ผักหนาม
ผักหนาม ภาษาอังกฤษ Lasia spinosa จัดเป็นพืชในวงศ์บอนที่มักจะขึ้นในที่ชื้นแฉะและมีน้ำขัง เป็นต้นที่มีหนามแหลมตามเส้นใบด้านล่างและตามก้านใบ ส่วนของยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกอ่อน รสชาติจะจืดจึงนำมาทำผักดอง ให้มีรสเปรี้ยวแล้วนำมาทานเป็นผัก เป็นต้นที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ของโคกระบือและไก่ ซึ่งจะทำให้สัตว์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เหมาะกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เป็นอย่างมากเพราะตัวไก่จะได้อ้วนและมีเนื้อหนัง นอกจากนั้นยังเป็นส่วนประกอบในตำรับยาสมุนไพรอีกด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lasia spinosa (L.) Thwaites
ชื่อท้องถิ่น : ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “กะลี” ชาวขมุและไทลื้อเรียกว่า “บอนหนาม” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ผะตู่โปล่ เฮาะตู่คุ” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อแกงเล่อ” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “บ่อนยิ้ม” ชาวลัวะเรียกว่า “บ่ะหนาม” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “หลั่นฉื่อโก จุยหลักเท้า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บอน (ARACEAE)
ลักษณะของผักหนาม
เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี พบได้ตามแหล่งธรรมชาติทั่วทุกภาคในประเทศไทย มักจะพบตามที่ชื้นแฉะมีน้ำขัง ตามริมน้ำ ริมคูคลอง หนอง บึง ตามร่องน้ำในสวน หรือบริเวณดินโคลนที่มีน้ำขัง
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะเป็นเหง้าแข็งอยู่ใต้ดินทอดเลื้อยขนานกับพื้นดิน ตั้งตรงและโค้งลงเล็กน้อย ชูยอดขึ้น ตามลำต้นมีหนามแหลม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัวลูกศรหรือรูปโล่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบและหยักเว้าลึกเป็น 9 พู รอยเว้ามักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ มีหนามแหลมตามเส้นใบด้านล่างและตามก้านใบ ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม ก้านใบมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวและแข็ง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลด ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแท่งยาวขนานเท่ากับใบ แทงออกมาจากกาบใบ ก้านช่อดอกมีหนาม มีดอกย่อยอัดกันแน่น เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ใบประดับเป็นกาบสีน้ำตาลแกมเขียวจนถึงสีม่วง กาบหุ้มม้วนบิดเป็นเกลียวตามความยาวของกาบ เป็นช่อดอกแบบแท่ง Spadix ช่อดอกเป็นสีน้ำตาล มีดอกเพศผู้จำนวนมากและอยู่ตอนบน ส่วนดอกเพศเมียจะมีจำนวนน้อยกว่าและอยู่ตอนล่าง มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ผลมีลักษณะเรียงชิดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก เป็นผลสด หนาและเหนียว ผลอ่อนเป็นสีเขียวและมีเนื้อนุ่ม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมแดง มักจะออกผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม
สรรพคุณของผักหนาม
- สรรพคุณจากทั้งต้น ตำรายาไทยใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ อินเดียใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้ปวดตามข้อและโรคแก้ผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้
– บำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย โดยชาวไทใหญ่นำทั้งต้นรวมกับไม้เปาและไม้จะลาย มาต้มอาบและดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากต้น น้ำคั้นจากต้นเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร
- สรรพคุณจากลำต้น เป็นยาแก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ เป็นยาแก้ไอ แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเหลืองหรือแดง แก้ผิวหนังเน่าเปื่อยเป็นหนอง เป็นยารักษาโรคผิวหนัง
– แก้อาการคันเนื่องจากพิษหัด แก้เหือด แก้ไข้ออกผื่น แก้สุกใส แก้ดำแดง ทำให้ผื่นหายเร็ว เป็นยาถอนพิษ ด้วยการนำลำต้นมาต้มเอาน้ำอาบ
– แก้ผิวหนังเน่าเปื่อยเรื้อรัง แก้เท้าเน่าเปื่อย แก้ศีรษะเน่าเปื่อยเป็นแผลเรื้อรัง ด้วยการนำลำต้นมาต้มเอาน้ำชะล้างหรือบดให้เป็นผงแล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการ - สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ
- สรรพคุณจากเหง้า เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ
– แก้คันเนื่องจากพิษหัด แก้เหือด แก้สุกใส แก้ดำแดง รักษาโรคผิวหนัง ด้วยการนำเหง้ามาต้มกับน้ำอาบ
