ข้าวโพด
ข้าวโพด เชื่อว่าเป็นฝักที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นพืชผลที่นิยมใช้ในอาหารกันอย่างแพร่หลาย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ สามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้ และสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นแป้งข้าวโพดได้ด้วย นอกจากนั้นยังนิยมนำมาทำน้ำข้าวโพดขาย แต่ที่นิยมที่สุดในไทยคงจะไม่พ้น “ข้าวโพดผัดเนย” เป็นแน่ เพราะความหวานของข้าวโพดนั้นตัดกับ ความเค็มของเนยได้ดี และอีกเมนูก็คือ ข้าวโพดคั่ว นั่นเอง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของข้าวโพด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zea mays Linn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Corn” “Indian corn” “Maize”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ข้าวสาลี เข้าสาลี สาลี” ภาคใต้เรียกว่า “โพด” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ข้าวแช่” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “บือเคส่ะ” คนไทยเรียกว่า “เข้าโพด” ชาวม้งเรียกว่า “เป๊ากื่อ” ชาวลัวะเรียกว่า “แผละลี” ชาวเงี้ยว ฉานและแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ข้าวแข่” คนจีนเรียกว่า “เง็กบี้ เง็กจกซู่” จีนกลางเรียกว่า “ยวี่หมี่ ยวี่สู่สู่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)
ลักษณะของข้าวโพด
ข้าวโพด เป็นไม้ล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้
ลำต้น : ลำต้นอวบกลม ตั้งตรงแข็งแรง ผิวต้นเรียบ เนื้อภายในคล้ายกับฟองน้ำ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบเรียวยาวเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบมีขนอ่อนสีขาว ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกัน มักจะออกระหว่างกาบของใบและลำต้น เรียงเป็น 2 แถว มีประมาณ 8 – 18 ดอก
ผล : ออกผลเป็นฝัก ผลถูกหุ้มด้วยกาบบางหลายชั้น ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีนวล ฝักเป็นรูปทรงกระบอก ในหนึ่งฝักมีเมล็ดอยู่รอบฝัก
เมล็ด : เมล็ดเกาะอยู่เป็นแถว 8 แถว แต่ละแถวมีประมาณ 30 เมล็ด มีสีแตกต่างกันไป
สรรพคุณของข้าวโพด
- สรรพคุณจากข้าวโพด ช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อย
- สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยบำรุงปอดและหัวใจ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยแก้อาเจียน ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหาร เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ระคายเคือง
- สรรพคุณจากเกสรเพศเมีย แก้ความจำเสื่อมหรือลืมง่าย เป็นยาสุขุมที่ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะลำไส้และทางเดินปัสสาวะ ขับความร้อนชื้น แก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้โลหิตกำเดา แก้ไอเป็นเลือดหรือตกเลือด ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นโลหิต ช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบ แก้จมูกอักเสบเรื้อรัง แก้เหงื่อในผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ช่วยแก้เต้านมเป็นฝี เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังหรือเฉียบพลัน ช่วยแก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี กระตุ้นให้น้ำดีขับเคลื่อน แก้ถุงน้ำดีอักเสบ แก้มะเร็งในถุงน้ำดี ช่วยบำรุงน้ำดี ช่วยบำรุงตับ แก้ตับอักเสบ แก้ตับอักเสบเป็นดีซ่าน แก้ดีซ่าน แก้ไตอักเสบ แก้โรคไตอักเสบเรื้อรัง ช่วยแก้อาการบวมน้ำ เป็นยาพอกแผล
- สรรพคุณจากยอดเกสรเพศเมียและฝอย แก้เบาหวาน ช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูง
- สรรพคุณจากต้น ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยแก้ไข้ทับระดู เป็นยาแก้นิ่ว ขับนิ่ว
- สรรพคุณจากฝอย ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยรักษาไต
- สรรพคุณจากราก ช่วยแก้อาเจียน ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นโลหิต เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาแก้นิ่ว ขับนิ่ว
- สรรพคุณจากซัง แก้บิด แก้อาการท้องร่วง เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้ปัสสาวะขัด เป็นยาบำรุงม้าม ช่วยแก้อาการบวมน้ำ แก้ผิวหนังเลือดออกในเด็ก
- สรรพคุณจากลำต้น ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- สรรพคุณจากใบ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นยาแก้นิ่ว ขับนิ่ว
ประโยชน์ของข้าวโพด
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ข้าวโพดนำมาต้ม นึ่ง หรือปิ้งให้สุก ใส่ในน้ำเกลือหรือเนย ทำขนมข้าวโพด ข้าวโพดเปียก ข้าวโพดอบเนย ข้าวโพดคั่ว หรืออาจนำมาแปรรูปทำเป็นแป้งข้าวโพด นม เหล้า เบียร์ น้ำตาลผง น้ำหวาน น้ำเชื่อม ฝักอ่อนนำมาประกอบอาหาร ในแกงเลียงข้าวโพดอ่อน แกงป่า แกงแค เป็นต้น เมล็ดข้าวโพดแก่และแห้ง ใช้ทำแป้งข้าวโพดได้ ทำน้ำมันข้าวโพด
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ในอุตสาหกรรมสบู่สี เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางเทียม ทำน้ำมัน ทำเป็นเนยเทียม เป็นต้น น้ำเชื่อมข้าวโพดนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและใช้ทำขนมหวาน นอกจากนั้นยังใช้ในอุตสาหกรรมอาหารพวก ฝักแช่แข็ง เมล็ดแช่แข็ง เมล็ดข้าวโพดกระป๋อง ป๊อปคอร์น ข้าวโพดอบกรอบ เป็นต้น แถมยังใช้ทำสบู่ น้ำหอม น้ำมันใส่ผม กระดาษ และอื่น ๆ อีกมากมาย ฝัก ใบและลำต้นนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ปุ๋ย กระดาษ วัตถุฉนวนไฟฟ้า ส่วนของใบและลำต้นข้าวโพดแห้งนำมาผลิตเป็นเอทานอลได้ ซังข้าวโพดใช้ในอุตสาหกรรมยาง ทำเป็นเสื่อน้ำมัน
3. ใช้ในการเกษตร ข้าวโพดใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ต้นช่วยในการย่อยสลายพีเอเอชที่ปนเปื้อนในดิน
4. ใช้ทำสิ่งของทั่วไป เปลือกฝักข้าวโพดชั้นในนำมาใช้สำหรับมวนบุหรี่สูบ หรือทำเป็นกระดาษได้
ข้าวโพด เป็นพืชมากคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม มีงานวิจัยว่าข้าวโพดคั่วเป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์ที่ทำขึ้นจากธัญพืชโดยไม่ผ่านการแปรรูปใด ๆ มีสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน ข้าวโพดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเกสรเพศเมีย มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ความจำเสื่อม แก้เบาหวาน ช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูง แก้บิด แก้นิ่ว บำรุงม้าม บำรุงตับ บำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยบำรุงปอดและหัวใจได้ ถือว่าเป็นพืชผลที่ช่วยบำรุงอวัยวะสำคัญในร่างกายแทบทั้งหมด
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ข้าวโพด (Khao Pod)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 64.
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “ข้าวโพด”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 62-64.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ข้าวโพด”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 128.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ข้าวโพด”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 114-120.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ข้อมูลของข้าวโพด”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [05 เม.ย. 2014].
จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนาการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร. “ธัญพืชมากประโยชน์…ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/pibai/. [05 เม.ย. 2014].
ศูนย์พัฒนาและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “ข้าวโพดสุกต้านโรคมะเร็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qa.msu.ac.th/msu_blog/. [05 เม.ย. 2014].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ข้าวโพด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ข้าวโพด. [05 เม.ย. 2014].
เดลินิวส์ออนไลน์. “เชื่อหรือไม่? ไหมข้าวโพดเป็นยาได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [05 เม.ย. 2014].
กลุ่มงานเคหกิจเกษตร กองพัฒนาการบริหารงานเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร. “อาหารจากข้าวโพด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th/library/html/detail/cornn/. [05 เม.ย. 2014].
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “ข้าวโพด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/. [05 เม.ย. 2014].
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ ที่ 7 มีนาคม 2553. “คุณประโยชน์ข้าวโพด”. (นพ.กฤษดา ศิรามพุช).
สปริงนิวส์. “ทึ่ง! ข้าวโพดคั่วมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผักผลไม้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: news.springnewstv.tv. [05 เม.ย. 2014].
เกษตรแสงอาทิตย์. “เอทานอลจากต้นข้าวโพด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.eco-agrotech.com. [05 เม.ย. 2014].
ข่าวสด. “มข.วิจัยสีผสมอาหารจากซังข้าวโพด เน้นมีประโยชน์ปลอดภัยต่อเด็ก ช่วยเกษตรกร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th. [05 เม.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/