บ๊วย
ผลไม้เมืองหนาว ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพู ผลสดกลมเป็นสีเขียวรสขมอมเปรี้ยวกลิ่นหอม ผลสุกเนื้อนิ่ม

บ๊วย

บ๊วย Chinese plum, Japanese apricot, Ume เป็นผลไม้เมืองหนาว มีต้นกำเนิดในประเทศจีน และเวลาต่อมาในภายหลังก็ได้แพร่กระจายไปหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ไทย ลาว พม่า เวียดนาม ไต้หวัน ฯลฯ สำหรับในประเทศไทยนั้น จะมีการเพาะปลูกกันมาอย่างยาวนานแล้ว โดยได้รับการแพร่เข้ามาในทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Prunus mume Siebold & Zucc. จัดอยู่ในวงศ์ ROSACEAE ในตระกูลพรุน เช่นเดียวกับพลัม ลูกท้อ เชอร์รี่ อัลมอนด์ และนางพญาเสือโคร่ง

พันธุ์ต้นที่นิยมมาเพาะปลูก

1. พันธุ์เชียงราย หรือ พันธุ์แม่สาย ถูกจัดให้เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของไทย โดยมีการปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป แต่ก็มีข้อเสียนั่นก็คือ ตัวผลมีขนาดที่เล็กไม่ตรงกับความต้องการของโรงงานแปรรูป[1],[2]
2. พันธุ์ปิงติง สายพันธุ์นี้จัดเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากไต้หวัน เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป[1],[2]
3. พันธุ์เจียนโถ พันธุ์นี้ก็เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากไต้หวันเช่นเดียวกัน และเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป[1],[2]
4. พันธุ์บารมี 1 หรือ พันธุ์ขุนวาง 1 ในส่วนสายพันธุ์นี้นั้นจะเป็นสายพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกมาจากศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ มีจุดเด่นก็คือ ผลที่มีขนาดใหญ่และเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป[1],[2]
5. พันธุ์บารมี 2 หรือ พันธุ์ขุนวาง 2 ในสายพันธุ์นี้จะเป็นพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกมาจากศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่เช่นกัน นอกจากจะให้ผลที่มีขนาดใหญ่แล้ว ยังให้ผลผลิตที่สูงอีกด้วย และเหมาะสำหรับนำมาปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป[1],[2]

ลักษณะของบ๊วย

  • ต้น จัดเป็นไม้ผลยืนต้นที่สามารถเพาะปลูกได้ง่าย มีโรคและแมลงรบกวนน้อย และให้ผลผลิตที่สูงตามอายุและขนาดของลำต้น โดยต้องการอุณหภูมิในการปลูกอย่างต่ำประมาณ 7.2 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น สามารถที่จะเจริญเติบโตได้ในดินทุกประเภท และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบกิ่งหรือวิธีการปักชำ[1],[2]
  • ใบ เป็นใบขนาดเล็ก มีสีเขียวอมเทา ขอบใบเป็นหยักคล้ายกับฟันเลื่อย[4]
  • ดอก มีกลิ่นที่หอม ดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพู[4]
  • ผล มีลักษณะกลมเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่เต็มที่แล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ทั่วไปนั้นจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร เนื้อมีรสชาติขมอมเปรี้ยวและมีกลิ่นหอม ผลสุกเนื้อจะนิ่ม ภายในผลมีเมล็ดแข็ง ที่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันเมื่อผลแก่แล้ว จะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ส่วนในประเทศไทยจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน[1],[4]

โอวบ๊วย หรือ บ๊วยดำ ในภาษาจีนกลางจะเรียกว่า “อูเหมย” ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Smoked plum โดยการนำส่วนของผลที่ใกล้สุกมาทำเป็นยา หรือในชื่อของเครื่องยา Fructus Mume[8] (สถาบันการแพทย์แผนไทยและจีน)

สรรพคุณบ๊วยดำ

1. รสที่เปรี้ยว ฝาด และสุขุม มีฤทธิ์ในการช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด ช่วยระงับอาการไอ แก้ไอแห้ง อาการไอเรื้อรัง[8]
2. มีฤทธิ์ในการช่วยเสริมธาตุน้ำ ช่วยแก้ร้อนแบบพร่อง แก้อาการร้อนใน และช่วยแก้กระหายน้ำ[8]
3. ใช้ช่วยลดอาการไข้[9]
4. ใช้ช่วยสมานลำไส้ ช่วยระงับอาการท้องร่วง แก้อาการท้องร่วงเรื้อรังและมีเลือดปน บิดเรื้อรัง[8]
5. มีฤทธิ์ในการช่วยป้องกันโรคติดต่อในลำไส้ได้[9]
6. มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิ และแก้พยาธิ[8]
7. ใช้ช่วยห้ามเลือดได้ดี[8]
8. มีกรดมาลิก กรดซิตริก กรดซักซินิก ไฟโตสเตอรอล และในเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ มีฤทธิ์ที่สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้หลากหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อบิด เชื้อวัณโรค เชื้ออหิวาตกโรค เชื้อไทฟอยด์หรือไข้รากสาดใหญ่[9]

ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ประมาณ 6-12 กรัม นำมาต้มน้ำดื่ม[8]

ข้อควรระวัง : ควรระมัดระวังในการใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้และอาการร้อนแกว่ง[8]

สรรพคุณของบ๊วย

1. ช่วยเพิ่มกำลัง และบรรเทาอาการอ่อนเพลีย เพราะเนื่องจากการที่คนเรารู้สึกมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ก็เนื่องจากมีกรดในเลือดที่สูง ร่างกายจึงไม่สามารถปรับสมดุลความเป็นด่างได้ทัน มีความเป็นด่างที่ค่า pH 7.35 ซึ่งใกล้เคียงกับเลือดของมนุษย์ ดังนั้นจึงช่วยถ่วงดุลความด่างได้[1],[3],[5]
2. ช่วยลดความกระหายน้ำ ช่วยลดการสูญเสียเหงื่อในร่างกายได้[1],[4]
3. ช่วยป้องกันการเป็นลมแดด สำหรับผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายในที่กลางแจ้ง โดยเฉพาะแบบเค็มจะมีโซเดียมอยู่มาก จึงช่วยในการเติมเต็มเกลือแร่ให้กับร่างกาย โดยควรกินพร้อมกับการดื่มน้ำแบบค่อย ๆ จิบก็จะช่วยได้อย่างมาก[5]
4. ใช้ช่วยลดมลพิษและอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกาย และช่วยลดกรดในกระเพาะ[1],[4]
5. ใช้ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ โรคฟัน และแก้ปัญหาเรื่องการเกิดกลิ่นปาก[4]
6. มีฤทธิ์ในการช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน[1]
7. มีส่วนช่วยปรับสมดุลในกระเพาะอาหารให้มีความแข็งแรงมากขึ้น[4]
8. ช่วยในการเสริมสร้างระบบการย่อยอาหาร แก้อาหารไม่ย่อย หรือถ้าหากมีอาการท้องร่วง จุกเสียดแน่นท้อง [4]
9. ใช้ช่วยรักษาอาการท้องร่วงเรื้อรังได้[6]
10. มีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้[1]
11. ใช้ช่วยขับพยาธิบางชนิดในลำไส้ได้[1],[6]
12. ช่วยในระบบขับถ่ายน้ำในร่างกาย เพราะการรับประทานอาหารที่มีรสจัด เค็มจัด หรือเผ็ดจัด จะทำให้การขับถ่ายน้ำไม่ค่อยดี และอาจทำให้เกิดโรคในระบบการขับถ่ายน้ำตามมา เช่น โรคถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคบวมน้ำ และโรคไต เป็นต้น [5]
13. น้ำใช้ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ [6]
14. มีส่วนช่วยแก้อาการแพ้ท้องของสตรีมีครรภ์ [4]
15. ผลแช่น้ำเกลือ ถ้านำมาคั้นเอาแต่น้ำสามารถนำมาใช้ดื่มรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรีได้[7]

ประโยชน์ของบ๊วย

1. เป็นผลไม้ที่ใช้รับประทานสดไม่ได้ แต่ก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น แบบเค็ม ดอง หรือบ๊วยเจี่ย แช่อิ่ม อบแห้ง ทำแยม น้ำ ยาอม ฯลฯ หรือจะนำไปใช้ทำเป็นอาหาร เช่น ปลานึ่ง น้ำจิ้ม และซอส เป็นต้น[2],[4]
2. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน เมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบินได้ หากเดินทางไกลอยู่บ่อย ๆ การพกติดตัวไว้จะช่วยได้มาก[4]
3. มีฤทธิ์ในการช่วยแก้อาการเมาค้างอันเนื่องมาจากการดื่มเหล้าดื่มสุรา[4]
4. ช่วยแก้อาการง่วงนอน ช่วยทำให้ผ่อนคลายจากอาการง่วงนอนได้เป็นอย่างดี[5]

ข้อควรระวังในการรับประทานบ๊วย

1. สำหรับผู้ที่มีปัญหาเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรที่จะหลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่มีความเค็ม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “แบบเค็ม” เพราะความเค็มเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคชนิดนี้และอาจส่งผลทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้[5]
2. แบบหวานมีการตรวจพบว่ามีสารซัคคาริน (ขัณฑสกร) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานในอาหารแห้ง โดยตรวจพบที่ด่านแม่สายมากถึง 80% ซึ่งการได้รับสารชนิดนี้ในปริมาณมาก ๆ จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ มีอาการระคายเคืองในช่องปาก และเป็นโรคกระเพาะอาหารได้[5]
3. สำหรับในคนทั่วไปแล้วนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ การรับประทานแบบเค็มในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลทำให้ร่างกายมีปริมาณของโซเดียมจากเกลือสูงกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ เป็นร้อนใน เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้ไตและหัวใจทำงานหนักขึ้น จึงแนะนำว่าควรเลือกรับประทานอาหารที่มีรสเค็มปานกลาง และลดปริมาณของอาหารที่มีโซเดียมสูง[5]

วิธีทำน้ำบ๊วย

1. อย่างแรกให้เตรียมวัตถุดิบดังนี้ ได้แก่ บ๊วยดองน้ำเกลือ 10 เม็ด, น้ำตาลทราย ½-1 ถ้วยตวง, เกลือป่น 1-2 ช้อนชา, น้ำสะอาด 6 ถ้วย[7]
2. เมื่อเตรียมส่วนผสมเสร็จแล้ว ให้นำมายีเอาแต่เนื้อ จากนั้นใส่น้ำลงในหม้อและใส่น้ำตาล ตั้งไฟพอให้เดือด ใส่น้ำตาลลงไปเมื่อละลายแล้วต้มสักครู่จนน้ำมีสีเหลืองอ่อน ๆ[7]
3. ต่อมาให้ใส่เกลือแล้วคนให้ทั่ว จากนั้นชิมรสให้มีรสเปรี้ยว หวาน และเค็มเล็กน้อย เสร็จแล้วปิดฝาทิ้งไว้รอจนเย็น แล้วนำมาเทใส่ขวดและแช่ตู้เย็น เป็นอันเสร็จเรียบร้อย[7]
4. หากจะนำมาดื่ม ให้ตักน้ำแข็งใส่แก้ว แล้วเทน้ำใส่แก้ว สามารถนำมาดื่มได้ทันที[7]

สั่งซื้ออาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “บ๊ ว ย”. (บุษบา แซ่ลี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [7 พ.ย. 2013].
2. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/cmroyal. [7 พ.ย. 2013].
3. KU eMagazine นิตยสารออนไลน์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “สารพัดวิธีผ่อนคลาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazin. [7 พ.ย. 2013].
4. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/บ๊ ว ย (ROSACEAE). [7 พ.ย. 2013].
5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [7 พ.ย. 2013].
6. GotoKnow. “ประโยชน์จากน้ำผลไม้ที่คุณอาจไม่เคยรู้”. (ORAWAN). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [7 พ.ย. 2013].
7. มูลนิธิสุขภาพไทย. “น้ำ บ๊ ว ย”. อ้างอิงใน: สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข : น้ำสมุนไพร 108. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [7 พ.ย. 2013].
8. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “โ อ ว บ๊ ว ย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [7 พ.ย. 2013].
9. ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. “บ๊ ว ย ดำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: cul.hcu.ac.th. [7 พ.ย. 2013].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://commons.wikimedia.org/wiki/