ผักเสี้ยน

ผักเสี้ยน

ผักเสี้ยน ปกติทั่วไปแล้วจะไม่ค่อยใช้เป็นยาสมุนไพรมากนักแต่จะนิยมนำมาดองกินมากกว่า เป็นผักที่มีหลายชนิด เป็นผักที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกิมจิแห่งแดนสยามเพราะนิยมนำมาดอง ทั้งนี้เป็นผักที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักมากนัก เป็นไม้ล้มลุกที่สามารถนำส่วนประกอบต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักเสี้ยน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cleome gynandra L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Wild spider flower” “Spider weed” “Spider Flower”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักเสี้ยนขาว ผักเสี้ยนไทย ผักเสี้ยนบ้าน ผักเสี้ยนตัวผู้” ภาคเหนือเรียกว่า “ส้มเสี้ยน ผักส้มเสี้ยน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักเสี้ยน (CLEOMACEAE)
ชื่อพ้อง : Gynandropsis pentaphylla (L.) DC.

ลักษณะของผักเสี้ยน

ผักเสี้ยน เป็นไม้ล้มลุกที่มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยมักจะพบขึ้นเป็นวัชพืชตามท้องไร่ปลายนา ที่รกร้างว่างเปล่าและริมลำธาร พบเห็นได้ทั่วไป 2 ชนิด ได้แก่ ผักเสี้ยนขาว (ผักเสี้ยนตัวผู้) และผักเสี้ยนผี (ผักเสี้ยนตัวเมีย)
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง มีขนปกคลุมและมียางเหนียว
ราก : มีรากแขนงและรากแก้วจำนวนมาก
ใบ : ใบเป็นใบประกอบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น โคนใบสอบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งจำนวนมาก มีสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว
ผล : ผลเป็นฝักเรียวยาวคล้ายถั่วเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
เมล็ด : เมล็ดมีสีน้ำตาลแดงปนสีดำ มีลักษณะเป็นรูปไต ผิวเมล็ดมีรอยย่น มีเมล็ดจำนวนมากเรียงอยู่ในฝัก

สรรพคุณของผักเสี้ยน

  • สรรพคุณจากผักดอง บำรุงเลือดลม บำรุงร่างกายและให้พลังงาน ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อ บำรุงการขาดวิตามินเอหรือเป็นโรคโลหิตจาง แก้ปัญหาเรื่องระบบลำไส้หรือขจัดสิ่งตกค้างที่อยู่ในลำไส้
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้ไข้ตรีโทษ แก้อาการปวดท้องหรือลงท้อง เป็นยาแก้อาการเจ็บหลัง เป็นยาแก้อาการเมาเหล้า
    – ขับระดูของสตรีหรือขับประจำเดือน แก้ประจำเดือนเสีย ด้วยการนำมาต้มหรือดองรับประทาน
    – ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนังและช่วยแก้อาการปวดเมื่อย รักษาฝี แก้พิษฝี และบรรเทาอาการระคายเคือง ด้วยการนำมาตำแล้วพอก
    – แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แมงป่องกัดหรืองูกัด ด้วยการนำมาตำแล้วพอก แต่มีข้อควรระวังคือ ห้ามพอกนานเพราะจะทำให้ผิวไหม้ได้
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้และรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันเมื่อนำมาต้ม แก้ลมอันเป็นพิษ
  • สรรพคุณจากใบ แก้อาการปวดหู ขับเสมหะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้โรคเริม แก้งูสวัด
    – ใช้พอกฝีให้แตกและไม่เป็นหนอง แก้อาการปวดเมื่อย แก้อาการอักเสบหรือช้ำบวม ด้วยการนำมาตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยขับเสมหะ ช่วยขับพยาธิไส้เดือน
  • สรรพคุณจากดอก แก้หรือบำรุงเลือดของผู้หญิงหลังคลอด

ประโยชน์ของผักเสี้ยน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ทำเป็นผักดองไว้รับประทาน นำมาต้มหรือลวกให้สุกเพื่อช่วยลดความขมและกลิ่นเหม็น นำดองมาเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดสารอาหาร ในแอฟริกาใช้ยอดและใบอ่อนมาปรุงรสและแต่งกลิ่นซอส ประเทศอินโดนีเซียใช้เมล็ดเป็นอาหาร
2. ใช้ในการเกษตร ในประเทศอินเดียใช้เมล็ดมาสกัดทำเป็นยาฆ่าแมลง ประเทศอินโดนีเซียนำมาเป็นอาหารสัตว์

วิธีการทำผักเสี้ยนดอง

1. กำจัดกลิ่นเขียวด้วยการนำมาหั่นแล้วนำไปตากแดด
2. นำข้าวเย็นสุก 1 กำมือต่อผักเสี้ยน 5 ถ้วยแกง เอาข้าวเย็นมาขยำกับเกลือ จากนั้นให้นำผักเสี้ยนที่เตรียมไว้ใส่ลงไป แล้วเติมน้ำตาลโตนด 5 ช้อนแกง คลุกเคล้าจนเข้ากัน
3. ปิดฝาภาชนะตั้งทิ้งไว้ประมาณ 3 – 4 คืน ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

คำแนะนำในการรับประทานผักเสี้ยน

1. ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปโดยเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากทำให้ระดูพิการ มีอาการตกขาวมากผิดปกติและมีกลิ่นเหม็นมาก ไม่เป็นผลดีต่อมดลูก แม่ลูกอ่อนควรระวังให้มากเพราะอาจจะเป็นลมได้
2. ผักเสี้ยนสดจะมีสารไฮโดรไซนาไนต์ (Hydrocyanide) ซึ่งมีพิษต่อประสาทส่วนกลาง สารนี้จะสลายไปก็ต่อเมื่อนำไปต้มหรือดองก่อนมารับประทาน

ผักเสี้ยน มีทั้งประโยชน์และโทษหากรับประทานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม เป็นวัชพืชที่ขึ้นตามท้องนาหรือพื้นที่ว่างเปล่า สามารถนำมาดองได้ง่ายด้วยตัวเอง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ต้านมะเร็ง ทำให้ประจำเดือนเป็นปกติ บำรุงเลือดของผู้หญิงหลังคลอดและเป็นยาแก้ไข้ เป็นผักที่เหมาะอย่างมากสำหรับคุณผู้หญิงแต่ก็มีโทษเช่นกัน

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [7 ต.ค. 2013].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [7 ต.ค. 2013].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 244. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [7 ต.ค. 2013].
คมชัดลึกออนไลน์. (ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net. [7 ต.ค. 2013].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [7 ต.ค. 2013].