น้ำเต้า
น้ำเต้า เป็นไม้เถาล้มลุกที่มีหลายสายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ ส่วนของใบมีรสเย็นจึงใช้แก้ร้อนได้ มีสรรพคุณเป็นยาเย็นและชื้น ชาวจีนและอินเดียนิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ส่วนต่าง ๆ ของต้นเป็นยารักษาโรคยอดนิยมได้ แถมส่วนของยอดอ่อนนำมาประกอบในแกงส้มกับปลาเนื้ออ่อนหรือกุ้งสด จะมีรสชาติอร่อยมาก ถือเป็นต้นที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากอีกชนิดหนึ่ง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของน้ำเต้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagenaria siceraria (Molina) Standl.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bottle gourd” “Calabash gourd” “Flowered gourd” “White flowered gourd”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะน้ำเต้า” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “คิลูส่า คูลูส่า” ชาวลัวะเรียกว่า “ลุ้นออก แผละลุนอ้อก” คนอินเดียเรียกว่า “Dudhi Lauki” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “หมากน้ำ น้ำโต่น”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
ชื่อพ้อง : Lagenaria leucantha Rusby, Lagenaria vulgaris Ser.
ลักษณะของต้นน้ำเต้า
น้ำเต้า เป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียวที่มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ลำต้น : เลื้อยตามพื้นดินหรือไต่กับต้นไม้อื่น ลำต้นแข็งแรง มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ ตามเถามีขนยาวสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน รูปห้าเหลี่ยม ขอบใบหยักเว้า 5 – 7 แฉก โคนใบเว้า ใบมีขนตลอดทั้งใบและก้าน มีต่อมเทียม 2 ต่อม อยู่ตรงรอยต่อระหว่างก้านใบกับแผ่นใบ
ดอก : ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาว 5 กลีบ
ผล : รูปร่างและขนาดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ทั่วไปจะมีลักษณะกลมโต คอดกิ่วบริเวณยอด โคนขั้วคอดคดงอหรือขดเป็นวง ผิวผลเกลี้ยง เปลือกผลแข็งและทนทาน ผลอ่อนเป็นสีเขียว
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ตามแนวรัศมี เป็นรูปทรงแบนป้านคล้ายเล็บมือ ตรงปลายมีติ่งยื่น 2 ข้าง เป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน มีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดตามยาวของเมล็ด
สรรพคุณของน้ำเต้า
- สรรพคุณจากผล สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและผู้ชราภาพ ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ป้องกันโรคมะเร็งปอด ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยทำให้อาเจียน ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย แก้แผลในกระเพาะอาหาร เป็นยาระบาย ช่วยขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รักษาท่อปัสสาวะอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะและอาการปัสสาวะยาก ช่วยทำให้เกิดน้ำนม
– ควบคุมเบาหวาน โดยชาวอินเดียนำผลมาให้ผู้ป่วยเบาหวานและผู้เป็นโรคความดันโลหิตทาน
– แก้อาการปวดท้องที่เกิดจากไข้ ช่วยรักษาโรคลูกอัณฑะบวม ด้วยการนำผลมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– รักษาโรคทางลำคอ ด้วยการนำลูกน้ำเต้าแก่มาตัดจุก ใส่น้ำทานเป็นประจำ
– ช่วยแก้อาการปวดฝีในเด็ก ด้วยการนำผลหั่นเป็นชิ้น ผสมกับของต้มเป็นน้ำซุปทาน - สรรพคุณจากราก ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงน้ำดี แก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกลำไส้
– แก้อาการบวมน้ำตามร่างกาย ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยา - สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ เป็นยาขับพยาธิ ช่วยแก้อาการบวมน้ำ
– ช่วยเจริญอาหาร โดยชาวจีนนำเมล็ดมาต้มกับเกลือทาน - สรรพคุณจากใบ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยดับพิษ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน ช่วยแก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ เป็นยาระบาย เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยรักษาโรคเริม แก้โรคดีซ่าน รักษางูสวัด แก้ไฟลามทุ่ง
– เป็นยาทาถอนพิษร้อน ดับพิษ แก้อาการฟกช้ำบวม แก้พุพอง แก้โรคผิวหนัง แก้ผื่นคัน รักษาอาการพองตามผิวหนังตามตัว แก้เริม แก้งูสวัด ด้วยการนำใบสดมาโขลกผสมกับเหล้าขาวหรือคั้นเอาแต่น้ำ หรือนำใบสดผสมกับขี้วัวแห้งหรือขี้วัวสด โขลกให้เข้ากันแล้วผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี - สรรพคุณจากเนื้อในผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยแก้อาการไอ เป็นยาระบาย
- สรรพคุณน้ำมันจากเมล็ด ช่วยแก้อาการทางประสาทบางชนิด ช่วยทำให้อาเจียน
- สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยแก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยบำรุงน้ำดี
- สรรพคุณจากเปลือกผล
– ลดอาการไข้ ด้วยการนำผลใช้ผสมหัวทารก
– ช่วยรักษาโรคปวดอักเสบ ด้วยการนำเปลือกสดมาทาน
ประโยชน์ของน้ำเต้า
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลและใบอ่อนใช้ทานได้ ยอดอ่อนใช้ประกอบในแกงส้มกับปลาเนื้ออ่อนหรือกุ้งสด มีรสชาติดีมาก ตอนใต้ของทวีปแอฟริกานำใบทานเป็นผัก หรือใส่ในซุปข้าวโพด หรือดองสด และใช้น้ำมันจากเมล็ดน้ำเต้าในการปรุงอาหาร ชาวไทยนิยมน้ำเต้าพันธุ์ผลกลมแป้นมีคอยาวมาต้มหรือนึ่งทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก ลาบ แจ่ว หรืออาจนำไปทำแกง ส่วนของผลยังนำมาเชื่อมเป็นของหวานได้ ชาวอินเดียนำผลมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน คนอเมริกานำเนื้อผลอ่อนมานึ่งผัด ชุบแป้งท้อง ต้มสตู
2. เป็นอุปกรณ์ ผลน้ำเต้าแห้งนำมาใช้ทำเป็นภาชนะได้ ผลน้ำเต้าแก่ใช้บรรจุน้ำดื่ม ใช้ทำเป็นที่ใส่เหล้าห้อยเอวได้น้ำเต้างาช้างที่มีจุกยาวนิยมทำเป็นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ในอดีตนำผลน้ำเต้าแห้งหลายลูกมาผูกรวมกันเพื่อทำเป็นเสื้อชูชีพ ใช้ทำเป็นรังนกกระจอกบ้าน ใช้ทำเป็นทุ่นประกอบการจับปลา ใช้ทำเป็นเครื่องประดับหรือใช้ทำงานศิลปะ งานแกะสลักผิวเป็นรูปร่างต่าง ๆ ใช้ประดับหรือปกปิดร่างกาย
3. เป็นความเชื่อ ชาวจีนนิยมแขวนน้ำเต้าไว้ในบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้บ้านเกิดความร่มเย็น
คุณค่าทางโภชนาการของใบน้ำเต้าอ่อน
คุณค่าทางโภชนาการของใบ 100 กรัม ให้พลังงาน 27 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 4.1 กรัม |
โปรตีน | 5.1 กรัม |
ไขมัน | 0 กรัม |
ใยอาหาร | 1.5 กรัม |
น้ำ | 90.1% |
วิตามินเอ | 15,400 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.05 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.06 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 95 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 56 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 11.5 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส | 140 มิลลิกรัม |
คุณค่าทางโภชนาการของผลน้ำเต้าอ่อน
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 10 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 2.2 กรัม |
โปรตีน | 0.3 กรัม |
ไขมัน | 0 กรัม |
ใยอาหาร | 1.7 กรัม |
น้ำ | 96.8% |
เถ้า | 0.3 กรัม |
วิตามินเอ | 391 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.02 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.04 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.1 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 12 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 14 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 0.1 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส | 1 มิลลิกรัม |
น้ำเต้า เป็นต้นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งชาวจีน ชาวอินเดียและแอฟริกา เป็นยาเย็นที่ช่วยดับพิษ ช่วยทำให้ร่างกายเย็นขึ้น มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย นอกจากนั้นยังนำมาใช้ทำอุปกรณ์ครัวเรือนได้หลายอย่าง น้ำเต้ามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผล มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้กระหาย คุมเบาหวาน ป้องกันมะเร็งและดีต่อระบบขับถ่ายในร่างกาย
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “น้ำเต้า (Nam Tao)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 157.
หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5. “Bottle gourd”. (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “น้ำเต้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [27 มี.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 339 คอลัมน์: บทความพิเศษ. “น้ำเต้า ควบคุมเบาหวาน”. (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [27 มี.ค. 2014].
แผนกวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ. “น้ำเต้า ผักสารพัดประโยชน์ของชาวโลก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 202.143.140.85/plant/index.php. [27 มี.ค. 2014].
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ในกลุ่ม triterpenoids จากน้ำเต้ากับความเป็นพิษต่อเซลล์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [27 มี.ค. 2014].
สมุนไพรไพรไทย, สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอ่างทอง. “น้ำเต้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: mueang.angthong.doae.go.th/data/น้ำเต้า.doc. [27 มี.ค. 2014].
โอเคเนชั่น. “ตำราพันธุ์ไม้และสมุนไพรในคัมภีรอัล-กุรอาน”. (อาลี เสือสมิง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.oknation.net/. [27 มี.ค. 2014].
หนังสือผักพื้นบ้าน 1. “น้ำเต้า”. (อุไร จิรมงคลการ).
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “น้ำเต้า”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 113-114.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
https://krishijagran.com/agripedia/how-to-grow-bottle-gourd-lauki-at-home-a-complete-guide/