กุ่มน้ำ เป็นยาระบาย บำรุงร่างกาย แก้ไข้ แก้นิ่ว แก้อัมพฤกษ์อัมพาต
กุ่ม เป็นไม้ยืนต้น ดอกมีสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบค่อนข้างหนามีสีเขียวเป็นมัน

กุ่มน้ำ

กุ่มน้ำ (Crataeva) เป็นไม้ยืนต้นที่มีใบและดอกสวยงามจึงเหมาะสำหรับการปลูกเป็นไม้ประดับ ยอดอ่อนนำมาปรุงเป็นอาหารได้ด้วยการดอง นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่สามารถลดการกัดเซาะริมตลิ่ง และยังทนทานต่อน้ำท่วมขังได้ดีอีกด้วย ทว่าส่วนของกิ่งและใบมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย ก่อนนำมาใช้จึงต้องทำให้สุกเสียก่อน และส่วนต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักกุ่ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva religiosa G.Forst.
ชื่อสามัญ : กุ่ม น้ำ ชื่อ สามัญ “Crataeva”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กุ่มน้ำ” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ผักกุ่ม ก่าม ผักก่าม” จังหวัดสุพรรณบุรีและภาคตะวันตกเฉียงใต้เรียกว่า “อำเภอ” ชาวละว้าเชียงใหม่และภาคเหนือเรียกว่า “รอถะ” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “เหาะเถาะ” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อด้า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)
ชื่อพ้อง : Crataeva magna (Lour.) DC.

ลักษณะของต้นกุ่ม

ต้นกุ่ม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มักจะพบตามริมแม่น้ำ ข้างลำธาร หรือที่ชื้นแฉะในป่าเบญจพรรณ ตามริมน้ำลำธารในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ
เปลือกต้น : เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ และมีสีเทา จะทำการผลัดใบร่วงหมดทั้งต้นเมื่อออกดอก
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ แผ่นใบค่อนข้างหนา มีสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างใบมีสีอ่อนกว่าด้านบน มีใบย่อย 3 ใบ หูใบเล็ก และร่วงได้ง่าย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปใบหอกหรือขอบขนาน ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบจะเบี้ยวเล็กน้อย ใบกุ่มมีเส้นแขนงของใบข้างละประมาณ 9 – 20 เส้น เส้นใบสามารถมองเห็นได้ชัดจากด้านล่าง เมื่อใบแห้งจะมีสีค่อนข้างแดง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะถี่ มักจะออกตามยอด ในหนึ่งช่อมีหลายดอก กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม กลีบดอกมีสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบมีลักษณะค่อนข้างกลมถึงวงรี ดอกมีรังไข่เป็นรูปวงรีหรือรูปทรงกระบอก มีอยู่ 1 ช่อง มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปกลมวงรี มีเปลือกหนา ผลหรือเปลือกมีสีนวลหรือสีเหลืองอมเทา เมื่อสุกจะเป็นสีเทา ผลแก่ผิวจะเรียบ ด้านในผลมีเมล็ดมาก
เมล็ด : มีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีขนาดกว้างและยาวเท่ากัน เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม

