อ้อยช้าง เปลือกต้นอุดมไปด้วยสรรพคุณ ทั้งต้นใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
อ้อยช้าง หรือกอกกั๋น ไม้ยืนต้นดอกสีเหลืองอ่อน ต้นมียางเหนียวใส เปลือกต้นมีรสขม แก่นมีรสหวาน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวฝาด ผลสุกจะมีสีม่วงอมแดง

อ้อยช้าง

อ้อยช้าง (Wodier tree) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “กอกกั๋น” เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีดอกสีเหลืองอ่อน ที่เปลือกต้นมียางเหนียวใสซึ่งอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยามากมาย ทว่าแก่นหรือเนื้อไม้และรากต้องมีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถนำมาใช้ทำยาได้ ส่วนเปลือกต้นจะต้องมีอายุประมาณ 8 ปีขึ้นไป ส่วนต่าง ๆ ของต้นนั้นมีรสที่แตกต่างกันโดยเปลือกต้นมีรสขม แก่นมีรสหวาน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวฝาด ซึ่งทุกส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ส่วนของใบ ดอกและเปลือกเป็นอาหารของช้างโดยช้างจะใช้งาแทงเปลือกแล้วลอกออกมากิน เปลือกต้นนำมาทุบทำเป็นผืนสำหรับปูบนหลังช้างได้อีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อต้น “อ้อยช้าง”

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของอ้อยช้าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Wodier tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “อ้อยช้าง” ภาคเหนือเรียกว่า “กุ๊ก กุ้ก” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “หวีด” จังหวัดตราดเรียกว่า “ช้าเกาะ ช้างโน้ม” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “กอกกั่น กอกกั๋น” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “ตะคร้ำ” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ซาเกะ” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “เส่งลู่ไค้” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปีเชียง” ชาวกะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกว่า “แม่หยูว้าย” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กอกกัน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
ชื่อพ้อง : Dialium coromandelicum Houtt.

ลักษณะของอ้อยช้าง

อ้อยช้าง เป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มักจะพบขึ้นในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายูและชวา ในประเทศไทยพบกระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง อาจพบตามป่าเขาหินปูนบ้าง
ลำต้น : ลำต้นเป็นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง
เปลือกต้น : เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด มีสีเทาอมเขียว เปลือกในเป็นสีชมพู มียางเหนียวใส เป็นไม้ที่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขามากนัก กิ่งก้านค่อนข้างเรียวเล็ก ส่วนที่ยังอ่อนหรือตามกิ่งอ่อนจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่จะมีช่องอากาศ
ต้น : ต้นจะสลัดใบทิ้งเมื่อออกดอก มีรอยแผลใหญ่ของใบที่หลุดใบ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่งเรียงเวียนสลับกัน ลักษณะคล้ายทรงกระบอก มีใบย่อยประมาณ 3 – 7 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ก้านใบย่อยจะค่อนข้างสั้น มักจะมีสันปีกแคบด้านใดด้านหนึ่ง ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลมจนถึงเรียวแหลม โคนใบกลม แหลมหรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักมน ใบย่อยที่ปลายจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ใบแก่ผิวจะเกลี้ยง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดแยกแขนงโดยจะออกที่ปลายกิ่งก่อนผลิใบ ช่อดอกห้อยลงมาจากกิ่งที่ไม่มีใบ กลีบดอกหอม ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือเขียวอมเหลือง ก้านช่อมีขนเล็ก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น กลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีขนปกคลุม ปลายกลีบมน ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวขึ้นประปราย กลีบดอกมีประมาณ 4 – 5 กลีบเรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายมน ไม่มีขนและพับงอกลีบ มีเกสรเพศผู้ประมาณ 8 – 10 อัน เกสรเพศผู้จะอยู่ล้อมรอบหมอนรองดอกรูปวงแหวนและมีร่องเว้าตรงกลาง ในดอกเพศเมีย รังไข่จะเกลี้ยงเป็นสีแดงสด มักจะออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์หรือในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปถั่ว รูปไตแบน รูปสี่เหลี่ยมคางหมูหรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมมุมฉากถึงรูปกลม ผลเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีม่วงแดง ผลแก่เป็นสีม่วงอมแดง ก้านผลสั้นหรือเกือบไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงติดทน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมหรือวงรี เมล็ดค่อนข้างแข็ง มีรอยเว้า 1 – 2 รอยที่ปลายบน

สรรพคุณของอ้อยช้าง

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร เป็นยาต้มรักษาธาตุพิการและอ่อนเพลีย รักษาอาการปวดฟัน แก้เสมหะเหนียว ช่วยแก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ เป็นยาแก้ปวดท้องหรือท้องร่วง เป็นยาใส่แผล ช่วยสมานแผลและเป็นยาห้ามเลือด แก้ผิวหนังพุพองหรือเน่าเปื่อย ช่วยรักษาโรคเกาต์ แก้ปวด แก้รอยฟกช้ำ แก้อาการแพลง
    – รักษาอาการตาเจ็บและอาการตาอักเสบรุนแรง ด้วยการนำน้ำที่ได้จากเปลือกสดมาใช้เป็นยาหยอดตา
    – แก้ฝี รักษาโรคผิวหนังและโรคเรื้อน ด้วยการนำเปลือกมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาหรือนำเปลือกมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาใช้ใส่แผลโรคผิวหนัง
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อาการปวดประสาท รักษาโรคเท้าช้าง รักษาอาการอักเสบ แก้อาการแพลงและรอยฟกช้ำ
    – แก้ไอเป็นเลือด โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำใบมาผสมกับใบไพล ใบหวดหม่อนแล้วนำมาบดให้เป็นผงกินกับน้ำเช้าเย็น
  • สรรพคุณจากแก่น ช่วยแก้เสมหะ ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ เกิดความชุ่มชื่นในอก
  • สรรพคุณจากยางที่ปูดจากลำต้น
    – แก้ไอเป็นเลือด ด้วยการนำยางที่ปูดจากลำต้นมาผสมกับยางที่ปูดจากลำต้นมะกอกมาฝนกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากรากและเปลือกต้น
    – แก้ท้องเสีย ด้วยการนำรากและเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของอ้อยช้าง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำมาทานเป็นผักร่วมกับพริกเกลือได้ รากเป็นกระเปาะใหญ่เก็บสะสมน้ำสามารถนำมาดื่มแก้อาการกระหายได้
2. เป็นอาหารช้าง ใบ ดอกและเปลือกเป็นอาหารช้างโดยจะใช้งาแทงเปลือกแล้วลอกออกมากิน
3. เป็นส่วนประกอบของยา แก่นใช้ปรุงรสยา รากใช้เข้ากับตำรับยาเพื่อชูรสในตำรับนั้น
4. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้ใช้เป็นแบบเทคอนกรีต ใช้ในงานแกะสลัก ใช้ทำพื้นกระดาน ฝา รอด เครื่องเรือน เปลือกต้นนำมาทุบทำเป็นผืนสำหรับปูบนหลังช้าง ใช้ทำเชือก ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า ย้อมหนัง ย้อมแห ฟอกหนังสัตว์ ใช้ในงานศิลปะ

ข้อควรระวังของอ้อยช้าง

สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นสดและผลสดเป็นพิษต่อปลา

อ้อยช้าง เป็นต้นที่มีรสหลากหลายและยังมีเปลือกเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยประโยชน์มากมายแต่ว่าก็ต้องดูอายุของไม้นั้นด้วย นอกจากนั้นยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอาหารและใช้ในอุตสาหกรรมได้ อ้อยช้างมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้อาการปวดประสาท รักษาโรคเท้าช้าง รักษาอาการอักเสบ แก้ไอเป็นเลือด ช่วยรักษาโรคเกาต์และแก้อาการปวดได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณได้หลากหลายและคู่ควรแก่การนำมาใช้เป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “อ้อยช้าง”. หน้า 840-841.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กุ๊ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [21 ก.ย. 2014].
ผู้จัดการออนไลน์. “โพธิญาณพฤกษา : อ้อยช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [21 ก.ย. 2014].
คมชัดลึกออนไลน์. “อ้อยช้าง เปลือกแก้ปวดท้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [21 ก.ย. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กุ๊ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [21 ก.ย. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กอกกัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [21 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/