ชะมวง
ชะมวง (Cowa) เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้มากในทางภาคใต้ของประเทศไทย ผลมีรสเปรี้ยวอมหวานแต่ไม่นิยมทานผลไม้ ต้มใบชะมวง นอกจากนั้นยังเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารจำพวกแกง และเป็นไม้ปลูกประดับทั่วไปที่ให้ความร่มเงาได้ดี สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประกอบเป็นยาสมุนไพรได้ ส่วนของใบนั้นอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เป็นไม้ต้นชนิดหนึ่งที่คู่ควรแก่การนำมาใช้ประโยชน์เป็นอย่างมาก
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชะมวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia cowa Roxb. ex Choisy
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cowa”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคใต้เรียกว่า “กะมวง มวง ส้มมวง” คนเมืองเรียกว่า “ส้มป้อง มะป่อง” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “หมากโมก” ใบชะมวง ภาษาใต้ “มวงส้ม” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “กานิ” ชาวเขมรเรียกว่า “ตระมูง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ยอดมวง ส้มม่วง ส้มโมง ส้มป่อง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)
ลักษณะของชะมวง
ชะมวง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางรูปแบบไม่ผลัดใบ มักจะพบได้มากทางภาคใต้ของประเทศไทย ตามป่าชื้นระดับต่ำทั่วไป
ต้น : มีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง
ลำต้น : ลำต้นเกลี้ยงและแตกกิ่งใบตอนบนของลำต้น กิ่งย่อยมีผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด เปลือกด้านในเป็นสีชมพูถึงแดง มีน้ำยางสีเหลืองขุ่นไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกต้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมใบหอกหรือแกมขอบขนาน โคนใบสอบแหลม ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน หรือเขียวอมสีม่วงแดง ส่วนใบแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม หรือน้ำเงินเข้ม ปลายกิ่งมีการแตกยอด 1 – 3 ยอด หลังใบเรียบและลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนาและเปราะ เส้นใบมองเห็นได้ไม่ชัด แต่ด้านหลังใบจะเห็นเส้นกลาง ส่วนของก้านใบมีสีแดง
ดอก : ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น มักจะออกดอกตามซอกใบและตามกิ่ง ดอกเพศผู้จะออกตามกิ่งเป็นกระจุก มีดอกย่อยประมาณ 3 – 8 ดอก ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม กลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอม มีกลีบดอกแข็งหนา 4 กลีบ และกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม ดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง มีเกสรตัวผู้เทียมเรียงอยู่รอบรังไข่ และมีก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงส้มหม่น และตามผลมีร่องตื้นประมาณ 5 – 8 ร่อง ด้านบนเป็นปลายบุ๋ม มีชั้นกลีบเลี้ยงประมาณ 4 – 8 แฉกติดอยู่ มีเนื้อหนาเป็นสีเหลือง ผลสุกมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานได้ แต่มียางมากอาจทำให้ติดฟันได้
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 4 – 6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปวงรีหนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล มักจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
สรรพคุณของชะมวง
- สรรพคุณจากใบ ช่วยฟอกโลหิต แก้โลหิต ช่วยรักษาธาตุพิการ เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการไอ ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ เป็นยาระบายท้อง เป็นยาขับเลือดเสีย ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี ต้านมะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร
- สรรพคุณจากผลอ่อน ช่วยฟอกโลหิต เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ เป็นยาระบายท้อง
- สรรพคุณจากผล ช่วยรักษาธาตุพิการ ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการไอ
– ช่วยแก้บิด ด้วยการนำผลมาหั่นเป็นแว่นตากแห้ง แล้วใช้ดินเป็นยา - สรรพคุณจากดอก ช่วยรักษาธาตุพิการ เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ เป็นยาระบายท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยแก้ดีพิการ
- สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ แก้เสมหะเป็นพิษ ช่วยแก้บิด
– เป็นยาระบาย โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำรากชะมวงมาผสมกับรากกำแพงเจ็ดชั้น รากตูมกาขาว และรากปอด่อน แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากเนื้อไม้ ช่วยแก้อาการไอ ช่วยขับเสมหะ เป็นยาระบาย
- สรรพคุณจากแก่น
– ช่วยแก้อาการเหน็บชา ด้วยการนำแก่นมาฝนหรือแช่กับน้ำดื่มเป็นยา
