พริก
พริก (Chili ) เป็น พืชที่ทุกคนบนโลกต้องรู้จัก โดยเฉพาะคนไทยที่รับประทานพริกเป็นส่วนประกอบของอาหารเป็นประจำ ถือเป็นเครื่องเทศที่สำคัญอย่างมากต่อรสชาติของอาหาร ไม่ว่าจะในยุคอดีตหรือปัจจุบันก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อคนบนโลก พริกเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันว่ามีรสเผ็ด ซึ่งความเผ็ดนั้นมาจากสารที่ชื่อว่า “แคปไซซิน” (Capsaicin) เป็นสารที่ทนทานต่อความร้อนและความเย็นอย่างมาก ไม่ว่าจะต้มหรือแช่เย็นความเผ็ดของพริกก็ยังคงอยู่ พริกที่โด่งดังในประเทศไทยนั้น ได้แก่ พริกขี้หนูสดและพริกชี้ฟ้า
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพริก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum frutescens L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 7 ชื่อ คือ “Chili” “Pepper” “Sweet pepper” “Hot pepper” “Bird pepper” “Capsicum” และ “Paprika”
ชื่อวงศ์ : วงศ์โซลานาซีอี (SOLANACEAE)
ลักษณะของต้นพริก
พริก เป็นได้ทั้งพืชล้มลุก ไม้พุ่มและไม้ยืนต้นขนาดเล็กซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปของโลก
ราก : เป็นรากแก้วหยั่งลึกลงในดิน
ใบ : เป็นใบเลี้ยงคู่และใบเดี่ยว ใบแบนเรียบเป็นมัน มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมคล้ายหอกซึ่งแตกต่างกันตามสายพันธุ์
ดอก : ดอกมักจะมีสีขาว เป็นดอกเดี่ยวมีรูปทรงวงล้อและรูประฆังซึ่งแตกต่างกันตามสายพันธุ์
เมล็ด : มีเมล็ดเกาะเรียงตัวอยู่แกนกลางของผลหรือรก มีรูปร่างกลมแบน
ความเผ็ดของพริก
ความเผ็ดของพริกมาจากสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งพบมากที่สุดในแกนกลางของพริกไม่ใช่ส่วนเมล็ดหรือเปลือก มีฤทธิ์ทำให้เนื้อเยื่อเผาไหม้จึงเกิดความรู้สึก “เผ็ด” เวลารับประทาน หน่วยวัดความเผ็ดของสารแคปไซซินคือ Scoville Heat Units (SHU) พริกที่เผ็ดที่สุดในโลกมีชื่อว่า “พริกฮาบาเนโร”
การนำไปใช้ประโยชน์ของพริก
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้ในการประกอบอาหารและปรุงแต่งอาหาร นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เช่น พริกแห้ง พริกป่น พริกดอง ซอสพริก น้ำพริกต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค เป็นต้น
2. เป็นส่วนประกอบของยา ครีมและเจล แพทย์แผนจีนนำสารแคปไซซินในพริกมาใช้ประโยชน์เพื่อบำรุงพลังหยาง มีการสกัดเอาสารแคปไซซินในพริกออกมาในรูปแบบครีมหรือเจลเพื่อใช้ทาบรรเทาอาการเจ็บปวดที่ผิวหนัง เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก งูสวัด เป็นต้น มีสกัดสารแคปไซซินมาทำเป็นเจลเพื่อใช้นวดลดเซลลูไลต์หรือสลายไขมัน
3. เป็นอาวุธป้องกันตัวจากภัยสังคม นำมาใช้เป็นสเปรย์พริกไทยในการป้องกันตัวได้
สรรพคุณของพริก
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอวัย เสริมสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น มีวิตามินซีที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับร่างกาย
- สรรพคุณด้านการคลายเครียด ช่วยให้อารมณ์ดีและสร้างสารแห่งความสุข (Endorphin) ทำให้ร่างกายตื่นตัว
สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงและรักษาสายตา รักษาเลือดออกตามไรฟัน ป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ในบริเวณจมูก ลำคอ ปอดและเยื่อบุผนังช่องปาก อาการปวดฟันและเจ็บคอ - สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยกระตุ้นการเจริญอาหาร ช่วยในการดีท็อกซ์ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ช่วยให้ร่างกายขับถ่ายของเสียและนำธาตุอาหารไปใช้อย่างเป็นประโยชน์ ขับแก๊สในกระเพาะและช่วยให้อาหารย่อย มีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ
- สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ บรรเทาอาการไข้หวัด ลดน้ำมูกและลดเสมหะ บรรเทาอาการไอ บรรเทาอาการหายใจติดขัดจากไข้หวัด ไซนัสหรือโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ บรรเทาอาการปวดศีรษะและปวดเส้นเอ็น บรรเทาอาการอักเสบของผิวหนังและข้อต่ออักเสบ
- สรรพคุณด้านป้องกันโรค รักษาโรคลักปิดลักเปิด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งและความเผ็ดของพริกมีส่วนช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง ป้องกันการเกิดโรคหัวใจล้มเหลว บรรเทาอาการของโรคเกาต์
- สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ลดปริมาณสารคอเลสเตอรอลในร่างกายทำให้ปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดลง ลดอาการเส้นเลือดสมองอุดตัน ช่วยสลายลิ่มเลือด ช่วยลดความดันโลหิตและเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดให้ดียิ่งขึ้น เสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงและเพิ่มการยึดตัวของผนังหลอดเลือด ช่วยขยายเส้นโลหิตในลำไส้และกระเพาะอาหารเพื่อการดูดซึมอาหารที่ดีขึ้น
- สรรพคุณด้านอื่น ๆ ป้องกันเมือกเสียจับตัวกันในร่างกาย
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของพริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้าที่นิยมในประเทศไทย 100 กรัม ให้พลังงาน 103 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
ไขมัน | 2.4 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 19.9 กรัม |
ใยอาหาร | 6.5 กรัม |
โปรตีน | 4.7 กรัม |
แคลเซียม | 45 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 85 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 2.5 มิลลิกรัม |
วิตามินเอ | 11,050 I.U. |
วิตามินบี1 (ไธอะมีน) | 0.24 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 (ไรโบเฟลวิน) | 0.29 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 (ไนอะซีน) | 2.10 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 70 มิลลิกรัม |
ข้อควรระวัง
1. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารไม่ควรรับประทานพริกหรืออาหารรสจัด เพราะพริกจะไปกัดแผลในกระเพาะอาหาร
2. ผู้ที่มีอาการสำลักง่ายอย่างเด็กหรือผู้สูงอายุไม่ควรรับประทานพริก
3. ผู้บริโภคควรรับประทานพริกป่นที่สะอาด ไม่มีเชื้อรา และหลีกเลี่ยงพริกป่นตามร้านอาหารหรือพริกซองที่อาจจะมีสารอะฟลาทอกซินปนอยู่ ซึ่งเป็นสารที่ก่อเชื้อราได้ดี หากรับประทานในปริมาณมากจะเกิดมะเร็งตับได้
พริก เป็นเครื่องเทศที่มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีความเผ็ดไม่เท่ากัน พริกที่คนไทยคุ้นเคยที่สุดคงจะเป็นพริกขี้หนู บางคนรับประทานพริกมาทั้งชีวิตแต่ไม่รู้สรรพคุณของความเผ็ดร้อน พริกถือเป็นตัวยาที่มีวิตามินเอและวิตามินซีสูง แต่ก็ต้องพึงระวังเพราะรสจัดของพริกอาจจะทำให้ระบบอาหารแปรปรวนได้หากรับประทานในปริมาณมาก สรรพคุณที่โดดเด่นของพริกเลยก็คือช่วยการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการหวัด ลดน้ำมูก ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยในการขับถ่ายคล่อง และช่วยในการกระตุ้นความอยากอาหารได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม