โสน ไม้ประดิษฐ์ของคนโบราณ ดอกมากสรรพคุณ ช่วยบำรุงกระดูกและสมอง
โสน มีดอกสีเหลืองช่อกระจุก รสหวานเล็กน้อย อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุมากมาย ฝักอ่อนกลมยาวขนาดเล็กสีเขียว

โสน

โสน (Sesbania) เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีดอกสีเหลืองสวยอร่ามอยู่บนต้น ดอกมีรสหวานเล็กน้อยจึงนิยมนำมาทำอาหารคาว ชุบแป้งทอด หรือทำเป็นขนมหวานก็ได้เช่นกัน แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุมากมาย ในปัจจุบันเรามักจะพบโสนในรูปแบบของชา ซึ่งจะนำใบและดอกโสนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพใช้ดื่ม นอกจากนั้นส่วนต่าง ๆ ของต้นยังใช้ภายนอกในการรักษาและใช้ภายในเป็นยาสมุนไพรได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโสน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sesbania javanica Miq.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sesbania” “Sesbanea pea” “Sesbania flowers”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “โสนกินดอก โสนหิน โสนดอกเหลือง” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักฮองแฮง” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “สี่ปรีหลา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของต้นโสน

โสน เป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุ 1 ปี ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียจากอินเดียไปทางตะวันออกจนถึงประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มักจะพบตามพื้นที่ที่มีน้ำขัง แถบลุ่มน้ำ ริมทาง ริมหนองน้ำ คลองบึง หรือลำประดง
ลำต้น : เปลือกลำต้นเรียบ เป็นเหลี่ยมหรือมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น เนื้อไม้อ่อนและกลวง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกันบนลำต้น แต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 10 – 30 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดหรือช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ ซอกกิ่ง และปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ บางครั้งกลีบด้านนอกมีจุดเป็นกระสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดงกระจาย กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว มักจะออกดอกมากในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวขนาดเล็ก ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล พอฝักแก่จะแตกออกเองตามขวางของฝัก
เมล็ด : ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ดเรียงอยู่ เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นมันเงาสีน้ำตาล เมื่อออกดอกและติดเมล็ด ต้นจะค่อย ๆ เหี่ยวแห้งและตาย

สรรพคุณของโสน

  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ เป็นยาสมานลำไส้ แก้อาการปวดมวนท้อง เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยระงับการอักเสบ ช่วยบำรุงกระดูกและสมอง ช่วยบำรุงโลหิต
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • สรรพคุณจากต้น
    – เป็นยาขับปัสสาวะ โดยแพทย์แผนโบราณนำต้นมาเผาให้เกรียม แล้วนำมาแช่น้ำให้เป็นด่าง ใช้ดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – เป็นยาพอกแผล ด้วยการนำใบมาตำเป็นยาพอก
    – แก้ปวดฝี ช่วยถอนพิษ ด้วยการนำใบมาตำผสมกับดินประสิวและดินสอพอง ใช้เป็นยาพอก

ประโยชน์ของต้นโสน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำดอกมาทานเป็นผักหรือนำมาใช้ประกอบทำอาหารคาว เช่น ดอกโสนผัดน้ำมันหอย ดอกโสนผัดไข่ ดอกโสนลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิ ดอกโสนชุบแป้งทอดกรอบ แกงส้มดอกโสนกับปลาช่อน ดอกโสนแกงใส่ไข่มดแดง เป็นต้น นอกจากนั้นยังนำมาประกอบอาหารหวานได้ เช่น ข้าวเหนียวมูนดอกโสน ขนมดอกโสน ขนมขี้หนู ขนมบัวลอย เป็นต้น สามารถนำดอกมาแต่งสีอาหารโดยจะให้สีเหลือง
2. เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรม เนื้อไม้ของต้นนำมาใช้ทำเป็นของเล่นเด็กมาตั้งแต่โบราณ เยื่อไม้ที่มีลักษณะเบาและเหนียวนำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ ซึ่งถือเป็นการประดิษฐ์ที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต ในปัจจุบันชาวอยุธยายังใช้เนื้อไม้จากต้นโสนมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลายรูปแบบ
3. เป็นเชื้อเพลิง ไม้โสนนำมาใช้เป็นทุ่นหรือเชื้อติดไฟได้ดี
4. เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 2 ชนิด คือ ชาดอกโสน และชาจากยอดใบโสน เป็นชาที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ

คุณค่าทางโภชนาการของดอกโสน

คุณค่าทางโภชนาการของดอกโสน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 38 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
ไขมัน  0.5 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 5.9 กรัม
โปรตีน 2.5 กรัม
ใยอาหาร 2.2 กรัม
ความชื้น 87.7 กรัม
วิตามินเอ 3,338 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.13 มิลลิกรัม 
วิตามินบี2 0.26 มิลลิกรัม
วิตามินซี 51 มิลลิกรัม
แคลเซียม 62 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 2.1 มิลลิกรัม 
ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม

โสน เป็นต้นที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหาร เป็นส่วนประกอบในการประดิษฐ์ดอกไม้ และเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบของชา ส่วนของดอกมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะสำหรับนำมาทานในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โสนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้ปวดมวนท้อง ช่วยระงับการอักเสบ ช่วยบำรุงกระดูกและสมอง และช่วยบำรุงเลือดได้ คู่ควรอย่างมากในการนำมาทานเพราะดอกมีรสหวานเล็กน้อย นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้วยังมีรสชาติดีอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “โสนกินดอก (Sano Kin Dok)”. หน้า 311.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 369 คอลัมน์ : บทความพิเศษ. (รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ). “ดอกโสนบ้านนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [05 ต.ค. 2014].
สถาบันการแพทย์แผนไทย. “โสน : ผักพื้นบ้าน อาหารแบบไทย ๆ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ittm-old.dtam.moph.go.th. [05 ต.ค. 2014].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “โสน”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2547 [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [05 ต.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai