มะไฟ
มะไฟ (Burmese grape) เป็นผลที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน มีหลากหลายสายพันธุ์และมักจะนิยมทานในรูปแบบของผลไม้และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากกว่าที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหาร ถือเป็นผลไม้ที่คนทั่วไปรู้จักแต่ไม่ค่อยนิยมรับประทานกันนักสำหรับผู้คนในเมือง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะไฟ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Baccaurea ramiflora Lour.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Burmese grape”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคใต้เรียกว่า “ส้มไฟ” จังหวัดเพชรบูรณ์เรียกว่า “หัมกัง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
ลักษณะของมะไฟ
มะไฟ เป็นไม้ยืนต้นที่เป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ในประเทศไทยมักจะปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก โดยเฉพาะสายพันธุ์มะไฟไทยและมะไฟจีน
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีทรงพุ่มโปร่ง ลำต้นมีลักษณะกลม เนื้อไม้แข็งและมีสีเทา
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน มีลักษณะเป็นรูปหอก ปลายเรียวแหลม ใบด้านบนมีสีเขียว พื้นผิวเป็นมัน ส่วนใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุก ดอกมีสีชมพูอ่อนหรืออมเหลืองขนาดเล็กฝอย ๆ กลีบเลี้ยงมีสีเขียวปนเหลือง มีกลิ่นหอม ก้านช่อดอกยาว ดอกออกตามลำต้นและซอกใบหรือตามปลายกิ่ง
ผล : ออกเป็นพวง มีลักษณะทรงกลมเล็ก ผิวเปลือกบาง ผลอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ เมื่อผลสุกผิวจะเกลี้ยงไม่มีขน มีสีเหลืองอมครีม ภายในผลจะมีเนื้อฟูนุ่มฉ่ำน้ำ มีสีขาวขุ่นหรือขาวใสอมชมพู แล้วแต่สายพันธุ์ที่ปลูก มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานและมีกลิ่นหอม
เมล็ด : มีลักษณะรูปไข่อยู่ข้างในเนื้อ เมล็ดมีผิวเรียบลื่นเป็นมันและมีสีน้ำตาล
สรรพคุณของมะไฟ
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ใบช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย
- สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ
– ใบ ช่วยบรรเทาอาการไอและช่วยให้ชุ่มคอ ช่วยละลายและขับเสมหะ แก้หวัดและไข้มาลาเรีย ช่วยรักษากลาก เกลื้อนและโรคเรื้อน แก้พิษฝี
– รากสดหรือรากแห้ง ช่วยดับพิษร้อน แก้ฝีภายในและแก้อาการผิวหนังอักเสบชนิดที่เป็นถุงน้ำและลอกออกมา บรรเทาอาการไข้ที่มีลักษณะอาการปวดข้อ ปวดเข่าและมีผื่นคล้ายลมพิษหรือไข้ประดง แก้วัณโรคและพิษตานซาง
– เมล็ด ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง - สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ แก้อาการท้องร่วง ใบช่วยถ่ายพยาธิและขับปัสสาวะ
- สรรพคุณด้านป้องกันโรค เปลือกมะไฟต้มใช้แก้โรคผิวหนัง รากสดหรือรากแห้งรักษาโรคเริม
- สรรพคุณด้านความงาม วิตามินซีจากผลช่วยสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวเรียบเนียนและเปล่งปลั่ง
ประโยชน์ของมะไฟ
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลอ่อนเป็นส่วนประกอบในแกงได้ ใช้รับประทานเป็นผลไม้สดและนำมาทำน้ำผลไม้ ผลใช้ในการปรุงอาหารอย่างสตู นำมาดองหรือนำไปหมักทำไวน์ ชาวกะเหรี่ยงจะนำยอดอ่อนไปใส่แกงปลา
มะไฟคุณค่าและประโยชน์ทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของมะไฟ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 48 kcal
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
คาร์โบไฮเดรต | 10.5 กรัม |
น้ำตาล | 0 กรัม |
เส้นใย | 0.9 กรัม |
ไขมัน | 0.15 กรัม |
โปรตีน | 0.7 กรัม |
วิตามินเอ | 2 ไมโครกรัม |
วิตามินบี1 | 0.03 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.09 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 8.1 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม |
55 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก |
0 มิลลิกรัม |
ธาตุแมกนีเซียม |
0 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส |
20 มิลลิกรัม |
วิธีทำน้ำมะไฟ
1. นำมะไฟ 500 กรัม มาล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปปอกเปลือก เอาส่วนเนื้อที่ได้ใส่น้ำแล้วต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที รอจนเนื้อเละแล้วกรองเอาแต่น้ำ
2. ใส่น้ำเชื่อมครึ่งถ้วย เกลือป่นครึ่งช้อนชา ลงไปแล้วคนให้เข้ากัน เสร็จแล้วเทใส่ขวด
3. นำไปแช่ไว้ในตู้เย็น หากต้องการความเย็นสดชื่นสามารถใส่น้ำแข็งลงไปด้วยได้
มะไฟ เป็นผลไม้ที่มีกรดอินทรีย์อยู่หลายชนิด สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนมากมักจะรับประทานในรูปแบบของน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือกระตุ้นคอลลาเจน แก้ไข้ บรรเทาอาการไอ เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีรสชาติเปรี้ยวหวานและรับประทานง่าย และมีความเชื่อกันว่าการปลูกมะไฟให้ดอกผลดก จะทำให้ผู้ปลูกได้รับความเจริญงอกงามและอายุยืนยาวอีกด้วย