สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้สมองหยุดทำงานเฉียบพลัน ส่งผลให้เซลล์สมองตาย และเกิดเป็นภาวะสมองเสื่อม

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke )

โดยปกติแล้วสมองจะสามารถทำงานได้ดีหากไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดเสียหาย นั่นคือเนื้อสมองต้องไม่ถูกทำลาย มีเลือดวิ่งมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุไม่พึงประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมในเวลาต่อมา ทีนี้อาการสมองเสื่อมก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทั้งวงการแพทย์และผู้รักสุขภาพให้ความสนใจกันมาก เพราะยังมีอีกหลายเรื่องราวที่เราต้องค้นหาเกี่ยวกับสมอง และก็มีหลายปัจจัยเหลือเกินที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมขึ้นได้ หนึ่งในนั้นก็คือ โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง ( Stroke ) คือความผิดปกติของหลอดเลือดที่มีหน้าที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายคือสมองจะตกอยู่ในสภาวะขาดเลือดและนำไปสู่การถูกทำลายของเนื้อเยื่อสมองในที่สุด เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วสมองก็หยุดการทำงาน อาจจะทั้งหมดของก้อนสมองหรือแค่บางส่วนก็ได้ และแสดงอาการออกมาเป็นภาวะสมองเสื่อม โดยมากแล้วความผิดปกติของหลอดเลือดสมองก็จะแบ่งเป็น 2 กรณีใหญ่ๆ คือ หลอดเลือดอุดตัน และหลอดเลือดปริแตก นอกจากนี้หากจะเจาะลึกลงรายละเอียดกันอีกหน่อยก็จะพูดถึงประเด็นของจุดที่เกิดความผิดปกติ เช่น เกิดกับหลอดเลือดใหญ่หรือเล็ก เกิดที่สมองส่วนไหน เป็นต้น และทั้งหมดเป็นองค์ประกอบที่มีผลต่อระดับความรุนแรงและวิธีการรักษาของภาวะสมองเสื่อมด้วยกันทั้งสิ้น

ประเภทของภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มีผลต่อความเสียหายของสมองแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.หลอดเลือดสมองอุดตันหรือตีบทำให้สมองขาดเลือด ( Ischemic Stroke )

ส่วนของหลอดเลือดอุดตัน เกิดจากลิ่มเลือดจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายไหลไปกองสะสมที่หลอดเลือดสมอง หรือเป็นการก่อตัวของลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดสมองเองแล้วขยายขนาดใหญ่ขึ้นก็ได้ ในขณะที่ส่วนของหลอดเลือดตีบ มักจะเป็นสาเหตุเดียวกันกับเส้นเลือดบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย นั่นก็คือเรื่องของไขมันสะสมนั่นเอง ทั้งแบบอุดตันและแบบตีบ ต่างให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน คือช่องทางในการส่งต่อเลือดไปยังสมองมีขนาดเล็กลงมาก ไปจนถึงอุดตันปิดกั้นการลำเลียงเลือด เมื่อสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงก็จะหยุดทำงานและเริ่มเกิดความเสียหาย แต่ในบางครั้งลิ่มเลือดก็ถูกกระแสเลือดดันออกไปอย่างรวดเร็ว แบบนี้จะทำให้สมองขาดเลือดเพียงชั่วขณะเท่านั้นซึ่งไม่เป็นอันตรายใดๆ

2.หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาดทำให้เลือดออกในสมอง ( Hemorrhagic Stroke )

เป็นเรื่องของผนังหลอดเลือดที่เปราะบางเกินไปและยืดหยุ่นไม่เพียงพอ อาจจะด้วยกรรมพันธุ์หรือการขาดสารอาหารที่จำเป็นก็ได้ ทำให้เวลาเส้นเลือดบีบตัวส่งน้ำเลือดไปด้วยแรงดัน ผนังเส้นเลือดส่วนที่ทนแรงดันไม่ได้ก็จะปริแตกหรือฉีกขาด เมื่อเส้นเลือดแตกแล้วก็จะมีอาการเลือดออกในสมอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองส่วนนั้นถูกทำลาย

