ผักหวานป่า
ผักหวานป่า (Melientha suavis Pierre) เป็นพืชในวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีผักหรือผลไม้ชนิดใดอยู่ในวงศ์นี้ เป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นผักที่มีรสชาติหวานอร่อย แต่หารับประทานได้ค่อนข้างยากเพราะผักชนิดนี้จะให้ผลผลิตในบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น ส่วนมากมักจะมีการเข้าไปเก็บในป่า แต่ว่าปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้หันมาปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรีที่มีการเพาะปลูกมากเป็นพิเศษ และที่สำคัญเป็นผักยอดนิยมที่มีการนำมาแปรรูปและรับประทานกันอยู่เป็นประจำ
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melientha suavis Pierre
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดสุรินทร์เรียกว่า “ผักวาน” ประเทศลาวเรียกว่า “Hvaan” ประเทศกัมพูชาเรียกว่า “Daam prec” ประเทศเวียดนามเรียกว่า “Rau” ประเทศมาเลเซียเรียกว่า “Tangal” ประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า “Malatado”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ OPILIACEAE
ผักหวานป่ามีกี่ชนิด
ผักหวานป่า มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มักจะพบตามป่าเบญจพรรณในที่ราบหรือเชิงเขา ซึ่งปกติจะชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนดินทราย เป็นผักที่แบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยอดเหลืองและพันธุ์ยอดเขียว ซึ่งวิธีปลูกให้โตเร็ว แตกต่างกันตามเทคนิคของแต่ละพื้นที่
เปลือกต้น : เปลือกต้นเรียบ กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้มีความแข็ง
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปวงรียาว ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบเรียว ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีเขียวเข้ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อยาว โดยจะออกตามกิ่งหรือตามซอกใบ ใบประดับเป็นรูปไข่ปลายแหลม เป็นดอกแบบแยกเพศแต่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้จะมีกลีบสีเขียวอ่อน และเกสรสีเหลือง ดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีเขียวเข้ม และก้านดอกสั้นกว่าดอกเพศผู้ มักจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นผลเดี่ยวอยู่บนช่อยาวที่เป็นช่อดอกเดิม ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีแดง
สรรพคุณของผักหวานป่า
- สรรพคุณจากผักหวาน ช่วยแก้อาการของธาตุ ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากรังสีแสงแดด ช่วยทำให้ผิวหนังไม่เหี่ยวย่นหรือแก่ก่อนวัย ป้องกันโรคปากเปื่อยหรือโรคปากนกกระจอก ช่วยในการขับถ่าย เป็นยาระบายอ่อน ๆ
- สรรพคุณจากใบและราก แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้อาการปวดท้อง รักษาแผล ช่วยแก้อาการปวดในข้อ
- สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย แก้เชื่อมมัว (โรคที่ทำให้ใบหน้าหมองซึม นัยน์ตาปรือ ไม่กระปรี้กระเปร่า)
– แก้พิษร้อนใน ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาเย็น
– แก้อาการปวดมดลูกของสตรี แก้น้ำดีพิการ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา - สรรพคุณจากยอด เป็นยาเขียวลดไข้ ลดความร้อน ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ระบายความร้อน
- สรรพคุณจากยาง
– แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว ด้วยการนำยางมาใช้กวาดคอเด็ก - สรรพคุณจากแก่น
– แก้อาการปวดตามข้อหรือปานดง ด้วยการนำแก่นมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา - สรรพคุณจากต้น
– ช่วยเพิ่มน้ำนมแม่หลังการคลอดบุตร ด้วยการนำต้นผสมกับต้นนมสาวมาปรุงเป็นยา
ประโยชน์ของผักหวาน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อนมารับประทานเป็นผัก ด้วยการลวกให้สุกแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ ใช้เป็นเครื่องเคียง หรืออาจนำไปผัดน้ำมัน หรือนำมาใช้ประกอบอาหารในเมนูแกงได้ เมล็ดมีรสหวานมัน ผลสุกนำมาต้มให้สุกและรับประทานแต่เนื้อข้างในได้
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารของนกและสัตว์ต่าง ๆ
3. เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป นำมาพัฒนาเป็นชาสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนั้นยังนำมาแปรรูปเป็นน้ำผักหวาน ไวน์ คุกกี้ ขนมถ้วย ข้าวเกรียบ และทองม้วน เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบสดผักหวาน
คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบสดผักหวาน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 300 กิโลจูล
สารอาหาร | ปริมาณที่ได้รับ |
น้ำ | 76.6 กรัม |
โปรตีน | 8.2 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 10 กรัม |
ใยอาหาร | 3.4 กรัม |
เถ้า | 1.8 กรัม |
แคโรทีน | 1.6 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 115 มิลลิกรัม |
คุณค่าทางโภชนาการของผักหวานป่า
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 39 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณที่ได้รับ |
น้ำ | 87.1% |
โปรตีน | 0.1 กรัม |
ไขมัน | 0.6 กรัม |
ใยอาหาร | 2.1 กรัม |
เถ้า | 1.8 กรัม |
วิตามินเอ | 8,500 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.12 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 1.65 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 3.6 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 168 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 24 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 68 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 1.3 มิลลิกรัม |
ข้อควรระวังในการรับประทานผักหวานป่า
1. ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินควร เพราะอาจทำให้เกิดอาการเบื่อเมา อาเจียน และเป็นไข้
2. ควรนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน
3. ควรระมัดระวังในการเก็บผักป่า เนื่องจากมีพรรณไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับผักหวาน เช่น ต้นเสน ต้นขี้หนอน ถ้าหากรับประทานผักเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการผิดสำแดงได้ ทำให้มีอาการคลื่นเหียนอาเจียน คอแห้ง อ่อนเพลีย มึนงง และหมดสติ หากร่างกายอ่อนแอก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ผักหวานป่า ราคา ค่อนข้างแพงในตลาด เนื่องจากเป็นผักที่หาได้ยากและมักจะออกตามฤดูกาล ที่สำคัญมีรสชาติหวานทำให้นำมาปรุงในเมนูอาหารได้หลากหลาย เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างน่าทึ่ง ผักหวานมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ต้านอนุมูลอิสระ แก้ไข้ บำรุงสายตา และเป็นยาระบาย เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุในการป้องกันโรคภัยอันตรายได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 243 คอลัมน์: พืช-ผัก-ผลไม้. “ผักหวานป่า : สุดยอดผักของไทยและเอเชียอาคเนย์”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [28 เม.ย. 2014].
นิตยสารเกษตรศาสตร์. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine/november46/. [28 เม.ย. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [28 เม.ย. 2014].
เดอะแดนดอทคอม. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [29 เม.ย. 2014].
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “แกงผักหวานป่าสำเร็จรูป”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [29 เม.ย. 2014].
วารสารการบรรจุภัณฑ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2549 หน้าที่ 40.
จำรัส เซ็นนิล. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [29 เม.ย. 2014].
กลุ่มงานวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผักหวานป่า”. (ณัฏฐากร เสมสันทัด, บัณฑิต โพธิ์น้อย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:forprod.forest.go.th/forprod/ebook/ผักหวาน/ผักหวาน.pdf. [28 เม.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai