ลองกอง
ผลไม้เนื้อฉ่ำแหล่งวิตามินบี ผลออกเป็นช่อแน่นติดกันกับก้านช่อ เปลือกหนา เนื้อภายในผลมีรสที่หวานหอม

ลองกอง

ลองกอง (Longkong) มีถิ่นกำเนิดในทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหมู่เกาะชวา เกาะมลายู ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย ในจังหวัดนราธิวาส และยังมีในประเทศทางแถบซูรินัม เปอร์โตริโก ออสเตรเลีย และฮาวายอีกด้วย โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สามารถผลิตลองกองที่มีคุณภาพได้ดีที่สุด เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมในการปลูกที่เหมาะสม แต่พื้นที่ในการทำการปลูกลองกองได้นั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้มีผลผลิตที่น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลทำให้ผลไม้ชนิดนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูง และจัดได้ว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอีกชนิดหนึ่งอีกด้วย โดยแหล่งการเพาะปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือและภาคกลางก็มีปลูกอยู่บ้างเล็กน้อย[1] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Lansium domesticum Corr. จัดเป็นพืชที่อยู่ในชนิดเดียวกันกับลางสาดและลูกู หรือ ดูกู (Duku) โดยจัดอยู่ในวงศ์ MELIACEAE เช่นเดียวกับกระท้อน กัดลิ้น ตะบูนขาว ตะบูนดำ และสะเดา ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลังสาดเขา (นครศรีธรรมราช) ส่วนชื่อนั้นมาจากชื่อพื้นเมืองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี[1],[2]

สายพันธุ์ลองกอง

สายพันธุ์ในประเทศไทยจะมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง โดยสายพันธุ์ลองกองมีอยู่ด้วยกัน 7 สายพันธุ์ ได้แก่ ลองกองทั่วไป, ลองกองแกแลแมร์ (ลองกองแปรแมร์), ลองกองคันธุลี, ลองกองธารโต, ลองกองไม้, ลองกองเปลือกบาง, และลองกองกาญจนดิษฐ์ ซึ่งในแต่ละสายพันธุ์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ลองกองแห้ง (เนื้อใสแห้ง รสหวาน มีกลิ่นหอม เปลือกเหลืองคล้ำและไม่มียาง), ลองกองน้ำ (เนื้อฉ่ำน้ำ สีเปลือกเหลืองสว่าง), และลองกองกะละแม (แกแลแม, ปาลาเม, แปรแมร์) (เนื้อนิ่ม กลิ่นไม่หอม เปลือกบางและมียางเล็กน้อย) ซึ่งเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในการปลูกในทางการค้ามากที่สุด เพราะเป็นชนิดที่มีผลคุณภาพดี เนื้อมีรสที่หวานหอม มีเมล็ดน้อยหรือแทบไม่มีเลย แถมเมล็ดยังไม่ขมอีกด้วย ดังนั้นสายพันธุ์ของลองกองนั้นจึงควรมีเพียงแค่สายพันธุ์เดียวเท่านั้น เพราะเป็นประโยชน์ในการค้า จึงไม่จำเป็นต้องแยกชนิดพันธุ์ เพราะคุณภาพนั้นเป็นที่ยอมรับของทางตลาดอยู่แล้ว[1]

ลักษณะของลองกอง

  • ต้น ลำต้นนั้นไม่กลมมากนัก มักจะมีสันนูนและรอยเว้าอยู่บ้าง ผิวเปลือกค่อนข้างหยาบ แตกกิ่งแขนงภายในเป็นทรงพุ่มไม่กลมตรง มีแอ่งเว้าไปตามรอยของง่ามกิ่งและตามลำต้นให้เห็นเป็นระยะ ลักษณะเป็นรอยสูงต่ำ เป็นคลื่น ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ปลูกด้วย ถ้าหากปลูกภายใต้ร่มเงาทึบหรือมีไม้อื่นมาก ลำต้นก็จะสูงชะลูดและผิวเปลือกจะค่อนข้างเรียบ แต่ถ้านำไปปลูกในพื้นที่ที่มีร่มเงาน้อย ลำต้นมักจะแผ่เป็นพุ่มกว้าง ๆ และมีผิวเปลือกที่หยาบ การขยายพันธุ์สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีทั้งวิธีการเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การต่อกิ่ง หรือการเสียบยอดและเสียบข้าง และวิธีการติดตา[1]
  • ราก ระบบของรากจะแตกต่างกันออกไป โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดสายพันธุ์นั้น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วรากแขนงจะมีขนาดใหญ่และหยาบ จะเจริญแผ่ไปทางแนวราบของผิวหน้าดิน เมื่อต้นมีอายุมาก ๆ จะสามารถมองเห็นรากส่วนนี้แยกจากโคนต้นที่ติดดินได้อย่างชัดเจน และต่อจากรากแขนงจะเป็นรากฝอย ซึ่งจะทำหน้าที่ในการดูดซับน้ำและอาหาร เจริญแผ่ไปตามหน้าดินตื้น ๆ[1]
  • ใบ เป็นใบรวมมี 5-9 ใบย่อย ใบกว้างประมาณ 2-6 นิ้วและยาวประมาณ 4-8 นิ้ว และมีก้านใบย่อย ใบแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม ดำเป็นมัน และมีรอยหยักเป็นคลื่นที่หนากว่าใบของลางสาด ผิวใบด้านบนจะเข้มกว่าผิวใบด้านล่าง ลักษณะของใบเป็นแบบ elliptical โดยที่ปลายใบจะเรียวแหลม ส่วนโคนใบก็แหลมเช่นกัน ขอบใบเรียบ ลักษณะเส้นใบเป็นแบบแยกออกจากเส้นกลางใบเหมือนกับร่างแห โดยเส้นใบด้านใต้ท้องใบจะมีความเรียวเล็กนูน คมชัดกว่าใบของดูกูน้ำ[1]
  • ดอก ตาดอกมีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง มีสีน้ำตาลอมเขียว มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.5 เซนติเมตร โดยส่วนนี้จะเจริญไปเป็นช่อดอกยาวเรียกว่า Spike ซึ่งอาจพบเป็นช่อดอกแบบเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 2-10 ช่อดอก โดยจะแตกออกมาตามลำต้นและกิ่งที่สมบูรณ์แล้ว ดอกเมื่อบานจะมีสีเหลืองนวล มีกลีบเลี้ยงที่มีลักษณะอวบเป็นสีเขียว และจะติดอยู่จนกระทั่งผลแก่ ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นท่อสั้น ๆ อยู่ 10 ก้าน ฐานจะหลอมรวมกัน ส่วนการบานของดอกโดยทั่วไปแล้วนั้นจะเริ่มจากบริเวณ 2 ใน 3 ของช่อดอกจากปลายช่อ บานลงมาถึงโคนช่อ จากนั้นก็จะเริ่มบานขึ้นไปถึงปลายช่อ[1]
  • ผล ออกเป็นช่อแน่นติดกันกับก้านช่อ ลักษณะผลมีทั้งทรงกลมและทรงยาวรี ซึ่งการที่มีผลในช่อแน่นนั้นอาจทำให้รูปทรงของผลแตกต่างกันออกไป ส่วนลักษณะเปลือกจะหนากว่าลางสาดอยู่มาก เนื้อภายในผลมีรสที่หวานหอม[1]
  • เมล็ด ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-2 เมล็ด โดยเมล็ดที่สมบูรณ์จะมีขนาดที่ใหญ่ ภายในผลส่วนใหญ่แล้วนั้นจะมีช่องอยู่ 5 ช่อง และเมล็ดมักจะลีบ ลักษณะเมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีเขียวอมเหลือง ส่วนตัวเมล็ดจะมีรอยแตกร้าวเป็นส่วนมาก และรสชาติของเมล็ดจะไม่ขม ถ้าหากนำมาเพาะจะขึ้นหลายต้นจากเมล็ดเดียว[1]

ความแตกต่างระหว่างลองกอง ลางสาด และดูกู

เนื่องจากผลไม้ทั้งสามชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน และมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก แต่มีราคาที่ไม่เท่ากัน โดยลองกองนั้นจะมีราคาแพงที่สุด ลองมาด้วยลางสาด และดูกู (ดูกูเป็นผลไม้ที่ไม่ค่อยมีราคาเท่าไหร่นัก แต่ก็มักจะนิยมนำเมล็ดไปเพาะเป็นต้นตอเพื่อใช้ขยายพันธุ์ลองกองและลางสาดมากกว่า)

1. ลองกอง ลักษณะผลกลม เปลือกหนา ผิวหยาบเล็กน้อย เนื้อมีกลิ่นหอม รสหวาน ภายในผลมีเมล็ดลีบหรือไม่มีเมล็ดเลย และเมล็ดมีรสที่ไม่ขม[1]
2. ลางสาด ลักษณะผลกลมรี เปลือกบาง ผิวละเอียด ผลอ่อนและนุ่ม มียางมากเป็นสีเขียวขุ่น ๆ เนื้อมีรสชาติที่หวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ในผลมีเมล็ดมากและเมล็ดมีรสขมจัด[1]
3. ดูกู หรือ ลูกู ลักษณะผลกลมรี เปลือกบาง ผิวละเอียด ผลอ่อนนุ่ม เนื้อมีรสหวาน ในผลมีเมล็ดแต่เมล็ดมีรสไม่ขม[1]

การเลือกซื้อลองกอง

1. ลองกองที่มีคุณภาพดีนั้น ต้องสังเกตจากผลภายในช่อ ผลในช่อต้องแน่นแบบได้สัดส่วน ผลไม่บิดเบี้ยว และช่อยาว[1]
2. ลักษณะของเปลือกต้องเป็นสีเหลืองปนสีขาวนวล ประด้วยจุดสีน้ำตาลหรือสีดำ เปลือกหนา มียางน้อยไม่เหนียวติดมือ มีสีที่เข้มเห็นเด่นชัด ผลผิวเรียบสม่ำเสมอ และเปลือกต้องไม่มีสีเขียวให้เห็น จึงจะเรียกได้ว่าสุกเต็มที่แล้ว[1]
3. สามารถแกะเปลือกได้ง่าย ไม่มีรอยช้ำหรือรอยตำหนิ เนื้อข้างในแน่นสดสะอาดคล้ายกับแก้ว ไม่เละหรือมียาง ในผลมีเมล็ดขนาดเล็กหรือไม่มีเลย ส่วนรสชาติมีรสที่หอมหวาน[1]

สรรพคุณลองกอง

1. เมล็ด มีสารสำคัญที่ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (เมล็ด)[1]
2. เนื้อช่วยลดความร้อนในร่างกาย หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ตัวร้อนได้ และแถมยังช่วยลดอาการร้อนในช่องปากได้ด้วย[1]
3. เมล็ดนำมาใช้รักษาอาการไข้ได้ (เมล็ด)[1]
4. ได้มีการนำเปลือกต้นมาสกัดเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย (เปลือกต้น)[1]
5. ใบ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรียได้ถึง 50% (ใบ)[1] เมล็ดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรียและยับยั้งการเจริญของปรสิตมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) ได้ถึง 50% (เมล็ด)[1]
6. เปลือกผลถ้านำไปตากแห้งแล้วเผาให้เกิดควัน ใช้สูดดมเพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคได้ [3]
7. น้ำจากผลได้มีการนำไปใช้หยอดตาเพื่อช่วยรักษาอาการตาอักเสบอีกด้วย [3]
8. เปลือกต้น สามารถนำมาใช้เป็นยาต้มกินเพื่อช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ได้[1],[2]
9. นำไปใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะ (กิ่ง)[3]
11. ใช้ในการรักษาอาการท้องเสียและอาการลำไส้เกร็ง (เมล็ด)[1]
12. เปลือกต้นและใบนำมาใช้เป็นยาต้มสำหรับรักษาโรคบิด (เปลือกต้น, ใบ)[3]
13. ในเปลือกมีสารประเภท Oleoresin จำนวนมาก จึงมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคท้องร่วง และอาการปวดท้อง (เปลือกผล)[1]
14. เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ[1],[2]
15. สารสกัดจากเปลือกต้นนั้นสามารถช่วยแก้พิษแมงป่องได้[1]
16. เปลือกต้นนำมาใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)[1] ส่วนเมล็ดนั้นก็มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน (เมล็ด)[1]

ประโยชน์ลองกอง

1. โดยทั่วไปนั้น มักจะนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด ให้รสชาติที่หวานอร่อย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย[1],[3]
2. เปลือกผลแห้งแล้ว นำมาเผาเพื่อให้ได้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหย จะมีประโยชน์ในการใช้ไล่ยุงได้[1],[3]
3. สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ทำเป็นน้ำเชื่อม ลูกอม แยม กวน เครื่องดื่ม ไวน์ ผสมวุ้นมะพร้าวในน้ำเชื่อม เป็นต้น[1],[2]
4. เปลือกผลและเมล็ดมีส่วนประกอบของสารที่มีความสำคัญทางการแพทย์และทางด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากมีสาร Tannin อยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง[3]
5. มีการนำส่วนผลมาสกัดด้วยเอทานอลและละลายสารสกัด 2-5% ในโพรไพลีนไกลคอล (Propylene glycol) เพื่อนำไปใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายสำหรับทำเป็นเครื่องสำอางสำหรับผิวหนังที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยลดรอยด่างดำ ซึ่งจากผลการทดสอบในอาสาสมัครหญิงจำนวน 30 คน ก็ได้พบว่าสารสกัดสามารถเพิ่มความชื้นกับผิวหนังและช่วยลดรอยด่างดำได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเลยทีเดียว[1]

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อ100 กรัม ให้พลังงาน 66 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 15.3 กรัม
โปรตีน 0.9 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
เส้นใยอาหาร 0.3 กรัม
น้ำ 80%
วิตามินเอ 15 หน่วยสากล
วิตามินบี 1 0.08 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 1.7 มิลลิกรัม
วิตามินซี 24 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 5 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.7 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : เอกสารคำสอนวิชาไม้ผลเมืองร้อน ระดับปริญญาตรี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล. (สุรชัย มัจฉาชีพ).[1]

สั่งซื้ออาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลลองกอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.longkong.ist.cmu.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. “ลองกอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.uru.ac.th. [16 พ.ย. 2013].
3. กรมวิชาการเกษตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/thaifruit/journal.php. [16 พ.ย. 2013].