ถึงแม้ว่ารูปแบบความผิดปกติของหลอดเลือดจะมีอยู่ 2 แบบ แต่เกือบทั้งหมดของผู้ป่วยสมองเสื่อมจะมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองอุดตันหรือตีบ อาจเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เกิดจากเส้นเลือดสมองปริแตก และโรคหลอดเลือดสมองนี้ก็มีทั้งปัจจัยการเกิดที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถตีกรอบที่ชัดเจนได้ว่าคนกลุ่มไหนจะมีความเสี่ยงในการเป็นภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่ากัน อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนยังไม่เข้าใจก็คือ ภาวะสมองเสื่อมบางประเภทสามารถรักษาให้หายขาดได้ อยู่ที่ว่าความเสียหายของเนื้อเยื่อสมองนั้นเกิดบริเวณไหน และรุนแรงมากแค่ไหน อย่างเช่น ถ้าสมองขาดเลือดเป็นส่วนสีเทาใต้ฐานสมองที่เราเรียกว่า ทาลามัส ( thalamus ) ก็สามารถให้ยาต้าน acetylcholinesterase ซึ่งเป็นยาตัวกลุ่มเดียวกันกับที่ใช้รักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ในระยะเวลาไม่นานนักผู้ป่วยก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้เช่นกัน

อาการของผู้ป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

ความจริงแล้วเราแยกผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองออกจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสันได้ค่อนข้างยาก และจำเป็นต้องใช้เวลานาน นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ป่วยหลายรายไม่ได้รับการรักษาที่รวดเร็วเพียงพอ เมื่อไม่มีอาการผิดปกติที่รุนแรง คนใกล้ชิดก็เข้าใจผิดว่าเป็นอาการของผู้สูงอายุทั่วไป เช่น ซึมเศร้า ก้าวร้าว หงุดหงิด หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดแผกไปจากเดิม ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องกำชับคนดูแลให้มากว่าอย่าชะล่าใจเด็ดขาด ทางที่ดีก็คือเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเสียแต่เนิ่นๆ ดีกว่า อาการที่สามารถใช้เพื่อสังเกตความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ อารมณ์ที่ไม่คงที่ บุคลิคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตัวเกร็ง เคลื่อนไหวช้า เห็นภาพหลอน อัมพฤกษ์อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความสามารถของสมองถดถอยอย่างรวดเร็ว เป็นต้น สิ่งสำคัญคืออาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลด้วย หมายถึงไม่จำเป็นต้องมีลำดับอาการที่เหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องมีอาการครบถ้วนทุกประเด็นที่กล่าวไป เพราะความเสียหายในส่วนของสมองที่ต่างกันจะแสดงอาการแตกต่างกันไปด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการทรุดๆ ทรงๆ อยู่ได้เป็นปีๆ หรือทรุดหนักรวดเดียวเลยก็ได้ใน
กรณีที่เนื้อเยื่อสมองเสียหายอย่างรุนแรง การหมั่นสังเกตความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ จึงสำคัญมากกับผู้ป่วยกลุ่มนี้

การรักษาภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

ก่อนอื่นก็ต้องผ่านการวินิจฉัยของแพทย์ก่อนว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมแบบไหน แบบโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือโรคหลอดเลือดสมองปริแตก เพราะการรักษาจะแตกต่างกันออกไปดังนี้

1.หลอดเลือดสมองอุดตันหรือตีบทำให้สมองขาดเลือด ( Ischemic Stroke )

โดยมากจะเป็นการใช้ยาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนาน ยาที่ใช้ได้แก่

ยาละลายลิ่มเลือด : ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่มีความเสี่ยงของอาการเลือดออกในสมองเลย และต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลภายใน 4 ชั่วโมง

ยาต้านเกล็ดเลือด : เน้นลดการก่อตัวของเกล็ดเลือด และช่วยให้การอุดตันค่อยๆ ลดน้อยลงได้

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด : เป็นการป้องกันการเพิ่มขึ้นของลิ่มเลือด

ยาลดไขมันในเลือด : ใช้กับผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการอุดตันเส้นเลือดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ก็จะเป็นการผ่าตัดเพื่อขยายหลอดเลือดหรือเพื่อกำจัดลิ่มเลือด สำหรับกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากๆ และยาไม่สามารถรักษาได้แล้ว

2.หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาดทำให้เลือดออกในสมอง ( Hemorrhagic Stroke )

การรักษากรณีเลือดออกในสมองจะยุ่งยากกว่าเส้นเลือดอุดตันพอสมควร เพราะต้องระวังเรื่องของภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก อย่างเช่น ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ( Hydrocephalus ) เป็นต้น การรักษาที่นิยมใช้กับภาวะเลือดออกในสมอง ได้แก่

  • การผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด : เป็นการผ่าตัดแล้วใช้คลิปหนีบที่ฐานหลอดเลือดบริเวณที่มีเลือดออก
  • การใส่ขดลวด : ใช้การสวนท่อเข้าไปที่หลอดเลือดผ่านทางขาหนีบ ขดลวดนี้มีหน้าที่ขัดขวางการไหลของเลือดที่จะเข้าไปตรงจุดสำคัญ และลดการเกิดลิ่มเลือดด้วย
  • การผ่าตัดกำจัดเส้นเลือดที่มีปัญหา : มักใช้ในกรณีที่วินิจฉัยจนแน่ใจแล้วว่าไม่มีผลกระทบตามมาในภายหลังอย่างแน่นอน แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเอาส่วนของเส้นเลือดนั้นทิ้งไปเลย
  • การผ่าตัดด้วยรังสี : เป็นการผ่าตัดในลักษณะซ่อมแซมเส้นเลือดให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

หลังจากการขั้นตอนในการรักษาเหล่านี้แล้ว ผู้ป่วยก็ยังต้องได้รับการดูแลหรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น การให้อาหารทางสายยาง การใช้อาหารเสริม การให้ออกซิเจน เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

อายุ : เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะเกิดการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ และทำให้คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งสองแบบ

กรรมพันธุ์ : หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้สูงกว่าคนปกติกทั่วไป

ประวัติทางการแพทย์ : หากเป็นผู้ที่เคยมีอาการสมองขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันก็แสดงว่ามีความเสี่ยงที่หลอดเลือดจะอุดตันอยู่ก่อนแล้ว

เพศ : เพศชายมีโอกาสเป็นได้มากกว่าเพศหญิง

นอกจากนี้จะเป็นปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ทั้งสิ้น ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การทานยาคุมกำเนิดที่มีระดับฮอร์โมนสูงเกินไป และการสูบบุหรี่

กรณีพิเศษที่มีผลต่อหลอดเลือดสมอง

อุบัติเหตุ : เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง จะทำให้หลอดเลือดในสมองแตกได้ทั้งในส่วนของเนื้อสมองบริเวณผิวสมองใต้เยื่อดูรา ( Subdural Hematoma ) หรือเนื้อเยื่อดูรา ( Epidural Hematoma ) เราจึงพบได้บ่อยว่าผู้ป่วยจะมีเลือดออกจำนวนมากในหลายๆ จุด และเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องทำการรักษา ไม่ใช่แค่หลอดเลือดแตกและมีเลือดออกเท่านั้น แต่เนื้อสมองจะถูกเหวี่ยงไปมาระหว่างเกิดอุบัติเหตุ อาจถูกดึงรั้งจนเสียหาย ซึ่งนั่นก็จะเป็นส่วนที่แพทย์จะต้องดูแลมากเป็นพิเศษด้วย

การติดเชื้อ : นี่เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดสมองอักเสบจนอุดตันหรือแตกได้ ยิ่งถ้าเป็นแบบเรื้อยังยาวนาน ก็จะส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ร่วมได้ เช่น โรคเอสแอลอี ( SLE : Systemic Lupus Erythematosus ) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น

ความน่าสนใจของภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การเกิดอาการที่สมองน้อย ( Cerebellum ) สมองส่วนนี้ทำหน้าที่หลักในการประสานงานของสมองโดยรวม มีกลไกควบคุมความคิด ความจำ การตัดสินใจและการควบคุมอารมณ์ด้วย เมื่อก่อนเราเข้าใจกันว่าหากมีอาการเกี่ยวกับหลอดเลือดที่สมองส่วนนนี้ จะไม่ทำให้ผู้ป่วยเป็นภาวะสมองเสื่อมได้ แต่ปัจจุบันเมื่อนวัตกรรมทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าความจริงแล้วมีผลต่อผู้ป่วยด้วย นั่นคือ ทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้อาเจียนต่อเนื่องในช่วงแรก และมีอาการคล้ายกับปัญหาความเสียหายที่สมองกลีบหน้า ( Frontal Lobe ) ผู้ป่วยจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่รวดเร็วและมีความบกพร่องในความคิดและความจำ

การป้องกันภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

นอกเหนือไปจากปัจจัยเสี่ยงที่เราไม่สามารถป้องกันได้แล้ว ก็เป็นเรื่องของการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ ระมัดระวังเรื่องของระดับน้ำตาล ระดับไขมัน และค่าความดันโลหิตของร่างกาย งดการสูบบุรี่และทานยาคุมกำเนิดโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ป้องกันภาวะอ้วนลงพุง ( Metabolic Syndrome ) ด้วยการทานอาหารให้ครบหมู่อย่างพอดี ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียดจนเกินไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.