ผักหวานป่า ราคาแพง แต่มากสรรพคุณทางยา ช่วยแก้ไข้และต้านอนุมูลอิสระ
ผักหวานป่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ปลายใบมนหรือแหลม ออกดอกเป็นช่อยาว ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่เป็นสีเหลืองส้มหรือสีแดง

ผักหวานป่า

ผักหวานป่า (Melientha suavis Pierre) เป็นพืชในวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีผักหรือผลไม้ชนิดใดอยู่ในวงศ์นี้ เป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นผักที่มีรสชาติหวานอร่อย แต่หารับประทานได้ค่อนข้างยากเพราะผักชนิดนี้จะให้ผลผลิตในบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น ส่วนมากมักจะมีการเข้าไปเก็บในป่า แต่ว่าปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้หันมาปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรีที่มีการเพาะปลูกมากเป็นพิเศษ และที่สำคัญเป็นผักยอดนิยมที่มีการนำมาแปรรูปและรับประทานกันอยู่เป็นประจำ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melientha suavis Pierre
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดสุรินทร์เรียกว่า “ผักวาน” ประเทศลาวเรียกว่า “Hvaan” ประเทศกัมพูชาเรียกว่า “Daam prec” ประเทศเวียดนามเรียกว่า “Rau” ประเทศมาเลเซียเรียกว่า “Tangal” ประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า “Malatado”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ OPILIACEAE

ผักหวานป่ามีกี่ชนิด

ผักหวานป่า มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มักจะพบตามป่าเบญจพรรณในที่ราบหรือเชิงเขา ซึ่งปกติจะชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนดินทราย เป็นผักที่แบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยอดเหลืองและพันธุ์ยอดเขียว ซึ่งวิธีปลูกให้โตเร็ว แตกต่างกันตามเทคนิคของแต่ละพื้นที่
เปลือกต้น : เปลือกต้นเรียบ กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้มีความแข็ง
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปวงรียาว ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบเรียว ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีเขียวเข้ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อยาว โดยจะออกตามกิ่งหรือตามซอกใบ ใบประดับเป็นรูปไข่ปลายแหลม เป็นดอกแบบแยกเพศแต่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้จะมีกลีบสีเขียวอ่อน และเกสรสีเหลือง ดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีเขียวเข้ม และก้านดอกสั้นกว่าดอกเพศผู้ มักจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นผลเดี่ยวอยู่บนช่อยาวที่เป็นช่อดอกเดิม ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีแดง

สรรพคุณของผักหวานป่า

  • สรรพคุณจากผักหวาน ช่วยแก้อาการของธาตุ ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากรังสีแสงแดด ช่วยทำให้ผิวหนังไม่เหี่ยวย่นหรือแก่ก่อนวัย ป้องกันโรคปากเปื่อยหรือโรคปากนกกระจอก ช่วยในการขับถ่าย เป็นยาระบายอ่อน ๆ
  • สรรพคุณจากใบและราก แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้อาการปวดท้อง รักษาแผล ช่วยแก้อาการปวดในข้อ
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย แก้เชื่อมมัว (โรคที่ทำให้ใบหน้าหมองซึม นัยน์ตาปรือ ไม่กระปรี้กระเปร่า)
    – แก้พิษร้อนใน ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาเย็น
    – แก้อาการปวดมดลูกของสตรี แก้น้ำดีพิการ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา
  • สรรพคุณจากยอด เป็นยาเขียวลดไข้ ลดความร้อน ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ระบายความร้อน
  • สรรพคุณจากยาง
    – แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว ด้วยการนำยางมาใช้กวาดคอเด็ก
  • สรรพคุณจากแก่น
    – แก้อาการปวดตามข้อหรือปานดง ด้วยการนำแก่นมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา
  • สรรพคุณจากต้น
    – ช่วยเพิ่มน้ำนมแม่หลังการคลอดบุตร ด้วยการนำต้นผสมกับต้นนมสาวมาปรุงเป็นยา

ประโยชน์ของผักหวาน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อนมารับประทานเป็นผัก ด้วยการลวกให้สุกแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ ใช้เป็นเครื่องเคียง หรืออาจนำไปผัดน้ำมัน หรือนำมาใช้ประกอบอาหารในเมนูแกงได้ เมล็ดมีรสหวานมัน ผลสุกนำมาต้มให้สุกและรับประทานแต่เนื้อข้างในได้
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารของนกและสัตว์ต่าง ๆ
3. เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป นำมาพัฒนาเป็นชาสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนั้นยังนำมาแปรรูปเป็นน้ำผักหวาน ไวน์ คุกกี้ ขนมถ้วย ข้าวเกรียบ และทองม้วน เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบสดผักหวาน

คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบสดผักหวาน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 300 กิโลจูล

สารอาหาร ปริมาณที่ได้รับ
น้ำ 76.6 กรัม
โปรตีน 8.2 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 10 กรัม 
ใยอาหาร 3.4 กรัม
เถ้า 1.8 กรัม
แคโรทีน 1.6 มิลลิกรัม
วิตามินซี 115 มิลลิกรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผักหวานป่า

คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 39 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณที่ได้รับ
น้ำ 87.1%
โปรตีน 0.1 กรัม 
ไขมัน 0.6 กรัม
ใยอาหาร 2.1 กรัม
เถ้า 1.8 กรัม
วิตามินเอ 8,500 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.12 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 1.65 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 3.6 มิลลิกรัม
วิตามินซี 168 มิลลิกรัม
แคลเซียม 24 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม

ข้อควรระวังในการรับประทานผักหวานป่า

1. ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินควร เพราะอาจทำให้เกิดอาการเบื่อเมา อาเจียน และเป็นไข้
2. ควรนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน
3. ควรระมัดระวังในการเก็บผักป่า เนื่องจากมีพรรณไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับผักหวาน เช่น ต้นเสน ต้นขี้หนอน ถ้าหากรับประทานผักเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการผิดสำแดงได้ ทำให้มีอาการคลื่นเหียนอาเจียน คอแห้ง อ่อนเพลีย มึนงง และหมดสติ หากร่างกายอ่อนแอก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

ผักหวานป่า ราคา ค่อนข้างแพงในตลาด เนื่องจากเป็นผักที่หาได้ยากและมักจะออกตามฤดูกาล ที่สำคัญมีรสชาติหวานทำให้นำมาปรุงในเมนูอาหารได้หลากหลาย เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างน่าทึ่ง ผักหวานมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ต้านอนุมูลอิสระ แก้ไข้ บำรุงสายตา และเป็นยาระบาย เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุในการป้องกันโรคภัยอันตรายได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 243 คอลัมน์: พืช-ผัก-ผลไม้. “ผักหวานป่า : สุดยอดผักของไทยและเอเชียอาคเนย์”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [28 เม.ย. 2014].
นิตยสารเกษตรศาสตร์. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine/november46/. [28 เม.ย. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [28 เม.ย. 2014].
เดอะแดนดอทคอม. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [29 เม.ย. 2014].
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “แกงผักหวานป่าสำเร็จรูป”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [29 เม.ย. 2014].
วารสารการบรรจุภัณฑ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2549 หน้าที่ 40.
จำรัส เซ็นนิล. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [29 เม.ย. 2014].
กลุ่มงานวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผักหวานป่า”. (ณัฏฐากร เสมสันทัด, บัณฑิต โพธิ์น้อย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:forprod.forest.go.th/forprod/ebook/ผักหวาน/ผักหวาน.pdf. [28 เม.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai