โสน
โสน (Sesbania) เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีดอกสีเหลืองสวยอร่ามอยู่บนต้น ดอกมีรสหวานเล็กน้อยจึงนิยมนำมาทำอาหารคาว ชุบแป้งทอด หรือทำเป็นขนมหวานก็ได้เช่นกัน แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุมากมาย ในปัจจุบันเรามักจะพบโสนในรูปแบบของชา ซึ่งจะนำใบและดอกโสนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพใช้ดื่ม นอกจากนั้นส่วนต่าง ๆ ของต้นยังใช้ภายนอกในการรักษาและใช้ภายในเป็นยาสมุนไพรได้เช่นกัน
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโสน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sesbania javanica Miq.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sesbania” “Sesbanea pea” “Sesbania flowers”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “โสนกินดอก โสนหิน โสนดอกเหลือง” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักฮองแฮง” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “สี่ปรีหลา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ลักษณะของต้นโสน
โสน เป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุ 1 ปี ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียจากอินเดียไปทางตะวันออกจนถึงประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มักจะพบตามพื้นที่ที่มีน้ำขัง แถบลุ่มน้ำ ริมทาง ริมหนองน้ำ คลองบึง หรือลำประดง
ลำต้น : เปลือกลำต้นเรียบ เป็นเหลี่ยมหรือมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น เนื้อไม้อ่อนและกลวง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกันบนลำต้น แต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 10 – 30 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดหรือช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ ซอกกิ่ง และปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ บางครั้งกลีบด้านนอกมีจุดเป็นกระสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดงกระจาย กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว มักจะออกดอกมากในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวขนาดเล็ก ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล พอฝักแก่จะแตกออกเองตามขวางของฝัก
เมล็ด : ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ดเรียงอยู่ เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นมันเงาสีน้ำตาล เมื่อออกดอกและติดเมล็ด ต้นจะค่อย ๆ เหี่ยวแห้งและตาย
สรรพคุณของโสน
- สรรพคุณจากดอก เป็นยาแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ เป็นยาสมานลำไส้ แก้อาการปวดมวนท้อง เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยระงับการอักเสบ ช่วยบำรุงกระดูกและสมอง ช่วยบำรุงโลหิต
- สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ
- สรรพคุณจากต้น
– เป็นยาขับปัสสาวะ โดยแพทย์แผนโบราณนำต้นมาเผาให้เกรียม แล้วนำมาแช่น้ำให้เป็นด่าง ใช้ดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากใบ
– เป็นยาพอกแผล ด้วยการนำใบมาตำเป็นยาพอก
– แก้ปวดฝี ช่วยถอนพิษ ด้วยการนำใบมาตำผสมกับดินประสิวและดินสอพอง ใช้เป็นยาพอก
ประโยชน์ของต้นโสน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำดอกมาทานเป็นผักหรือนำมาใช้ประกอบทำอาหารคาว เช่น ดอกโสนผัดน้ำมันหอย ดอกโสนผัดไข่ ดอกโสนลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิ ดอกโสนชุบแป้งทอดกรอบ แกงส้มดอกโสนกับปลาช่อน ดอกโสนแกงใส่ไข่มดแดง เป็นต้น นอกจากนั้นยังนำมาประกอบอาหารหวานได้ เช่น ข้าวเหนียวมูนดอกโสน ขนมดอกโสน ขนมขี้หนู ขนมบัวลอย เป็นต้น สามารถนำดอกมาแต่งสีอาหารโดยจะให้สีเหลือง
2. เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรม เนื้อไม้ของต้นนำมาใช้ทำเป็นของเล่นเด็กมาตั้งแต่โบราณ เยื่อไม้ที่มีลักษณะเบาและเหนียวนำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ ซึ่งถือเป็นการประดิษฐ์ที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต ในปัจจุบันชาวอยุธยายังใช้เนื้อไม้จากต้นโสนมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลายรูปแบบ
3. เป็นเชื้อเพลิง ไม้โสนนำมาใช้เป็นทุ่นหรือเชื้อติดไฟได้ดี
4. เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 2 ชนิด คือ ชาดอกโสน และชาจากยอดใบโสน เป็นชาที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
คุณค่าทางโภชนาการของดอกโสน
คุณค่าทางโภชนาการของดอกโสน ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 38 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
ไขมัน | 0.5 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 5.9 กรัม |
โปรตีน | 2.5 กรัม |
ใยอาหาร | 2.2 กรัม |
ความชื้น | 87.7 กรัม |
วิตามินเอ | 3,338 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.13 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.26 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 51 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 62 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 2.1 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 62 มิลลิกรัม |
โสน เป็นต้นที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหาร เป็นส่วนประกอบในการประดิษฐ์ดอกไม้ และเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบของชา ส่วนของดอกมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะสำหรับนำมาทานในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โสนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้ปวดมวนท้อง ช่วยระงับการอักเสบ ช่วยบำรุงกระดูกและสมอง และช่วยบำรุงเลือดได้ คู่ควรอย่างมากในการนำมาทานเพราะดอกมีรสหวานเล็กน้อย นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้วยังมีรสชาติดีอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “โสนกินดอก (Sano Kin Dok)”. หน้า 311.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 369 คอลัมน์ : บทความพิเศษ. (รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ). “ดอกโสนบ้านนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [05 ต.ค. 2014].
สถาบันการแพทย์แผนไทย. “โสน : ผักพื้นบ้าน อาหารแบบไทย ๆ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ittm-old.dtam.moph.go.th. [05 ต.ค. 2014].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “โสน”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2547 [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [05 ต.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai