ผักกวางตุ้ง
ผักกวางตุ้ง (False pakchoi) เป็นผักสีเขียวที่มักจะพบมากในเมนูอาหารจีน และเป็นผักที่คนไทยรู้จักและนิยมทานกัน แน่นอนว่าเป็นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่ยังไม่รู้สรรพคุณที่แท้จริง เป็นผักที่ค่อนข้างนิยมในหมู่ผู้สูงวัยหรือบ้านที่มีเชื้อสายจีน มีรสชาติอร่อยหอมเมื่อนำมาปรุงรสแต่ต้นสดจะมีความเหนียวและเคี้ยวยาก เป็นผักที่มีสารอาหารและแร่ธาตุมากมายชนิดหนึ่งและหาซื้อได้ง่าย สามารถซื้อผักสดมาทำอาหารได้ด้วยตัวเอง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักกวางตุ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica rapa L. (Brassica pekinensis var. laxa Tsen & S.H.Lee)
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 4 ชื่อ คือ “False pakchoi” “Mock pakchoi” “Flowering white cabbage” “Pakchoi”
ชื่อท้องถิ่น : คนทั่วไปเรียกกันว่า “ผักกาดเขียวกวางตุ้ง” ภาคใต้เรียกว่า “ผักกาดฮ่องเต้ ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ กวางตุ้งไต้หวัน ผักกาดสายซิม” ในภาษาไต้หวันเรียกว่า “ปากโชย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)
ลักษณะของผักกวางตุ้ง
ผักกวางตุ้ง เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สายพันธุ์สีขาวและสายพันธุ์สีเขียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน มีลักษณะทรงกลมรี ใบกว้างใหญ่และผิวใบบางเรียบ มีก้านใบหนาและยาวอวบน้ำ ก้านมีสีเขียวอ่อนหรือสีขาวตามแต่สายพันธุ์
ราก : เป็นระบบรากแก้วแทงลงในดิน มีลักษณะกลมสีน้ำตาล มีรากฝอยและรากแขนงเล็ก ๆ ออกตามแนวราบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ ก้านช่อดอกใหญ่ยาว มีแขนงก้านย่อยมาก ดอกมีลักษณะเล็ก กลีบดอกมีสีเหลืองสด
ผล : มีผลเป็นฝักทรงกลมเรียวยาว มีปลายจะงอยแหลม ฝักดิบมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาล เมื่อฝักแก่จัดผลจะแตกออก
เมล็ด : เมื่อฝักแก่จัดจะแตกออกและมีเมล็ดจำนวนมากเรียงอยู่ในฝัก ลักษณะทรงกลมขนาดเล็ก สีน้ำตาลเข้ม
การนำไปใช้ประโยชน์ของผักกวางตุ้ง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูอย่างต้มจับฉ่าย ผัดผักกวางตุ้ง บะหมี่หมูแดง เป็นต้น สามารถรับประทานได้ทั้งลำต้น ใบ และดอก
ประโยชน์ของผักกวางตุ้ง
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
- สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงสายตา เสริมสร้างฟันให้แข็งแรง
- สรรพคุณด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเสื่อม
- สรรพคุณด้านป้องกันโรค ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
- สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ
- สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก
- สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ บรรเทาอาการปวดตามข้อ แก้อาการเป็นตะคริว
- สรรพคุณด้านอื่น ๆ ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉง กระตุ้นฟีโรโมนทำให้กลิ่นตัวหอม ลดความอ้วน
คุณค่าทางโภชนาการของผักกวางตุ้งดิบ
คุณค่าทางโภชนาการของผักกวางตุ้งดิบต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 13 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 2.2 กรัม |
เส้นใย | 1.0 กรัม |
ไขมัน | 0.2 กรัม |
โปรตีน | 1.5 กรัม |
วิตามินเอ | 243 ไมโครกรัม (30%) |
วิตามินซี | 45 มิลลิกรัม (54%) |
ธาตุแคลเซียม | 105 มิลลิกรัม (11%) |
เหล็ก | 0.80 มิลลิกรัม (6%) |
แมกนีเซียม | 19 มิลลิกรัม (5%) |
โซเดียม | 65 มิลลิกรัม (4%) |
วิธีการถนอมคุณค่าทางโภชนาการ
- ก่อนนำไปปรุงให้ใส่ไว้ในถุงพลาสติกแล้วปิดให้แน่น โดยห้ามหั่นหรือล้างก่อนเด็ดขาด! แล้วนำไปแช่ไว้ในช่องเก็บผักในตู้เย็น
- ขั้นตอนการทำเมนูที่มีผักกวางตุ้ง ไม่ควรตั้งไฟนานจนเกินไป เพราะความร้อนจะไปทำลายวิตามินที่อยู่ในผักกวางตุ้งอย่างวิตามินซีและเบตาแคโรทีน
ข้อควรระวัง
1. ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อและนำมาล้างให้สะอาดด้วยการแช่น้ำส้มสายชู น้ำเกลือหรือล้างด้วยน้ำเปล่าอย่างน้อย 2 นาที เพราะเป็นผักที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการฉีดยาฆ่าแมลงมาก
2. ผักกาดกวางตุ้งเมื่อโดนความร้อนจะเกิดสารไทโอไซยาเนต (thiocyanate) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ความดันเลือดต่ำและร่างกายอ่อนเพลียหากรับประทานเข้าไปในปริมาณที่มากเกินควร ดังนั้นจึงควรเปิดฝาทิ้งไว้เพื่อให้สารไทโอไซยาเนตระเหยออกไปพร้อมไอน้ำ
ผักกวางตุ้ง เป็นผักที่มีวิตามินเอและวิตามินซีสูงมากรวมถึงแคลเซียมด้วย ซึ่งช่วยในเรื่องของกระดูก เป็นผักที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย แต่การที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากผักกวางตุ้งนั้นต้องมีการปรุงอย่างถูกวิธีเพื่อรักษาวิตามินที่อยู่ในผัก สรรพคุณที่โดดเด่นของผักกวางตุ้งเลยก็คือ ชะลอความเสื่อมของกระดูก กระตุ้นฟีโรโมนให้กลิ่นตัวหอม และลดความอ้วน เป็นผักที่มีกากใยสูงและไขมันน้อย มักจะพบผักกวางตุ้งอยู่ในเมนู “บะหมี่หมูแดง”
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม