ลูกหว้า
ลูกหว้า (Jambolan plum) เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไหร่ คนที่รู้จักส่วนมากมักจะเป็นคนที่อยู่กับสวนหรือคนที่สนใจเรื่องผลไม้ ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ชื่อที่แปลกจนไม่เคยได้ยิน เป็นผลไม้ที่ค่อนข้างมีรสฝาดแต่ต้นหว้านั้นสามารถนำมาทำเป็นยาได้ทั้งต้น ถือเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์อย่างมากต่อมนุษย์ มีการวิจัยได้บอกอีกด้วยว่าลูกหว้ามีสรรพคุณในการยับยั้งเซลล์มะเร็งอีกด้วย ซึ่งโรคมะเร็งถือเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก ดังนั้นการรับประทานลูกหว้าก็เป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันโรคมะเร็งที่มักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ต้นหว้ายังได้รับเลือกให้เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดเพชรบุรีด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของลูกหว้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium cumini (L.) Skeels
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 3 ชื่อ คือ “Jambolan plum” “Java plum” และ “Jambul”
ชื่อท้องถิ่น : ในประเทศไทยมีชื่อเรียกว่า “หว้า หว้าป่า หว้าขาว หว้าขี้นก” ในจังหวัดเชียงรายเรียกว่า “ห้าขี้แพะ” ส่วนชาวฮินดูจะเรียกกันว่า “จามานหรือจามูน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)
ชื่อพ้อง : Caryophyllus jambos Stokes, Eugenia cumini (L.) Druce
ลักษณะของต้นหว้า
ต้นหว้า เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียเขตร้อนจากอินเดียไปจนถึงมาเลเซีย ต้นหว้าชอบดินชื้นที่อุดมสมบูรณ์ มักจะขึ้นตามป่าดิบและป่าผลัดใบทั่วไป
เปลือกต้น : ค่อนข้างเรียบและมีสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบเดี่ยวลักษณะรูปไข่หรือรูปรี มีจุดน้ำมันที่บริเวณขอบใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด มีฐานรองดอกเป็นรูปกรวย
ผล : ผลสดลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปไข่ ฉ่ำน้ำ มีสีม่วงดำ ผิวเรียบมัน
เมล็ด : มีเมล็ดเพียง 1 เมล็ด และมีลักษณะเป็นรูปไข่
การนำไปใช้ประโยชน์ของลูกหว้า
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนของหว้าสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดได้ ผลสุกนิยมนำมารับประทานเป็นผลไม้และใช้ทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือไวน์ได้
2. เป็นส่วนประกอบในการทำเฟอร์นิเจอร์ เนื้อไม้ของต้นหว้าสามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนได้
ประโยชน์ของลูกหว้า
- ประโยชน์จากผล ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ช่วยชะลอความแก่และความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย บรรเทาอาการของวัณโรคและโรคปอดด้วยการนำผลหว้าไปตากแห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียดแล้วรับประทานเป็นประจำจะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
- ประโยชน์จากผลดิบ ช่วยแก้อาการท้องเสีย บำรุงกระดูกและฟัน
- ประโยชน์จากผลสุก แก้อาการท้องร่วงและอาการบิด
- ประโยชน์จากผลสด รักษาโรคหอบหืดที่เกิดจากการแพ้อากาศด้วยการนำผลหว้าสดมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเพื่อบรรเทาอาการ
- ประโยชน์จากใบ รักษาอาการบิด มูกเลือดและท้องเสีย ช่วยรักษาโรคเบาหวานด้วยการใช้ใบมาต้มหรือบดให้ละเอียดแล้วนำมารับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคเบาหวาน รักษาโรคผิวหนังด้วยการนำใบมาตำให้แหลกแล้วใช้ทา ช่วยล้างแผลเน่าเปื่อยด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำตาลแล้วนำน้ำที่ได้มาล้างแผล
- ประโยชน์จากเมล็ดหว้า รักษาอาการบิด มูกเลือดและท้องเสีย รักษาโรคเบาหวานด้วยการใช้เมล็ดหว้ามาต้มหรือบดให้ละเอียดแล้วนำมารับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคเบาหวานได้ รักษาโรคผิวหนังด้วยการนำเมล็ดมาตำให้แหลกแล้วใช้ทา ช่วยล้างแผลเน่าเปื่อยด้วยการนำเมล็ดหว้าต้มกับน้ำตาลแล้วนำน้ำที่ได้มาล้างแผล
- ประโยชน์จากเปลือก นำมาใช้ทำเป็นยาอม ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย แก้คอเปื่อย อาการเป็นเม็ดตามลิ้นและคอ แก้อาการน้ำลายเหนียวข้น แก้บิดด้วยการต้มน้ำแล้วดื่ม
- ประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหย ช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยย่อยอาหารด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการหลั่งน้ำดีและน้ำย่อยต่าง ๆ ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดการจับตัวของลิ่มเลือด มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ในช่องทางเดินอาหารซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสียบ่อย ๆ หรืออุจจาระเหลวเป็นน้ำ
คุณค่าทางโภชนาการของลูกหว้า
โภชนาการของลูกหว้าดิบต่อ 100 กรัมให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
คาร์โบไฮเดรต | 14 กรัม |
เส้นใย | 0.6 กรัม |
ไขมัน | 0.23 กรัม |
โปรตีน | 0.995 กรัม |
วิตามินบี1 | 0.019 มิลลิกรัม (2%) |
วิตามินบี2 | 0.009 มิลลิกรัม (1%) |
วิตามินบี3 | 0.245 มิลลิกรัม (2%) |
วิตามินบี6 | 0.038 มิลลิกรัม (3%) |
วิตามินซี | 11.85 มิลลิกรัม (14%) |
แคลเซียม | 11.65 มิลลิกรัม (1%) |
ธาตุเหล็ก | 1.41 มิลลิกรัม (11%) |
แมกนีเซียม | 35 มิลลิกรัม (10%) |
ฟอสฟอรัส | 15.6 มิลลิกรัม (2%) |
โพแทสเซียม | 55 มิลลิกรัม (1%) |
โซเดียม | 26.2 มิลลิกรัม (2%) |
ลูกหว้า เป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปและทำประโยชน์ได้ทั้งต้นไม่ว่าจะเป็นเปลือก ลำต้น ใบ เมล็ดหรือผลก็ตาม แต่ละส่วนก็จะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป ในประเทศไทยมักจะพบลูกหว้าในรูปของเครื่องดื่มมากที่สุด สรรพคุณที่โดดเด่นของลูกหว้าเลยก็คือต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง รักษาเบาหวานและช่วยย่อยอาหารในร่างกาย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม