งิ้วป่า
งิ้วป่า (Bombax anceps Pierre) หรืองิ้วป่าดอกขาว เป็นไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมได้ ส่วนของรากและเปลือกจากต้นมีรสฝาดเย็น ใบมีรสเย็น รากมีรสจืดเย็น เป็นยาเย็นที่ช่วยดับร้อนในร่างกายได้ นิยมนำดอกมาทานในรูปแบบของผัก และเกสรตัวผู้นำมาตากแห้งใช้สำหรับใส่แกงหรือน้ำเงี้ยว งิ้วป่าเป็นงิ้วชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ชบา ซึ่งมีสรรพคุณทางยาไม่แพ้งิ้วทั่วไป
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของงิ้วป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombax anceps Pierre. (Bombax anceps Pierre var. anceps)
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bombax” “Cotton tree” “Ngiu”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ง้าวป่า นุ่นป่า” ภาคเหนือเรียกว่า “งิ้วป่าดอกขาว งิ้วดอกขาว งิ้วผา ไกร” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และภาคใต้เรียกว่า “งิ้วป่า” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ไกร่” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “งิ้วขาว งิ้วผา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)
ลักษณะของงิ้วป่า
งิ้วป่า เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มักจะพบตามป่าเบญจพรรณที่มีหินปูน ป่าเบญจพรรณตามเชิงเขาและไหล่เขา
ลำต้น : ลำต้นเปลาตรง เมื่อต้นยังเล็กจะมีลักษณะของเรือนยอดเป็นชั้น เมื่อต้นโตเต็มที่จะเป็นทรงเรือนยอด ด้านบนจะแบน เปลือกต้นเป็นสีเทา มีหนามแข็งอยู่ทั่วลำต้น โดยเฉพาะต้นอ่อนและกิ่งก้าน หนามจะลดลงเมื่อต้นโตขึ้น แต่กิ่งก้านยังคงมีหนามเช่นเดิม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีการเรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง มีใบย่อยประมาณ 5 – 7 ใบ แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ
ดอก : เป็นดอกเดี่ยว ดอกเป็นสีขาวครีมแกมสีม่วง ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 2 – 4 ดอก ออกดอกกระจายอยู่ทั่วเรือนยอดที่กำลังผลัดใบ กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันมีลักษณะเป็นรูประฆัง มี 2 – 4 พู เป็นสีเขียวสด เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยบนฐานดอกที่แข็ง กลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกจะโค้งงอไปด้านหลัง กลีบดอกเป็นสีขาว ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ด้านล่างจะห่อหุ้มไปด้วยก้านเกสรตัวเมีย โดยเกสรตัวเมียจะเป็นสีชมพูอมม่วงและมีก้านเดียว มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวหรือรูปทรงกระสวย โค้งงอเล็กน้อยและมีสันตื้น 5 สัน เมื่อผลแห้งแล้วจะแตกตามรอยประสาน ภายในผลมีปุยสีขาวห่อหุ้มเมล็ดอยู่ เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำและมีขนาดเล็กคล้ายกับเมล็ดฝ้าย มักจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
สรรพคุณของงิ้วป่า
- สรรพคุณจากยาง เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้บิด ช่วยแก้ระดูของสตรีมามากกว่าปกติ ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ช่วยห้ามเลือดที่ตกภายใน ช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศ
- สรรพคุณจากราก เป็นยากระตุ้น ยาบำรุงกำลัง ทำให้อาเจียน
– แก้ท้องเสีย แก้โรคบิด ช่วยขับปัสสาวะ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากดอกแห้ง ช่วยแก้พิษไข้ ช่วยแก้อาการคัน ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ รักษาแผลน้ำร้อนลวก ช่วยแก้พิษงู ช่วยแก้อาการปวด
- สรรพคุณจากเปลือก ทำให้อาเจียน ช่วยแก้อาการท้องเสีย ช่วยแก้บิด ช่วยรักษาแผลอักเสบ
– แก้อาการร้อนใน ด้วยการนำเปลือกมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– ช่วยแก้อาการเป็นพิษ แก้โรคบิด ด้วยการนำเปลือกต้นผสมกับเปลือกต้นนุ่น แล้วต้มกับน้ำดื่ม - สรรพคุณจากใบ แก้อาการฟกช้ำ
– แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการนำใบมาบดผสมน้ำทา - สรรพคุณจากแก่น รักษาแผลน้ำร้อนลวก ช่วยแก้อาการปวด
- สรรพคุณจากผล ช่วยแก้พิษงู
- สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
ประโยชน์ของต้นงิ้วป่า
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกใช้ลวกทานเป็นผัก เกสรตัวผู้นำมาตากแห้งใช้สำหรับใส่แกงหรือน้ำเงี้ยว น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้
2. เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ผลให้เส้นใยที่นำมาใช้ทำหมอนและที่นอนได้ น้ำมันจากเมล็ดนำมาใช้ทำสบู่ เส้นใยจากเปลือกต้นใช้ทำเชือก เนื้อไม้สีขาวใช้ทำเรือขุด ทำหีบและลังสำหรับใส่ของ ใช้ทำไม้จิ้มฟัน ก้าน กลักไม้ขีด และทำเยื่อกระดาษได้
งิ้วป่า เป็นงิ้วชนิดหนึ่งที่ต้นมีหนามและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ไม่แพ้งิ้วชนิดอื่น ทั้งต้นเป็นยาเย็นที่ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย นอกจากนั้นเรามักจะพบในรูปแบบของส่วนผสมในแกงหรือน้ำเงี้ยว สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมได้ งิ้วป่ามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของยางและดอกแห้ง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง แก้บิด แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้แผลน้ำร้อนลวกและขับน้ำเหลืองเสียได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “งิ้วป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [7 ม.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “งิ้ว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [7 ม.ค. 2014]
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “งิ้วป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [7 ม.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Bombax, Ngiu, Cotton tree“. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสรและคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [7 ม.ค. 2014].
โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “งิ้วป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [7 ม.ค. 2014].
โครงการจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรที่สำรวจและวิจัยภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “งิ้วป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: orip.kku.ac.th/thaiherbs. [7 ม.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/