งเพียงแค่พื้นที่สมองส่วนเล็กๆ เกิดความผิดปกติ ก็จะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันส่วนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงได้

การศึกษาความรู้เกี่ยวกับอาการขั้นต้นของความผิดปกติของสมอง ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของสมองส่วนความจำ หรือส่วนของการเคลื่อนไหว ก็สามารถช่วยแก้ไขความรุนแรงของโรคสมองเสื่อมที่จะตามมาได้ ดังนั้นก่อนที่จะโทษกล่าวว่าผู้ป่วยจิตใจผิดปกติหรือแก้ไขด้วยวิธีผิดปกติอื่นๆ ควรเริ่มต้นด้วยการเข้าพบจิตแพทย์หรือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสมอง เนื่องจากค่านิยมของคนส่วนมากมักจะมองว่าการพบจิตแพทย์เสมือนว่าผู้นั้นเป็นคนบ้าไปแล้ว ควรปลูกฝังค่านิยมในการเข้าพบจิตแพทย์เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติทันที

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.