– เป็นยาถ่ายพยาธิ ด้วยการนำเหง้ามาฝนกับน้ำกิน - สรรพคุณจากราก เป็นยาขับเสมหะ
– แก้เจ็บคอ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา หรือนำรากต้มกับน้ำให้เด็กแรกเกิดอาบ - สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับเสมหะ เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้ไอ
ผักหนาม ประโยชน์
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกอ่อนมีรสจืดจึงนำมาดองจะมีรสเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ โดยนำมาลวกหรือต้มกับกะทิ หรือใช้ทำผักดองแกล้มแกงไตปลาและขนมจีน ทานร่วมกับน้ำพริก นำไปผัด ปรุงเป็นแกง ก้านใบอ่อนใช้ต้มกินกับน้ำพริก ชาวอินเดียนำผลมาปรุงเป็นอาหาร ลำต้นนำมาสับเป็นชิ้นเล็กใช้ผสมในข้าวสารแล้วนำไปหุง
2. ใช้ในด้านการเกษตร ก้านและใบใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโคกระบือด้วยการนำมาตำกับเกลือให้โคกระบือกิน ทำให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ เพราะมีฮอร์โมนบางชนิดในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ไก่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วย
คุณค่าทางโภชนาการของผักหนาม
คุณค่าทางโภชนาการใน 100 กรัม ให้พลังงาน 18 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
โปรตีน | 2.1 กรัม |
ไขมัน | 0.2 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 2.0 กรัม |
ใยอาหาร | 0.8 กรัม |
เถ้า | 0.8 กรัม |
วิตามินเอ | 6,383 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.92 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.04 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.91 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 23 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 14 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 0.9 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 11 มิลลิกรัม |
ข้อควรระวัง
ก่อนนำมารับประทานจะต้องนำไปทำให้สุกหรือดองเปรี้ยวเพื่อกำจัดพิษไซยาไนด์เสียก่อน เพราะส่วนของใบ ก้านใบ และต้นมีสารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ (Cyanogenic. Glycosides) ซึ่งเป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนของเลือด เมื่อได้รับพิษหรือรับประทานดิบจะทำให้อาเจียน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก มึนงง ไม่รู้ตัว ชักก่อนจะหมดสติ มีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว ถ้าได้รับมากจะทำให้โคม่าภายใน 10 – 15 นาที และเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อได้รับพิษจะต้องทำให้อาเจียนออกมาก่อน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง
ผักหนาม เป็นต้นที่มีสรรพคุณและมีพิษอยู่ในตัว ก่อนที่จะนำมาใช้ไม่ว่าจะรูปแบบใดควรนำมาต้มให้สุกก่อน เป็นต้นที่นิยมนำมาดองเปรี้ยวในการทานร่วมกับอาหารชนิดอื่น นอกจากนั้นยังเป็นอาหารที่ดีต่อโคกระบือและไก่อีกด้วย มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของลำต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงกำลัง แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอและแก้โรคผิวหนังได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [29 ก.ย. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [29 ก.ย. 2015].
คมชัดลึกออนไลน์. “ใช้ผักหนามเลี้ยงไก่”. (พีรเดช ทองอำไพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [29 ก.ย. 2015].
ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm. [29 ก.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ผักหนาม” อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [29 ก.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ สำหรับประชาชน, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th/ProjectSite/webpage/detail-project.htm. [29 ก.ย. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [29 ก.ย. 2015].
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “เดินป่า ศึกษาสมุนไพร แก่งยาว ๕๘ – ๒ (๕. ผักหนาม)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [29 ก.ย. 2015].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 17 คอลัมน์ : อื่น ๆ. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “หนาดใหญ่และผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [29 ก.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/