สรรพคุณของกุ่ม

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาบำรุงกำลังของสตรี ช่วยแก้กษัย แก้ในกองลม เป็นยาตัดลมในลำไส้ ช่วยแก้ไข้ ช่วยแก้อาเจียน ช่วยแก้ลมทำให้เรอ ช่วยขับเหงื่อ เป็นยาระบาย ช่วยขับพยาธิ ช่วยแก้ริดสีดวง ช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับน้ำดี ช่วยขับน้ำเหลืองเสียในร่างกาย เป็นยาช่วยระงับพิษที่ผิวหนัง ทำเป็นยาลูกกลอนช่วยแก้อัมพฤกษ์และอัมพาต
    – ช่วยแก้อาการสะอึก ช่วยขับผายลม เป็นยาขับลม ด้วยการนำเปลือกต้นผสมกับเปลือกกุ่มบก เปลือกทองหลางใบมน แล้วต้มเป็นน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากแก่น ช่วยแก้นิ่ว
    – ช่วยบำรุงกำลัง ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ด้วยการนำแก่นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงกำลังของสตรี ช่วยแก้อาการปวดท้อง ช่วยขับหนอง
    – เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ด้วยการนำรากมาแช่น้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยทำให้เจริญอาหาร เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ช่วยแก้ไข้ ช่วยขับเหงื่อ ช่วยแก้อาการสะอึก ช่วยขับผายลม เป็นยาขับลม เป็นยาระบาย ช่วยขับพยาธิ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ช่วยแก้อาการปวดเส้น แก้โรคไขข้ออักเสบ แก้อัมพาต เป็นยาทาภายนอก เป็นยาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงทั่วบริเวณที่นวด
  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้ไข้
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้อาการเจ็บในตา ช่วยแก้อาการเจ็บตา ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว
  • สรรพคุณจากกระพี้ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร

ประโยชน์ของกุ่ม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารได้ด้วยการนำมาดองน้ำเกลือตากแดด นำดอกและใบอ่อนมาดองหรือต้มใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำมาทำแกงอ่อมได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ
3. ใช้ในการเกษตร สามารถช่วยลดการกัดเซาะริมตลิ่งได้ และทนทานต่อน้ำท่วมขังอีกด้วย
4. เป็นความเชื่อ เชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะ มีเงินเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนชื่อของต้นกุ่ม
5. เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ไม้กุ่มเป็นไม้เนื้ออ่อนจึงนำมาใช้ในงานแกะสลักอย่างพวกเครื่องดนตรีไทย ลำต้นนำมาใช้ทำเป็นไหข้าวได้

คุณค่าทางโภชนาการของผักกุ่มดอง

คุณค่าทางโภชนาการของผักกุ่มดอง ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 88 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 15.7 กรัม 
โปรตีน 3.4 กรัม
เส้นใย 4.9 กรัม
ไขมัน 1.3 กรัม
น้ำ 73.4 กรัม
วิตามินเอ 6,083 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.08 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.25 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.5 มิลลิกรัม 
วิตามินซี 5 มิลลิกรัม
แคลเซียม 124 มิลลิกรัม
เหล็ก 5.3 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม

ข้อควรระวังของกุ่มน้ำ

1. กิ่งและใบมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งเป็นพิษ ไม่ควรใช้รับประทานสดแต่ควรทำให้สุกก่อน
2. ใบแก่มีพิษ ดังนั้นไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป ไม่งั้นใบจะมีฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้อาเจียน มึนงง ไม่รู้สึกตัว มีอาการหายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กระตุก ชักก่อนจะหมดสติ

กุ่มน้ำ เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาและเป็นพิษต่อร่างกาย เหมือนดาบสองคมแต่ถ้าใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นยาสมุนไพรที่ดีชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นสามารถนำมาปลูกประดับได้เพราะมีดอกและใบสวยงาม และยังเป็นไม้ที่ช่วยในการกัดเซาะริมตลิ่งได้ เหมาะอย่างมากในการปลูกไว้ริมน้ำ กุ่มน้ำมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกาย แก้ไข้ เป็นยาระบาย แก้นิ่วและแก้อัมพฤกษ์อัมพาตได้ ค่อนข้างเป็นต้นที่ดีต่อระบบขับถ่ายเป็นอย่างมาก

สนใจสั่งซื้ออาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยคลิ๊ก Line: @ amprohealth

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [6 ต.ค. 2013].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [6 ต.ค. 2013].
๑๐๘ พรรณไม้ไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [6 ต.ค. 2013].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [6 ต.ค. 2013].
ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [6 ต.ค. 2013].
เกษตรอินทรีย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kasetintree.com. [6 ต.ค. 2013].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [6 ต.ค. 2013].
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: smc.ssk.ac.th. [6 ต.ค. 2013].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai