กระโดน
กระโดน (Patana oak) หรือกระโดนบก เป็นไม้ต้นในวงศ์จิกที่มีผลรสจืดเย็น เมล็ดและใบมีรสฝาดทำให้มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้ นิยมนำใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนมาทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แต่ว่าไม่ควรทานในปริมาณที่มากจนเกินไปเนื่องจากใบและยอดอ่อนมีกรดออกซาลิกค่อนข้างสูง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดนิ่วในไตได้ นอกจากนั้นยังนำกระโดนมาใช้ในอุตสาหกรรมและปลูกตามสวนสาธารณะทั่วไปอีกด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระโดน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Careya arborea Roxb.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Tummy – wood” “Patana oak”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ต้นจิก” ภาคเหนือเรียกว่า “ปุยขาว ผักฮาด ผ้าฮาด” ภาคเหนือและภาคใต้เรียกว่า “กระโดนโคก กระโดนบก ปุย” ภาคใต้เรียกว่า “ปุยกระโดน” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “หูกวาง” ชาวกะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกว่า “ขุย” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “แซงจิแหน่ เส่เจ๊ออะบะ” ชาวละว้าเชียงใหม่เรียกว่า “พุย” คนเมืองเรียกว่า “เก๊าปุย” ชาวขมุเรียกว่า “ละหมุด” ชาวเขมรเรียกว่า “กะนอน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กระโดนโป้”
ชื่อวงศ์ : วงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)
ชื่อพ้อง : Careya sphaerica Roxb.
ลักษณะของกระโดน
กระโดน เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มักจะพบตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าหญ้าและป่าแดง
ต้น : มีลักษณะของเรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกต้นหนาเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลดำ และแตกล่อนเป็นแผ่น ต้นมีกิ่งก้านสาขามาก เนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มจนถึงสีน้ำตาลแกมแดง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเป็นหยักเล็กน้อยตลอดทั้งขอบใบ ผิวใบเกลี้ยง เนื้อใบหนาและค่อนข้างนิ่ม มีเส้นแขนงใบอยู่ข้างละ 8 – 15 เส้น เส้นใบย่อยเป็นแบบร่างแห สามารถเห็นได้ชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบอวบ ในหน้าแล้งใบแก่จะมีส่วนของท้องใบเป็นสีแดง และจะทิ้งใบเมื่อออกใบอ่อน ยอดอ่อนของใบเป็นสีน้ำตาลแดง ก่อนที่ใบร่วงโรยจะเป็นสีแดง
ดอก : ดอกมีขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะตามปลายกิ่งที่ไม่มีใบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 2 – 6 ดอก ลักษณะของดอกคล้ายเป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ขอบกลีบและปลายกลีบเป็นสีเขียวอ่อน โคนกลีบเป็นสีชมพูเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ดอกร่วงได้ง่าย โดยดอกจะบานในเวลากลางคืน และมักจะร่วงในช่วงเช้า มีเกสรเพศผู้สีขาวจำนวนมาก ก้านเกสรยาวเรียงตัวกันแน่นเป็นพู่ โคนก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นวงสีแดงอ่อน ๆ เกสรเพศเมียมีรังไข่ใต้วงกลีบ ลักษณะเป็นรูปกระสวย มี 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลจำนวนมาก มักจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน
ผล : ผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ อวบน้ำ มีเนื้อสีเขียว และค่อนข้างแข็ง ผิวผลเรียบ เปลือกหนา ที่ปลายผลจะมีกลีบเลี้ยงที่ติดทนอยู่ มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มักจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากและมีเยื่อหุ้ม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่และแบน
สรรพคุณของกระโดน
- สรรพคุณจากดอก ช่วยบำรุงร่างกาย เป็นยาบำรุงกำลัง
– บำรุงร่างกายหลังการคลอดบุตรของสตรี ช่วยแก้อาการหวัด ช่วยแก้อาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ ด้วยการนำดอกมาผสมกับน้ำผึ้งเป็นยา - สรรพคุณจากผล ช่วยบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี ช่วยในการย่อยอาหาร
- สรรพคุณจากน้ำจากเปลือกสด
– บำรุงร่างกายหลังการคลอดบุตรของสตรี ช่วยแก้อาการหวัด ช่วยแก้อาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ ด้วยการนำน้ำจากเปลือกสดมาผสมกับน้ำผึ้งเป็นยา - สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร เป็นยาสมานแผลภายใน ช่วยแก้อาการอักเสบจากการถูกงูไม่มีพิษกัด ช่วยแก้น้ำกัดเท้า ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้เคล็ดเมื่อย แก้เคล็ดขัดยอก
– แก้อาการปวดท้อง แก้ท้องเสีย ด้วยการนำเปลือกต้นมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากแก่น
– บำรุงสำหรับสตรีที่อยู่ไฟ ด้วยการนำแก่นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากต้น
– แก้แผลมีพิษและปิดหัวฝี ด้วยการนำต้นมาผสมกับเถายาน่องและดินประสิว แล้วเคี่ยวให้งวดและตากให้แห้ง ใช้สำหรับปิดแผล - สรรพคุณจากใบ
– รักษาแผลสด ด้วยการนำใบมานึ่งให้สุกแล้วใช้ปิดแผล
– เป็นยาสมานแผล ด้วยการนำใบมาปรุงกับน้ำมัน - สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ
ประโยชน์ของกระโดน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แจ่ว ลาบ ก้อย ส้มตำ ตำมะม่วง หรือผักประกอบเมี่ยงมดแดง ชาวขมุนำใบอ่อนมาต้มใช้ห่อเกลือกินแบบเมี่ยงได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เปลือกต้นใช้ต้มทำสีย้อมผ้า โดยจะให้สีน้ำตาลแดง หรือจะต้มรวมกับฝ้ายใช้ย้อมผ้าจะให้สีเหลืองอ่อน เส้นใยจากเปลือกต้นนำมาใช้ทำเชือกและทำกระดาษสีน้ำตาลได้ เปลือกต้นนำมาทุบใช้ทำเป็นเบาะปูรองนั่งหลังช้างหรือใช้รองของไว้บนหลังช้าง คนอีสานนิยมลอกออกมาทุบให้นิ่มใช้ทำเป็นที่นอน เนื้อไม้ใช้สำหรับงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ และทำเป็นหมอนรองรางรถไฟได้ดี
3. ใช้เป็นเชื้อเพลิง เปลือกต้นนำมาใช้ทำคบไฟ หรือนำมาจุดไฟใช้ควันไล่แมลง ไร ริ้น หรือยุงได้
4. เป็นยาเบื่อ เมล็ด ราก และใบมีพิษ จึงใช้เป็นยาเบื่อปลาได้
5. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกตามสวนสาธารณะ แต่ไม่ควรนำมาปลูกใกล้ลานจอดรถเนื่องจากมีผลขนาดใหญ่
6. เป็นส่วนประกอบของยา อยู่ในตำรับยาแก้โรคริดสีดวงทวาร ของบ้านเชียงเหียน ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
คุณค่าทางโภชนาการของดอกอ่อนและยอดอ่อนกระโดน
คุณค่าทางโภชนาการของดอกอ่อนและยอดอ่อนกระโดน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 83 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
เส้นใยอาหาร | 1.9 กรัม |
วิตามินเอ | 3,958 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.10 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.88 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 1.8 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 126 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 13 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส | 18 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 1.7 มิลลิกรัม |
ข้อควรระวังของกระโดน
1. ใบและยอดอ่อนมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ค่อนข้างสูง ไม่ควรทานในปริมาณที่มากเกินควร เพราะอาจเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้
2. เมล็ด ราก และใบมีพิษ
กระโดน เป็นต้นที่มีพิษ ส่วนของใบและยอดอ่อนที่ชาวบ้านนิยมนำมารับประทานนั้นมีกรดออกซาลิกสูง จึงไม่ควรทานผักชนิดนี้ในปริมาณที่มากจนเกินไป ทว่ากระโดนก็เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยามากมาย และยังเป็นส่วนประกอบของตำรับยาแก้โรคริดสีดวงทวารอีกด้วย กระโดนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้นและดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกาย แก้หวัด แก้โรคกระเพาะอาหารและเป็นยาสมานแผลได้ดี เราสามารถพบต้นกระโดนได้ตามที่สาธารณะทั่วไปในประเทศไทย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กระโดน (Kradon)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 24.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “กระโดน”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 84.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระโดน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [31 ม.ค. 2014].
ไม้ป่ายืนต้นของไทย ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กระโดน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [31 ม.ค. 2014].
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. “กระโดน”. (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กระโดน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [31 ม.ค. 2014].
มูลนิธิสุขภาพไทย. “กระโดนโคก เป็นยาและอาหาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [31 ม.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “กระโดนบก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [31 ม.ค. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กระโดน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [31 ม.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/