ประโยชน์ของชะมวง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลชะมวงนำมาทานเป็นผลไม้ หรือนำมาหั่นเป็นแว่นตากแดดใส่ปลาร้าเพื่อเพิ่มรสชาติได้ นิยมนำใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสดจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาปรุงในเมนูจำพวกต้นส้มต่าง ๆ
2. เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรม ผลและใบแก่สามารถนำมาหมักเพื่อใช้ฟอกหนังวัวหรือหนังควาย ลำต้นหรือเนื้อไม้นำมาใช้ในงานก่อสร้างได้ เปลือกต้นและยางใช้สกัดสีย้อมผ้า โดยจะให้ออกมาเป็นสีเหลือง
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ สามารถนำมาปลูกเพื่อให้ความร่มเงาได้ดี
4. ใช้ในด้านการเกษตร สามารถนำยอดอ่อนมาหมักกับจุลินทรีย์จนทำให้มีรสเปรี้ยว เพื่อใช้ทำเป็นยาปราบศัตรูพืชได้
คุณค่าทางโภชนาการของใบชะมวง
คุณค่าทางโภชนาการของใบ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 51 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
โปรตีน | 1.9 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 9.6 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 3.2 กรัม |
ไขมัน | 0.6 กรัม |
เถ้า | 0.6 กรัม |
น้ำ | 84.1 กรัม |
วิตามินเอ | 7,333 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.7 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.04 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.2 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 29 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 27 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 1.1 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 13 มิลลิกรัม |
ชะมวง เป็นต้นที่คนไทยในยุคใหม่ไม่ค่อยรู้จักหรือนิยมนำมาใช้กันสักเท่าไหร่ ทว่าชะมวงกลับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม และเป็นวัตถุดิบในอาหารได้หลายอย่าง อีกทั้งยังเป็นยาสมุนไพรชั้นดีและประกอบไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ชะมวงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ ช่วยขับเสมหะ ดีต่อระบบเลือด แก้บิดและเป็นยาระบาย ถือเป็นต้นที่มีสรรพคุณที่ดีต่อลำคอเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยในการต้านโรคมะเร็งได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชะมวง (Cha Muang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้าที่ 101.
การสำรวจความหลากหลายของพืชสมุนไพร จากตลาดพื้นเมืองทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4816187/. [13 ม.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ชะมวง”. อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 ม.ค. 2014].
สมุนไพรไทย-ภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยชะมวง”. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/. [13 ม.ค. 2014].
พืชและสัตว์ท้องถิ่นภูพาน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th/animal/pupan. [13 ม.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ชะมวง”. (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [13 ม.ค. 2014].
บ้านทองเลี้ยงฟ้า จังหวัดอุดรธานี. “การปลูกชะมวงไร้สารพิษ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pkms9.com/TLP02.html. [13 ม.ค. 2014].
พรรณไม้สวนรุกขชาติห้างฉัตร. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: lampang.dnp.go.th/Departments/Techical_Group/Hangchat_Arboretum/knowledge/plant/ชะมวง.pdf. [13 ม.ค. 2014].
โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th. [13 ม.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable. [13 ม.ค. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [13 ม.ค. 2014].
งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany. [13 ม.ค. 2014].
อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ ปลูกต้นไม้ฟื้นผืนดิน. “ต้นชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.treeforthai.com. [13 ม.ค. 2014].
ศูนย์ข้อมูลการแพทย์ทางเลือก. “องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ลดไขมันของใบชะมวง”. (ดวงเพ็ญ ปัทมดิลก), สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: thaicamdb.info. [13 ม.ค. 2014].
กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 กุมภาพันธ์. “เภสัช ม.อ. ค้นพบใบชะมวงต้านมะเร็ง”. (รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ ผู้อำนวยการสถานวิจัยยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [13 ม.ค. 2014].
โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [7 ม.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai